“ซูเปอร์มูนสีเลือดแห่งฤดูดอกไม้บาน” ทอแสงอร่ามฟ้าคืนวิสาขบูชา
เมื่อคืนวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา (26 พ.ค.) ผู้คนในหลายภูมิภาคทั่วโลกมีโอกาสได้ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าตื่นตาที่เรียกว่า "ซูเปอร์มูนสีเลือดแห่งฤดูดอกไม้บาน" (Super flower blood moon)
ปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้คือการที่พระจันทร์เต็มดวงโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด จนเห็นว่าส่องสว่างเป็นดวงกลมโตกว่าปกติ หรือที่เรียกกันว่า "ซูเปอร์มูน" นับเป็นปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ที่มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในรอบสองปีครึ่ง อีกทั้งยังเกิดขึ้นพร้อมกับ "จันทรุปราคาเต็มดวง" ซึ่งคาดว่าเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงเพียงครั้งเดียวของปี 2021
แม้เราจะเพิ่งได้ชมปรากฏการณ์ซูเปอร์มูนสีชมพู หรือ "พิงก์ซูเปอร์มูน" ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ในคราวนี้องค์การนาซาแจ้งว่าดวงจันทร์เคลื่อนเข้าใกล้โลกมากขึ้นกว่าครั้งก่อนถึง 157 กิโลเมตร
เหตุที่ดวงจันทร์ในปรากฏการณ์นี้ได้ชื่อว่าเป็นสีเลือดในฤดูดอกไม้บาน เพราะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม อันเป็นช่วงเวลาฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือที่ดอกไม้หลายชนิดพากันเบ่งบาน โดยในขณะที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนั้น เงาของโลกจะบดบังแสงอาทิตย์ไปเกือบทั้งหมด แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ลอดผ่านชั้นบรรยากาศโลกไปถึงดวงจันทร์ได้ ทำให้เกิดการกรองแสงสีฟ้าออกไป จนเรามองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงจาง ๆ คล้ายกับเลือดนั่นเอง
ซูเปอร์มูนสีเลือดในฤดูดอกไม้บานครั้งนี้ สามารถสังเกตเห็นได้ในพื้นที่ทางตะวันตกของอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ รวมทั้งบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และภูมิภาคโอเชียเนีย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้ชมในประเทศไทยจะเห็นการเกิดจันทรุปราคาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น