"แบงก์" ทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ รับลูก"แบงก์ชาติ"หั่นดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.50%

เริ่มที่ ธนาคารกสิกรไทย โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR (อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี) ลงสูงสุดถึง 0.38% ทำให้อัตราดอกเบี้ย MORคงเหลือเพียง 5.84% อีกทั้งธนาคารยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR(อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา)และ MRR(อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ลงอีก 0.13% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยคงเหลือ 5.47% และ 5.97% ตามลำดับ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทแบบมีระยะเวลา MLRปรับลดจาก 5.375% เป็น 5.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี MOR ปรับลดลงจาก 6.095% เป็น 5.845% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี MRR ปรับลดลงจาก 6.345% เป็น5.995% ซึ่งปรับลดลงมากที่สุดในระบบธนาคาร
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR, MORและ MRR ลงอีก โดย MLR ปรับลดลงจาก 5.83% เป็น 5.58% ส่วน MOR ปรับลดลงจาก 6.30% เป็น 5.95% MRR ปรับลดลงจาก 6.30% เป็น 6.05%
ธนาคารกรุงเทพ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ3 ประเภท ลงเหลือต่ำสุด 5.25% โดยเอ็มแอลอาร์เหลือ 5.25% ,เอ็มโออาร์ เหลือ 5.875% และเอ็มอาร์อาร์ เหลือ 5.75%
ธนาคารกรุงไทย (KTB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.125% ต่อปี เหลือ 5.25% ต่อปี, MOR ลดลง 0.40% ต่อปี เหลือ 5.82% ต่อปี และ MRR ลดลง 0.125% ต่อปี เหลือ 6.22% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เพื่อสนับสนุนภาครัฐในการเร่งกิจกรรมและกิจการทางเศรษฐกิจ ตลอดจนลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการและประชาชนทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง
และธนาคารออมสิน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลด 0.125-0.25% ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา หรือ MLR (Minimum Lending Rate) ปรับลดลงจาก 6.275% เป็น 6.150% (ปรับลด 0.125%) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR (Minimum Overdraft Rate) ปรับลดลงจาก 6.245% เป็น 5.995% (ปรับลด 0.25%) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate) ปรับลดลงจาก 6.370% เป็น 6.245% (ปรับลด 0.125%)
สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด โดยธนาคารออมสินในฐานะสถาบันการเงินเพื่อการออม ยังคงส่งเสริมภาคการออมต่อเนื่องต่อไป หรือภายหลังจากการประชุมครั้งต่อไปของ กนง. ในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ซึ่งธนาคารจะมีการพิจารณาทบทวนการปรับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ และยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก นั้น ธนาคารฯ ยังต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้อยู่ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอลดการนำเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนปรนให้ลดการนำเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งการได้ลดเงินสมทบเข้ากองทุนฯ (SFIF) จะสามารถนำมาชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ จึงหวังว่าจะได้รับการผ่อนปรนในระยะอันใกล้นี้เช่นกัน
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand