รีเซต

“หมอธีระวัฒน์” ไขปริศนา “โควิด-19” นักเลียนแบบตัวยง ต้องรักษาแบบองค์รวม เผยจุฬาฯ เปิดตรวจภูมิต้านไวรัสแล้ว

“หมอธีระวัฒน์” ไขปริศนา “โควิด-19” นักเลียนแบบตัวยง ต้องรักษาแบบองค์รวม เผยจุฬาฯ เปิดตรวจภูมิต้านไวรัสแล้ว
มติชน
14 พฤษภาคม 2563 ( 21:41 )
178
1
“หมอธีระวัฒน์” ไขปริศนา “โควิด-19” นักเลียนแบบตัวยง ต้องรักษาแบบองค์รวม เผยจุฬาฯ เปิดตรวจภูมิต้านไวรัสแล้ว

“หมอธีระวัฒน์” ไขปริศนา “โควิด-19” นักเลียนแบบตัวยง ต้องรักษาแบบองค์รวม เผยจุฬาฯ เปิดตรวจภูมิต้านไวรัสแล้ว

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า การรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ต้องรักษาแบบองค์รวม เนื่องจากเชื้อโควิด-19 เป็นนักเลียนแบบตัวยง และแสดงอาการในหลายระบบของร่างกาย พร้อมตัวอย่างการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย 2 ราย

ทั้งนี้ข้อความระบุว่า

“โควิด 19 นักเลียนแบบต้วยง

ศ นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
14/5/63
# สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

เราเริ่มทราบกันมากขึ้นเรื่อยๆว่า ไวรัสตัวนี้ไม่ได้แสดงอาการทางไข้ เพลียและอาการทางระบบหายใจเท่านั้น
แต่มีอาการที่ระบบอื่นได้ด้วย โดยแสดงอาการก่อนเพื่อน ก่อนที่จะมีอาการไอ ทางปอด ด้วยซำ้ หรือแม้ไม่มีอาการทางปอดเลยก็ตาม
อาการในระบบอื่นที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการติดเชื้อ เช่น สมองอักเสบ ซึม และพบไวรัสในน้ำไขสันหลัง และอาจรวมถึงเส้นประสาทเส้นที่หนึ่ง ในการรับกลิ่นและเส้นประสาทที่ควบคุมการรับรส

และที่สำคัญยังมีผลเนื่องจากที่มี “มรสุมภูมิวิกฤติ cytokine storm” ที่ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกายและส่งผลทำให้เกิดเลือดข้น กระทบเส้นเลือดดำและแดงขนาดฝอย เล็ก กลาง ตัน

รวมทั้งเกิดลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดที่ต่างๆ เช่นลิ่มเลือดดำจากขา ไปอุดที่ปอด และแม้แต่ทำให้โรคประจำตัวที่มีอยู่แล้วกำเริบมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นมีการเต้นหัวใจผิดจังหวะ atrial fibrillation อยู่แล้ว (ซึ่งต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด) กลับทำให้มีการตกตะกอนของลิ่มเลือดในช่องหัวใจมากขึ้นและหลุดไปอุดเส้นเลือดแดงในตำแหน่งต่างๆ และยังทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงลำไส้ เกิดลำไส้ขาดเลือด bowel necrosis ตามรายงานในวารสาร radiology

https://pubs.rsna.org/doi/10.1148/radiol.2020201908

ในส่วนนอกจากมรสุมภูมิวิกฤต ซึ่งถือเป็น hyperinflammatory syndrome ร่วมกับ thromboembolism และเป็น ความหมกมุ่นกับ innate immunity

ไวรัสยังเหนี่ยวนำให้มีความผันผวนทางด้านระบบภูมิคุ้มกันในระยะต่อมา (adaptive immunity) เช่นภูมิไปจดจำสมองและเส้นประสาทเป็นตัวไวรัสและไปทำลายแทน
การเกิดภาวะผิดปกติในระบบนี้แสดงว่าจะต้องมีการติดเชื้อมา ระยะหนึ่งแล้ว และเป็นสาเหตุที่ว่า ผู้ป่วยเหล่านี้อาจไม่พบเชื้อจากการตรวจด้วยการแยงจมูก พีซีอาร์ ในทุกคน และต้องใช้การวินิจฉัยจากหลักฐานอื่นของการติดเชื้อโดยการตรวจแอนติบอดี

ผู้ป่วยที่ดูเมื่อเช้านี้ 14/5/63 มีอาการของแขนขาอ่อนแรงและชาทั่วตัวซึ่งเป็นลักษณะของเส้นประสาทอักเสบ guillain barre syndrome และเป็นที่จับตามองของหมอทางสมองและระบบประสาท โดยที่พบว่าปรากฏการณ์นี้กลับสูงขึ้นกว่าปกติและเชื่อมโยงกับการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งมีการแสดงอาการแบบที่ต่างจากมาตรฐาน คือ เคลื่อนไหวลูกตาไม่ได้ มีอาการเดินเซ (miller fisher syndrome )และ เส้นประสาทสมองหลายเส้นผิดปกติ ใบหน้า การกลอกตา การรับรส กลิ่น
polyneuritis cranialis

ดังนั้นผู้ป่วยรายนี้จึงต้องทำการตรวจทั้งการแยงจมูก เพื่อหาเชื้อโดยตรงและในการตรวจหลักฐานของการติดเชื้อโดยการตรวจเลือดหาแอนติบอดี

ผู้ป่วยรายที่สองสูงอายุ. ไม่มีประวัติเจ็บป่วยมาก่อน. มาด้วยลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นเลือดแดงที่ขา และได้รับการลากลิ่มเลือดออกได้ผลสำเร็จดีแต่เกิดมีอาการทางสมองในระยะต่อมาด้วยอาการซึมและสับสนและการเคลื่อนไหวลูกตาผิดปกติ ซึ่งน่าจะเป็นลักษณะของเลือดที่ไหลเวียนไปเลี้ยงที่การสมองและใจกลางสมองผิดปกติ ทั้งนี้อาจจะเป็นลิ่มเลือดที่มาจากหัวใจทั้งหมดแต่อาการสมองดีขึ้นทั้งนี้เนื่องจากได้ยาละลายลิ่มเลือดอยู่แล้วด้วย

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยรายนี้ไม่ควรที่จะเกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากกลไกในการทำให้เลือดข้นดังกล่าวอาจจะร่วมกับการที่พบว่าการตรวจภาวะเลือดแข็งตัวนั้นผิดปกติ โดยมี aPTT ยาวขึ้น (ทั้งๆที่มีเลือดข้น) โดยที่อาจมีส่วนเกี่ยวพันกับการที่มี lupus anticoagulant

และนอกจากนั้นผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการที่ส่อให้เห็นถึงภาวะ hyperinflammatory syndrome อื่นๆ ไม่มีอาการของ น้ำรั่วจากเส้นเลือดทำให้บวมความดันผิดปกติควบคุมไม่ได้หรือมีอาการช็อกต่างๆ

สรุปว่าการดูคนไข้ในยุคโควิด-19 นั้น คงต้องดูองค์รวม จากประวัติตรวจร่างกายความเป็นไปได้ของการสัมผัสและการที่ได้รับเชื้อจากคนในครอบครัวเองและความเป็นไปได้ของอาการที่เกิดขึ้นในระยะต่างๆของการติดเชื้อซึ่งจะมีลักษณะหลากหลายกันออกไปแต่ประเด็นสำคัญก็คือถ้าหลุดรอดการวินิจฉัยไปจะมีการแพร่เชื้อในหอผู้ป่วยหรือในไอซียู

การตรวจทั้งการแยงจมูก และการตรวจเลือดหาแอนติบอดีอาจจะเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อปิดรูรั่วให้หมดทั้งระยะเริ่มต้นของการติดเชื้อที่มีการปล่อยเชื้อออกมาได้และในระยะหลังของการติดเชื้อเพื่อที่จะได้ติดตามผู้สัมผัสกับผู้ป่วยย้อนหลังไปอีกอย่างน้อย 14 วัน

ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้เพื่อเป็นการช่วยแบ่งปันประสบการณ์กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย

โดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายใดทั้งสิ้น ที่จะรุกล้ำ ข้อมูลส่วนตัวของคนป่วย และหมอขอกราบขอบพระคุณในที่นี้ ต่อผู้ป่วย และพวกเราที่ช่วยดูแลผู้ป่วยทั้งหมดครับ”

นอกจากนี้ วันเดียวกัน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ โพสต์ในเฟซบุ๊กระบุอีกว่าขณะนี้ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพฯ ได้เปิดบริการการหาภูมิตอบสนองต่อการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งบอกว่ามีภูมิที่ดีสามารถยับยั้งไวรัสได้ด้วยหรือไม่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง