รีเซต

ตั้งบริษัทใหม่วูบ! 10 เดือนลดลง 12% - พาณิชย์ยังเชื่อยอดจดทะเบียนทั้งปีเกิน 6 หมื่นราย

ตั้งบริษัทใหม่วูบ! 10 เดือนลดลง 12% - พาณิชย์ยังเชื่อยอดจดทะเบียนทั้งปีเกิน 6 หมื่นราย
ข่าวสด
24 พฤศจิกายน 2563 ( 15:49 )
68

ตั้งบริษัทใหม่วูบ 10 เดือนลดลง 12% แต่พาณิชย์ยังเชื่อทั้งปีเกิน 6 หมื่นราย จับตาธุรกิจภาคการผลิตขยายตัวรับการระบาดโควิด-19

 

ตั้งบริษัทใหม่วูบ12% - นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงผลการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดือนต.ค. 2563 ว่า ธุรกิจจัดตั้งใหม่ เป็นห้างหุ้นส่วนบริษัททั่ว 5,396 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาลดลง 6% หรือลดลง 355 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 43,746 ล้านบาท ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 504 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 262 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 164 ราย คิดเป็น 3%

 

ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนต.ค. 2563 มีจำนวน 2,057 รายเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ลดลง 3% หรือลดลง 59 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 7,788 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 159 ราย คิดเป็น 8% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 110 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 64 ราย คิดเป็น 3% ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนต.ค. 2563 จำนวน 770,087 ราย มูลค่าทุน 18.63 ล้านล้านบาท

 

ส่วนยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 ตั้งแต่ม.ค.-ต.ค. 2563 มียอดทั้งสิ้น 55,574 ราย ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 12% หรือลดลง 7,785 ราย ขณะที่ยอดเลิกกิจการในช่วง 10 เดือนตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. 2563 มียอดทั้งสิ้น 12,450 ราย ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 12% หรือลดลง 1,620 ราย

 

ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ตลอดช่วง 10 เดือนของปีนี้ ลดลงมาจากปัจจัยหลักผลกระทบโควิด-19 หลายเดือนที่ผ่านมาทำให้การดำเนินกิจการต่างๆ ไม่ได้เต็มที่มากนัก แต่ประเทศไทยมีมาตรการดูแลปัญหาโควิด-19 อย่างเข้มงวดได้เป็นอย่างดี และได้ผ่อนคลายให้ธุรกิจในด้านต่างๆ กลับมาดำเนินกิจการได้มากขึ้น ทำให้หลายธุรกิจหันมาประกอบกิจการเพิ่มเติมส่งผลให้ยอดการจดทะเบียนตั้งใหม่เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาก็ตาม ประกอบกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่มีการส่งเสริมภาคธุรกิจในบางประเภทในด้านการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และอื่นๆ ทำให้ยอดจดทะเบียนรายเดือนเกินกว่า 5,000 รายขึ้นไป จึงเชื่อว่ายอดจดทะเบียนทั้งปีน่าจะเกินกว่า 60,000-64,000 รายขึ้นไป

 

นางโสรดา ยังกล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ในเดือนต.ค. ยังพบว่า ธุรกิจในภาคบริการมีการจัดตั้งมากที่สุดคือ จำนวน 2,763 รายคิดเป็น 51% รองลงมา คือ ภาคค้าส่ง/ค้าปลีก 1,891 ราย คิดเป็น 35% และ ภาคการผลิต 742 ราย คิดเป็น 14% แต่ภาคธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนจดทะเบียนจัดตั้งมากที่สุดในเดือนต.ค. คือ ภาคการผลิต มีจำนวนการจัดตั้ง 742 ราย เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค. 2562 โดยธุรกิจ ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ด้านสุขอนามัยหรือเภสัชกรรมที่ทำจากยาง เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เช่น ถุงมือยาง ถุงมือชนิดอื่นๆ ถุงมือทางการแพทย์ เป็นธุรกิจในภาคการผลิต ที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนจดทะเบียนจัดตั้งมากที่สุด มีการเติบโตของ จำนวนการจัดตั้งใหม่ 5 เท่าจากที่เคยมีเพียง 1 รายในปี 2562 เป็น 6 รายในปีนี้ และมูลค่าทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาท เป็น 126 ล้านบาท เติบโต 125 เท่าจากมูลค่าจดเมื่อเทียบกับ ต.ค. 2562

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง