รีเซต

สธ.ชี้ 132 ตลาด 23 จว.แพร่โควิด ติดเชื้อแล้วกว่า 1.4 หมื่นราย เผย 70% ไม่ร่วมประเมิน อีก 5% ไม่ผ่าน

สธ.ชี้ 132 ตลาด 23 จว.แพร่โควิด ติดเชื้อแล้วกว่า 1.4 หมื่นราย เผย 70% ไม่ร่วมประเมิน อีก 5% ไม่ผ่าน
มติชน
23 สิงหาคม 2564 ( 15:36 )
39

 

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงมาตรการป้องกันการระบาดโควิด-19 ในตลาด ว่า ปัจจุบันพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่ที่มีคนมารวมกลุ่มกันลักษณะใกล้ชิด แออัด ซึ่งตลาดเป็นบริบทหนึ่งที่มีคนจากหลายที่ มีกิจกรรมเอื้อต่อการแพร่ระบาด สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – วันที่ 10 ส.ค.64 พบผู้ติดเชื้อ 14,678 ราย ในตลาด 132 แห่ง ครอบคลุมถึง 23 จังหวัด ทั้งในพื้นที่สีแดงเข้ม สีแดงหรือสีส้ม โดยพบว่าตลาดที่พบผู้ติดเชื้อ ไม่ได้ประเมินตลาดตามที่กรมอนามัยจัดทำแนวทางผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID19 ถึง ร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม มีร้อยละ 5 ที่เข้าประเมิน แต่ไม่ผ่าน สำหรับตลาดที่ประเมินแล้วปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์มีเพียง ร้อยละ 25 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากตลาดทั้งหมดศึกษาแนวทาง ประเมินตนเอง ข้อไหนไม่ผ่านก็ให้ปรับปรุง ก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการระบาดในพื้นที่ตลาด

 

 

 

“ทำไมเราพบผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดและพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เพราะมีผู้คนมากและหลายกิจกรรม ทั้งการค้า การขนส่ง รวมถึงลักษณะสถานที่ตลาด ที่มีแบบเก่าแก่ เปิดใหม่ ใกล้ชิดชุมชน และที่สำคัญคนทำงานในตลาดบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ดังนั้น การควบคุมโรคในตลาด ต้องทำใน 2 ลักษณะคือ ตลาดที่ยังไม่พบการติดเชื้อ ต้องเน้นการปฏิบัติตามมาตรการเคร่งครัด เฝ้าระวังความเสี่ยงหากพบผู้ติดเชื้อ หรือการระบาดก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำหนด คือ การสอบสวนควบคุมโรค และทำความสะอาดสุขาภิบาล หากไม่พบการติดเชื้อ 14 วัน ก็สามารถกลับมาเฝ้าระวังได้ ส่วนบางตลาดที่พบการติดเชื้อจำนวนมาก สามารถทำบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) เพื่อให้ดำเนินการภายใต้มาตรการควบคุมป้องกัน เพราะ หลายครั้งเราพบว่า หากปิดตลาดโดยไม่มีมาตรการรองรับ จะยิ่งทำให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการเคลื่อนย้ายไปตลาดอื่นในจังหวัดอื่น ก็จะนำไปสู่การแพร่เชื้อสู่ชุมชน ครอบครัว ที่ทำงานอื่นๆ ตามมา” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

 

 

 

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า แผนเผชิญเหตุมีความจำเป็นต้องค้นหาผู้ติดเชื้อ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จึงกำหนดให้ขึ้นทะเบียนผู้ขาย แรงงาน และสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 หากไม่พบผู้ติดเชื้อ ก็สามารถเปิดตลาดโดยเฝ้าระวังต่อไป หากพบ 1 ราย ให้ปิดเฉพาะแผงค้า หยุดทำความสะอาดพร้อมกับค้นหาผู้ติดเชื้อเสี่ยงสูง ซึ่งหากพบการติดเชื้อมากกว่า 2 แผง และอาจมากกว่า 2 รายขึ้นไป ต้องค้นหาผู้ติดเชื้อทั้งตลาด และหากผลการดำเนินการทั้งตลาด พบติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 10 จะหยุดทำความสะอาดและปรับปรุงสุขาภิบาล เน้นการปิดแผงค้าที่ติดเชื้อให้ครบ 14 วัน ดูแลเฝ้าระวังผู้คนที่ยังไม่พบการติดเชื้อ หากพบติดเชื้อมากกว่า ร้อยละ 10 จำเป็นต้องปิดตลาด 14 วัน

 

 

“การปิดตลาดโดยไม่มีมาตรการรองรับ จะยิ่งซ้ำเติมสภาพปัญหา ดังนั้น จำเป็นต้องทำคู่กับการสำรวจชุมชนรอบตลาด เพื่อหาผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทำมาตรการแยกกักในชุมชน (Community Isolation) และพิจารณาการให้วัคซีนโควิด-19 ชุมชนรอบตลาดและผู้ค้าที่ยังไม่ติดเชื้อ” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า ส่วนการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในตลาด 1.ป้องกันคน คัดกรองร่างกายก่อนเข้าตลาด หรือมาตรการเสริมด้วยการตรวจหาเชื้อด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ เอทีเค (ATK) ทุกคนในตลาด หรือสุ่มตรวจ ร้อยละ 10 ในผู้ค้า แรงงานและเพิ่มการตรวจในผู้ที่อาศัยชุมชนโดยรอบ และผู้ใช้บริการตลาดทุกสัปดาห์ ฉีดวัคซีน 2 เข็มไม่น้อยกว่า 14 วัน และแสดงหลักฐานว่าเคยติดเชื้อไม่น้อยกว่า 14 วัน 2.ป้องกันสถานที่ ประเมินตลาดผ่าน Thai Stop COVID19 Plus เช่น จัดจุดทางเข้าออกทางเดียว คัดกรองอาการไข้ ตรวจประวัติเสี่ยง เป็นต้น จัดมาตรการ DMHTT จัดระบบสุขาภิบาลในตลาด จัดระบบผู้เข้าใช้บริการ และลดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด 3.จัดระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค สุ่มตรวจหาเชื้อในคนและสิ่งแวดล้อมหรือน้ำเสีย หากพบเชื้อโควิด ก็แสดงว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อในตลาด นำมาสู่การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกต่อไป และทุกตลาดต้องร่วมกับ อปทง จัดทำแผนเผชิญเหตุ มีผู้รับผิดชอบและการซักซ้อมแผน โดยแผนจะปรับเปลี่ยนตามพื้นที่ ลักษณะตลาดและบริบทผู้คน นอกจากนั้น ให้เตรียมสถานที่แยกกักสำหรับผู้ที่มีผลตรวจเอทีเคเป็นบวก

 

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การสุ่มตรวจด้วยเอทีเค ร้อยละ 10 ต่อสัปดาห์ ต้องเตรียมรองรับว่า 1.ผลลบ ไม่ได้มีความปลอดภัย 100% แต่สามารถออกเอกสารเป็นหลักฐานเข้าออกตลาด 2.ผลบวก ต้องค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก การแยกกักที่บ้านหรือชุมชน แต่ต้องมีการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ก่อน ซึ่งหากตรวจซ้ำแล้วให้ผลลบก็จะต้องเฝ้าระวังต่อไป แต่หากผลบวก จะต้องเอกซเรย์ปอด เพื่อนำผู้ติดเชื้อเข้าระบบแยกกักในชุมชน

 

 

“หัวใจสำคัญคิการบูรณาการ 3 ภาคี ได้แก่ หน่วยงานสาธารณสุข ผู้ประกอบการตลาดและ อปท. ทั้งนี้จะต้องดำเนินการภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เพื่อกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย แม้ว่าตลาดจะมีความเสี่ยง แต่หากประชาชน เจ้าของตลาด อปท. และภาคราชการเข้ามากำกับ เคร่งครัดมาตรการ ก็เชื่อได้ว่าทั้งผู้ค้ารายย่อย ผู้ใช้บริการที่อาจมีรายได้ไม่มาก ก็สามารถดำเนินกิจการตามวิถีชีวิตใหม่ที่ปลอดภัยจากโควิด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อลงในอาหารได้หรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เมื่อซื้อของกลับถึงบ้าน สิ่งแรกคือ ต้องทำความสะอาดตัวเอง ล้างมือ สวมหน้ากาก และทำความสะอาดของตามลักษณะและทิ้งบรรจุภัณฑ์ หลังจากนั้นให้จัดเก็บในภาชนะที่บ้านตัวเอง อุ่นอาหารให้สุก ร้อน ก่อนรับประทาน

 

 

“เราเข้าใจว่า อาหารที่เราซื้อมา และสามารถฉีดแอลกอฮอล์ลงไป แต่ต้องเรียนว่าแอลกอฮอล์ที่เอามาฉีด เป็นชนิดเอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) ที่มากกว่า ร้อยละ 70 เพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยปกติไม่แนะนำให้ฉีดพ่นอาหาร เพราะอาจไม่ทั่วถึงอาหาร และอาจไม่มีผลการฆ่าเชื้อได้ ที่สำคัญในบางครั้งมีการใส่สารอื่นในแอลกอฮอล์ เช่น สี กลิ่น ฉะนั้นจึงไม่แนะนำให้ฉีด แม้ว่าผู้ผลิตบางรายบอกว่าเป็น ฟู้ด เกรด ที่มีคุณภาพในระดับหนึ่งแต่ไม่มีคำแนะนำให้ฉีดฆ่าเชื้อในอาหาร แต่เราสามารถล้างทำความสะอาด หรือการปรุงสุกมากกว่า 70 องศาเซลเซียส นานกว่า 5 นาที เชื้อโควิด-19 ก็จะตายหมด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

 

เมื่อถามว่าความเสี่ยงที่ประชาชนต้องระวังขณะเข้าตลาด นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จุดที่เป็นพื้นผิวสัมผัสร่วม จุดแรกคือ ห้องน้ำ ที่ต้องจับประตู ก๊อกน้ำ ที่กดชักโครก เราจึงต้องสวมหน้ากากอนามัย จะให้ดีก็ควรสวม 2 ชั้น คือ ด้านในเป็นแบบทางการแพทย์และด้านนอกเป็นหน้ากากผ้า รวมถึงการล้างมือให้สะอาด และขอว่าอย่าถอดหน้ากาก อย่านำมือที่ยังไม่ได้ล้างด้วยแอลกอฮอล์มาสัมผัสใบหน้า อีกจุดหนึ่งคือ ภาชนะสัมผัสร่วมกันที่ต้องผ่านมือหลายคน จึงเน้นย้ำว่า หากจะไปตลาดให้วางแผน และมุ่งไปซื้อตามแผน

 

 

“เราคงไม่สามารถปฏิบัติตามเดิม คือ ไปเดินตลาด ดู หยิบ จับเลือกซื้อ ต่อรองราคา อันนั้นเป็นวิถีปกติ แต่ตอนนี้มีความเสี่ยง เราก็ต้องวางแผน เช่นเดียวกับผู้ค้าต้องจัดแลปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค ลดโอกาสที่ทำให้ผู้คนมาสัมผัสกันหลายจุด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง