แพลตฟอร์มปรับตัว รับมือโพสต์อันตราย
แพลตฟอร์มปรับตัว รับมือโพสต์อันตราย
โลกออนไลน์เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อยู่ทุกวัน ทำให้ “เฟซบุ๊ก” เริ่มออกกฎระเบียบต่างๆ จนทำให้หลายคนอาจจะเริ่มถอดใจย้ายไปทำการตลาดในแพลตฟอร์มอื่นๆ แทนที่เฟซบุ๊กกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า เฟซบุ๊ก เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้จำนวนมากที่สุดในปัจจุบัน โดยรายงาน Digital 2020 Global Digital Overview ระบุว่า ไตรมาส 1/2563 ประเทศไทยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก อยู่ที่ 47 ล้านบัญชี มีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และช่วงอายุ 25-34 ปีมากที่สุด ขณะที่ 98% ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเข้าใช้งานผ่านมือถือ 79% เข้าใช้งานผ่านมือถืออย่างเดียว 19% ใช้งานผ่านทั้งคอมพิวเตอร์และมือถือ และ 1.9% เข้าใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ฟาก “อินสตาแกรม” ไทยมีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ 17 ของโลก (เท่ากับ โคลอมเบีย มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย) อยู่ที่ 12 ล้านคน เพิ่มจากไตรมาสที่แล้วมากกว่า 700,000 บัญชี ขณะที่ “ทวิตเตอร์” ไทยมีผู้ใช้งานอยู่ 6.54 ล้านบัญชี ซึ่งมากเป็นอันดับ 15 ของโลก
ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน เฟซบุ๊กได้ประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานรับทราบถึงการแก้ไขข้อกำหนดในการใช้บริการ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ใจความหลัก คือ เฟซบุ๊กจะสามารถลบเนื้อหาสุ่มเสี่ยง ที่อาจส่งผลให้บริษัทหรือบุคคลอื่นๆ โดนฟ้องร้องได้ โดยไม่ต้องรอคำขอจากทางรัฐบาล
สำหรับข้อกำหนดในการใช้บริการฉบับปัจจุบันระบุว่า เฟซบุ๊กสามารถปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาในแต่ละประเทศได้ หากเป็นข้อมูลที่ผิดกฎหมายของประเทศนั้นๆ แต่คนในประเทศอื่นจะยังเข้าไปดูโพสต์นั้นได้อยู่ โดยการแก้ไขข้อกำหนดครั้งนี้เฟซบุ๊กสามารถลบหรือจำกัดการเข้าถึงเนื้อหา บริการ หรือข้อมูลได้ หากเฟซบุ๊กพิจารณาแล้วว่าการกระทำนั้นทำให้บริษัทหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงจากการโดนฟ้องร้อง
นั่นหมายความว่า เนื้อหาใดๆ ที่ไม่ได้ละเมิดนโยบายของเฟซบุ๊ก แต่ไปละเมิดกฎหมายในบางประเทศ จากเดิมที่จะถูกซ่อนในประเทศนั้นเพียงอย่างเดียว หลังได้รับการร้องขอจากรัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ต่อไปจะมีโอกาสโดนลบออกทันที หากเฟซบุ๊กเห็นว่าเสี่ยงที่จะทำให้บริษัทโดนฟ้องร้อง
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กไม่ได้แจ้งเหตุผลในการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดในครั้งนี้ แต่บิซิเนส อินไซเดอร์ มองว่าเป็นผลมาจากการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ต้องการยกเลิกมาตรา 230 ของกฎหมาย Communications Decency Act ซึ่งคุ้มครองผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ทำให้พวกเขาไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลที่ผู้ใช้นำมาโพสต์
สำหรับประเทศไทย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงว่า กระทรวงดีอีเอสจะส่งหนังสือพร้อมแนบคำสั่งศาล ไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ดำเนินการลบยูอาร์แอลที่ผิดกฎหมายภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ ทั้งยังกำชับว่าหากแพลตฟอร์มไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน จำเป็นต้องดำเนินคดี ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 27
เท่ากับว่า จากนี้เฟซบุ๊กอาจไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งศาล ก็สามารถลบโพสต์ได้ทันที หากมองว่าเนื้อหามีความเสี่ยงที่จะทำให้ถูกดำเนินการทางกฎหมาย
ส่วนกรณีเฟซบุ๊กแถลงการณ์จะฟ้องประเทศไทยประเด็นบังคับให้เฟซบุ๊กปิดกั้นเพจไม่เหมาะสมตามคำสั่งศาล เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น กระทรวงดีอีเอสยังไม่ทราบจดหมายอย่างเป็นทางการมีเพียงแถลงการณ์ผ่านสื่อเท่านั้น
ดังนั้น จึงยังไม่ทราบกระบวนการทางกฎหมาย กระทรวงดีอีเอสต้องมีทีมกฎหมายเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวด้วยว่า ต้องขึ้นศาลที่ประเทศไทย หรือต่างประเทศ แต่กระทรวงดีอีเอสยืนยันว่าไม่เคยรังแกใคร เป็นการดำเนินการกฎหมายที่ถูกต้องทุกประการ เป็น “การปกป้องอธิปไตยไซเบอร์” ที่มาเร็วและน่ากลัว และเมื่อกระทรวงแจ้งให้ลบพร้อมแนบคำสั่งศาล ทุกแพลตฟอร์มให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อาทิ กูเกิล ติ๊กต็อก
หรือแม้กระทั่งเฟซบุ๊กเอง ที่กระทรวงดีอีเอสแจ้งให้ปิดตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2563 จำนวน 1,129 ยูอาร์แอล ตามคำสั่งศาล 33 คำสั่งของช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 ให้ปิดภายใน 15 วัน โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 เฟซบุ๊กได้ดำเนินการปิดกั้นครบแล้ว เวลาประมาณเกือบ 23.00 น. จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีการฟ้องร้องประเทศไทย
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า หากพูดถึงประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น มองว่าเรื่องการบูลลี่ หรือทัวร์ลงในเพจของคนที่มีความคิดเห็นต่างมากกว่าที่น่าเป็นห่วง ส่งผลกระทบให้ตัวบุคคลที่ถูกกลั่นแกล้งถูกไล่ออกจากงาน หรือกระทบกระเทือนจิตใจ ควรถูกดำเนินการตามกฎหมาย ผู้ถูกกระทำสามารถแจ้งความตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ได้
ส่วนประเด็นเรื่องการถอนการลงทุนในประเทศไทยนั้น มองว่าเป็นเรื่องปกติของนักลงทุนต่างชาติที่จะลงทุนในประเทศไหน จึงมองว่าเป็นคนละเรื่องกัน การที่ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด น่าจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนมากกว่า หากกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ มีผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนมากกว่า กระทรวงดีอีเอสยืนยันว่าไม่กระทบต่อการเจรจาเรื่องธุรกิจหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เคยมีต่อกันแต่อย่างใด ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนทุกด้านเรื่องการลงทุน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอีเอสยังคงดำเนินการ ส่งหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาลอีก จำนวน 1,024 ยูอาร์แอล ไปยังสื่อสังคมออนไลน์/เว็บไซต์ต่างๆ แบ่งเป็นเฟซบุ๊ก จำนวน 661 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 289 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์ 69 ยูอาร์แอล และเว็บอื่นๆ จำนวน 5 ยูอาร์แอล โดยให้ความมั่นใจว่ามีการติดตามให้ทุกแพลตฟอร์มต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล กระทรวงดีอีเอสไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 27 ซึ่งระบุไว้ว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
หมายความว่า แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์รายใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้ลบหรือปิดเนื้อหาผิดกฎหมาย จะมีทั้งโทษปรับและปรับรายวันอีก จนกว่าจะยอมแก้ไข