รีเซต

‘ออกซฟอร์ด’ ค้นพบยีนในมนุษย์ เพิ่มความเสี่ยงป่วยหนัก-ตายจากโควิด 2 เท่า

‘ออกซฟอร์ด’ ค้นพบยีนในมนุษย์ เพิ่มความเสี่ยงป่วยหนัก-ตายจากโควิด 2 เท่า
มติชน
5 พฤศจิกายน 2564 ( 05:55 )
48

 

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดค้นพบยีนที่เรียกว่า LZTFL 1 ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะปอดล้มเหลวและการเสียชีวิตจากโควิด-19 มากขึ้นเป็นสองเท่าในร่างกายมนุษย์

 

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดคือผู้ที่มีบรรพบุรุษมาจากเอเชียใต้ ซึ่งมีอัตราที่จะพบยีนดังกล่าวมาถึง 60% ขณะที่ผู้คนที่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษในยุโรปมีสัดส่วนการตรวจพบยีนดังกล่าวอยู่ที่ราว 15% คนที่มีเชื้อสายแอฟริกาและแคริบเบียนราว 2% และคนที่มีเชื้อสายมาจากเอเชียตะวันออกที่ 1.8%

 

อย่างไรก็ดีนักวิจัยยืนยันว่า วัคซีนถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และว่างานวิจัยชิ้นนี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมบางชุมชนในอังกฤษและเอเชียใต้ถึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและความสูญเสียจากโควิด-19 มากกว่าพื้นที่อื่น

 

เจมส์ ดาวีส์ หัวหน้าคณะนักวิจัยระบุว่า การค้นพบว่ามียีนที่ทำให้เกิดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่เท่ากันในกลุ่มประชากรทุกคนถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งส่งผลกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล อาทิ อายุ หรือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม

 

นักวิจัยเชื่อว่ายีนเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าวจะทำให้ปอดของคนเปราะบางกับไวรัสโคโรนามากขึ้น และทำให้ประสิทธิภาพของเซลล์ในปอดที่ทำหน้าที่ปกป้องตนเองหยุดทำงานเมื่อเจอกับเชื้อโควิด จึงทำให้ถูกไวรัสเล่นงานได้ง่าย

 

ข่าวดีคือยีนดังกล่าวไม่ส่งผลกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยรวม ซึ่งหมายความว่าผู้คนที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงยังคงมีภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนตามปกติ นักวิทยาศาสตร์หวังว่าการค้นพบดังกล่าวจะช่วยนำไปสู่การพัฒนายาที่พุ่งเป้าไปที่การดูแลปอดของผู้ติดเชื้อ เนื่องจากยาที่มีอยู่ในขณะนี้ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยรวม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง