รีเซต

Climate Governance หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

Climate Governance หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ทันหุ้น
3 ตุลาคม 2566 ( 11:49 )
77

โดย นางสาวสิรีฒร ศิวิลัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

“หลักธรรมาภิบาล” หรือ Governance เป็นรากฐานที่สำคัญของทุกเสาหลัก (pillars) ภายใต้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินโดยคณะทำงานเพื่อพัฒนากรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures : TCFD) และมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนโดย International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในระดับสากล*

 

ผู้เขียนขอชวนมาทำความเข้าใจหลักคิดในการนำ Governance มาใช้ในการบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันว่า “Climate Governance” ในบริบทของผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางในตลาดทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ การให้คำแนะนำการลงทุน และการบริหารจัดการความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน เพื่อผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวของผู้ลงทุน

 

บทบาทของ “แม่ทัพ” และ “หัวเรือใหญ่” ในการขับเคลื่อน Climate Action

คณะกรรมการและคณะกรรมการบริหารของบริษัทเปรียบเสมือน “แม่ทัพ” และ “หัวเรือใหญ่” ผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและนโยบายในการดำเนินธุรกิจ แผนกลยุทธ์ รวมทั้งการผลักดันองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (good corporate governance) ซึ่งหลักการดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนทุก ๆ องค์กรไปสู่การบรรลุเป้าหมายการให้บริการที่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญและการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ซึ่งรวมถึงเป้าหมายที่ 13การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ด้วย

 

จากบทบาทหน้าที่ดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทจึงเป็นผู้ที่ต้องมีความตื่นตัว มีวิสัยทัศน์ เล็งเห็นถึงโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญในการกำหนดทิศทาง และมอบแนวนโยบายที่ชัดเจน (set tone from the top) ให้แก่คณะกรรมการบริหารเพื่อนำไปถ่ายทอดสู่ระดับปฏิบัติการต่อไป

 

“Tone from the Top” เพื่อผลักดันวาระเร่งด่วนโลก

วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มาพร้อมกับโอกาสและความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่นักวิเคราะห์การลงทุนจัดทำบทวิเคราะห์ หรือบริษัทจดทะเบียนในพอร์ตการลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการลงทุนอยู่ โดยที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ต่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งอาจอยู่ในรูปแบบและระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน รวมทั้งอาจเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นหรือยืดเยื้อในระยะยาว ซึ่งส่งผลให้นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต้องหมั่นติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องก็เป็นได้

 

ดังนั้น การที่ บล. หรือ บลจ. แต่ละองค์กรมี tone from the top จากคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหารที่ชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับการผนวกโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ การให้คำแนะนำการลงทุน และการบริหารจัดการลงทุน นอกจากจะช่วยให้ทุกคนในองค์กรเห็นทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนแล้ว ยังมีข้อดีอื่น ๆ ดังนี้

 

1. บทวิเคราะห์การลงทุนมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งมีการให้คำแนะนำการลงทุน ซึ่งช่วยให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น ไม่ว่าในการตัดสินใจซื้อ ขาย หรือถือครองหลักทรัพย์นั้น ๆ

2. ลดความเสี่ยงของพอร์ตการทุน ช่วยให้ผลการดำเนินงานของกองทุนเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

3. บล. และ บลจ. เป็นกำลังสำคัญในการช่วยผลักดันให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ใน 4สาขาที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ (1) สาขาพลังงาน (2) สาขาคมนาคมขนส่ง (3) สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้พลังงาน และ (4) สาขาการจัดการของเสียชุมชน** ซึ่งจะช่วยนำพาประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2608ได้ต่อไป

 

“หนทางไกลนับหมื่นลี้ ต้องเริ่มต้นที่ก้าวแรก”

สำหรับ บล. และ บลจ. ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร องค์กรและหน่วยงานสากล 7 แห่ง*** ได้ร่วมกันจัดทำตัวอย่างแผนการดำเนินการ (action plan) ด้าน climate change โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็นระยะต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวช่วยผู้ประกอบธุรกิจในการจัดทำ action plan ที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง และมีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนต่อไป โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่าง action plan ระยะเริ่มต้นในด้าน governance ดังนี้

 

1. การกำหนดแนวนโยบาย

- จัดทำแนวนโยบายและจัดให้มีถ้อยแถลงเกี่ยวกับแนวนโยบายขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change ในการดำเนินธุรกิจ (กำหนด tone from the top)

 

- พัฒนาความเชื่อของบุคลากรเกี่ยวกับประโยชน์ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ การให้คำแนะนำการลงทุน และการบริหารจัดการลงทุนที่คำนึงถึงโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change โดยการสร้างความตระหนักรู้ว่าแนวนโยบายดังกล่าวจะช่วยสร้างมูลค่าในระยะยาวให้กับองค์กรและพอร์ตการลงทุนโดยรวมอย่างไร และสอดคล้องกับหลักการให้บริการด้วยความระมัดระวังและความน่าเชื่อถือไว้วางใจ (fiduciary duties) ที่พึงมีต่อผู้ลงทุนอย่างไร รวมทั้งการจัดอบรมพัฒนาให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจว่าจะนำเรื่องดังกล่าวผนวกในกระบวนการทำงานอย่างไร

 

2. ความรับผิดชอบ

- กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบให้แก่บุคลากรในด้านการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยงและการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแนวนโยบายขององค์กร

 

3. การวางแผนและการประเมิน

- พัฒนาแผนกลยุทธ์และวางแผนการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรในการผนวกโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ การให้คำแนะนำการลงทุน และการบริหารจัดการลงทุน

นอกจากนี้ ยังสามารถศึกษา action plan ด้าน governance ในระยะต่อ ๆ ไปได้จาก Investor Climate Action Plans (ฉบับปรับปรุง กรกฎาคม 2566) (https://theinvestoragenda.org/wp-content/uploads/2021/05/expectations-ladder.pdf) รวมทั้งแนวทางการผนวกโอกาสและความเสี่ยงจาก climate change ได้จากคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสำหรับผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน (https://theinvestoragenda.org/wp-content/uploads/2021/05/expectations-ladder.pdf) รวมทั้งสามารถศึกษา Guidance For Integrating ESG Information into Equity Analysis and Research Reports (https://rpc.cfainstitute.org/en/research/reports/2023/guidance-for-integrating-esg-information-into-equity-analysis-and-research-reports) ได้ผ่านเว็บไซต์ของ CFA Institute และ ก.ล.ต.

 

ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับองค์กร ผู้เขียนจึงหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้ผู้บริหารของทุกองค์กร โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมี Climate Governance โดยมีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการผนวกความเสี่ยงและโอกาสจาก climate change ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำพาตลาดทุนไปสู่ความยั่งยืนและช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

*******************************

 

หมายเหตุ:

* อ่านเพิ่มเติมได้ที่ บทความ ก.ล.ต. เรื่อง “ISSB กับกติกาสากลด้านความยั่งยืน.... ที่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนทั่วโลกรอคอย” https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2566/300866.pdf

** ที่มา NDC (Nationally Determined Contribution) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

*** องค์กรและหน่วยงานสากล 7 แห่ง ประกอบด้วย (1) The United Nations Environment Programme (UNEP) (2) Principles for Responsible Investment (PRI) (3) Carbon Disclosures Project (CDP) (4) Ceres (5) Institutional Investors Group on Climate Change (IIGCC) (6) Investor Group on Climate Change (IGCC) และ (7) Asia Investor Group on Climate Change (AIGCC)

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง