รีเซต

'หมอล็อต' บุกช่วย ช้างป่าเขาใหญ่ พลายงาเดี่ยว ปวดฟัน หวั่นหงุดหงิด

'หมอล็อต' บุกช่วย ช้างป่าเขาใหญ่ พลายงาเดี่ยว ปวดฟัน หวั่นหงุดหงิด
ข่าวสด
20 มีนาคม 2565 ( 16:03 )
284

ข่าววันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 มี.ค.65 นายชัยยา ห้วยหงส์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า พบช้างป่าพลายงาเดี่ยว หรือ พลายเดี่ยวหลับ อายุประมาณ 30 ปี ซึ่งเป็นช้างป่านิสัยดี มีลักษณะงาข้างซ้ายสั้น ส่วนงาข้างขวายาว ตัวขนาดใหญ่ ที่หากินบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เดินออกจากป่ามาหากินบริเวณหน้าที่ทำการอุยานฯ และข้ามถนนไปยืนอยู่บริเวณหน้าศูนย์อาหาร

 

เจ้าหน้าที่เกรงว่าช้างป่าจะเดินเข้าไปในศูนย์อาหาร ที่มีเด็กนักเรียนกำลังเข้าค่าย เขาใหญ่วิทยา จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ นำรถไปกันเอาไว้ สังเกตเห็นช้างยืนใช้งวงโกยดินมาพ่นบริเวณงาด้านซ้าย ไล่แมลงที่มาตอมที่มีรอยแตกยาว น่าจะเกิดการเน่าเจ็บปวด


 

จึงประสานไปยัง นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมเดินทางมาตรวจสอบ โดยพลายงาเดี่ยว ไม่เดินไปไหนไกลวนเวียนอยู่บริเวณศูนย์บริการ

 

ต่อมาเมื่อช่วง 12.00 น.หลังหมอล็อต ดูอาการพลายงาเดี่ยว พบว่าเกิดจากการการปวดงาหรือฟันที่แตก ซึ่งคาดว่าเกิดจากก้อนหินหรือต้นไม้ หรือต่อสู้กับช้างป่าตัวอื่น จากนั้น นายสัตวแพทย์ภัทรพล ร่วมเจ้าหน้าที่ผลักดันช้างไปบริเวณค่ายกองแก้วให้ห่างจากคน เกรงว่าอาการปวดงาจะทำให้ช้างหงุดหงิดได้ พร้อมให้ยาลดอาการปวด โดยไม่ต้องยิงยาสลบแต่อย่างใด เนื่องจากพลายงาเดี่ยวไม่มีนิสัยดุร้าย และมอบหมายให้สัตวแพทย์ประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คอยติดตามดูอย่างใกล้ชิดซักระยะหนึ่งไปก่อน

 

นายสัตวแพทย์ ภัทรพล กล่าวว่า ได้รับรายงานจากทางหัวหน้าอุทยานฯเขาใหญ่ ได้เดินทางมาตรวจสอบ พบว่าช้างป่าพลายงาเดี่ยว หรือเจ้าหน้าที่ให้ฉายา พลายเดี่ยวหลับ ซึ่งมีนิสัยชอบยืนหลับตลอด พบบริเวณงาด้านซ้ายมีรอยแตกยาวเกิดอาการเน่า มีแมลงวันตอมเพราะช้างใช้งวงโกยดินพ่นไล่แมลงบริเวณงาตลอดเวลา

 

 

สาเหตุน่าจะเกิดจากการลัดงา งาไม่แข็งแรง ขาดแคลเซียมบำรุงกระดูก จึงอยากเชิญชวนกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ หรือสถานศึกษา ร่วมกันอนุรักษ์และประสานอุทยานฯ เพื่อทำโป่งเทียมบนพื้นที่อุทยานฯ เพื่อให้สัตว์ป่า เก้งกวางที่มีลูกอ่อน ตั้งท้อง หรือช้างป่าได้เข้ามากิน จะได้เกลือแร่รำรุงกระดูก เพื่อให้งาและกระดูกแข็งแรง

 

เนื่องจากเกลือแร่ตามธรรมชาติมีน้อยมาก ส่วนช้างป่าพลายงาเดี่ยวหลังให้ยาเพื่อลดอาการปวดแล้วก็กินอาหารได้ น่าจะดีขึ้นและมอบให้น้องๆสัตวแพทย์ประจำอุทยานฯคอยดูแลตรวจสอบตลอดในช่วงนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง