PJW เทิร์นอะราวด์193% คุมต้นทุนผลิตหนุนมาร์จิ้น

ทันหุ้น - สู้โควิด – PJW อวดผลงานไตรมาส 3/63 พลิกกำไรแรง 193.15% อยู่ที่ 16.05 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 17.23 ล้านบาท หลังคุมต้นทุนการผลิตหนุนมาร์จิ้นพุ่งขึ้น 17.4% จากปีก่อนที่ 13.1%ส่วนของบรรจุภัณฑ์นม ยอดขายจีนเริ่มกลับตั้งแต่ไตรมาส 2/63
นางพริม ชัยวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับงวด 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 อยู่ที่ 16.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 193.15% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 17.23 ล้านบาท
ขณะที่รายได้รวมลดลง 60.06 ล้านบาท คิดเป็น 8.31% เป็นรายได้จากการขายลดลง 35.08 ล้านบาท จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับบน้ำมันหล่อลื่น
ยอดขายจีนกลับมา
อย่างไรก็ดีในส่วนของบรรจุภัณฑ์นมและนมเปรี้ยวได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย และยังคงเติบโตจากตลาดส่งออกของนม ในขณะที่ยอดขายเมืองจีนเริ่มกลับมาตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 นอกจากนี้บริษัทรับรู้รายได้จากงานโครงการลดลง 28.56ล้านบาท เนื่องจากงานส่วนใหญ่แล้วเสร็จไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ในช่วงปลายโครงการแล้ว
สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นรวมเท่ากับ 17.4% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 13.1% เนื่องจากบริษัทมีการควบคุมต้นทุนการผลิตที่ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากลูกค้า คู่ค้า และพนักงานในการสื่อสารข้อมูลเพื่อทำการวางแผนด้านต่างๆ ที่ทำให้ต้นทุนเกิดประสิทธิภาพส่วนอัตรากำไรสุทธิรวมเท่ากับ 2.42%เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอัตราขาดทุนสุทธิรวมที่ 2.39%ปัจจัยหลักมาจากการควบคุมต้นทุนการผลิตทำให้อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น และควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารให้ลดลง
กำไร 9 เดือน
ขณะที่กำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2563 รวมเท่ากับ 55.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.61% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 16.95 ล้านบาท สำหรับรายได้รวมลดลง 295.19 ล้านบาท คิดเป็น 12.50% เป็นรายได้จากการขายลดลง 170.86 ล้านบาท ในไตรมาสแรกบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 54.13 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW กล่าวว่า ประเมินอุตสาหกรรมยานยนต์อาจจะทยอยฟื้นตัวกลับมาได้มากขึ้นราวๆ ปลายปีหน้า จึงคาดการณ์ว่าผลประกอบการโดยรวมของบริษัทในปีนี้จะดีกว่าปีก่อน และจะกลับมาดีมากขึ้นในปี 2564
ส่วนตลาดบรรจุภัณฑ์น้ำมันและน้ำมันหล่อลื่นจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของบรรจุภัณฑ์นมและนมเปรี้ยวปีนี้ ได้รับผลกระทบบ้าง จากตลาดส่งออกคนเดินทางน้อยลง ส่วนยอดขายค้าปลีกลดลงเช่นเดียวกัน เเต่การที่บริษัทมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ยอดขายโดยรวมไม่ได้กระทบต่อผลการดำเนินงาน
รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม
สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)