รีเซต

ถอดบทเรียน "อุทกภัย 65" หนักที่สุดในรอบ 11 ปี

ถอดบทเรียน "อุทกภัย 65" หนักที่สุดในรอบ 11 ปี
TNN ช่อง16
28 ธันวาคม 2565 ( 19:51 )
341
ถอดบทเรียน "อุทกภัย 65" หนักที่สุดในรอบ 11 ปี

ภาพของน้ำท่วมบ้านเรือนจนมิดหลังคาชั้นสองของบ้านบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำมูล ใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ถือเป็นเหตุการณ์อุทกภัยที่รุนแรงและยาวนานมากที่สุดในรอบ 44 ปี โดยตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 ประเทศไทย เผชิญกับอิทธิพลจากพายุถึง 3 ลูก ได้แก่ พายุดีเปรสชั่นมู่หลาน ที่เกิดขึ้นระหว่าง 11-13 ส.ค. และพายุดีเปรสชั่น หมาอ๊อน ช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. ส่วนเดือนกันยายน พายุไต้ฝุ่นโนรู ที่อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชั่น ก็เคลื่อนเข้าผ่าน จ.อุบลราชธานี ทำให้ จ.อุบลฯ ที่ถือเป็นจังหวัดปลายน้ำ ซึ่งต้องรับน้ำจากทั้งแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ที่มาจากหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยแม่น้ำมูล เป็นเส้นทางน้ำจาก จ.นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ส่วนแม่น้ำชี เป็นเส้นทางน้ำจาก จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และ จ.ยโสธร ซึ่งมวลน้ำจากแม่น้ำจากทั้งสองสาย ทำให้มีปริมาณน้ำสูงเกือบเท่ากับระดับของปี 2521 



ขณะที่พื้นที่ภาคกลาง ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากพายุและฝนในเดือน ก.ย.- ต.ค. ซึ่งเป็นฝนที่ตกใต้เขื่อน จนทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดน้ำท่วมขึ้นในลักษณะคันดินที่แตกลง จนเกิดน้ำท่วมทุ่งในพื้นที่ภาคกลาง ตั้งแต่ จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง ขณะที่จังหวัดรับน้ำ เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ก็มีปริมาณน้ำทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ที่สูงเกินปี 2554 และท่วมนานถึง 4 เดือน เนื่องจากทั้ง จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี มีการเบี่ยงน้ำออกไปยัง จ.สุพรรณบุรี ผ่านแม่น้ำท่าจีน และ จ.ฉะเชิงเทรา ผ่านแม่น้ำบางปะกง เพื่อป้องกันพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ทำให้การระบายน้ำไปสู่ทะเลอ่าวไทย ใช้หรือเวลามากยิ่งขึ้น ซึ่งถึงแม้จะมีความพยายามในการเบี่ยงน้ำแล้วก็ตาม แต่ยังคงทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก คือพื้นที่ของเขตลาดกระบัง เกิดน้ำท่วมขังในบางส่วน



ทั้งนี้ได้ถอดบทเรียนของอุทกภัยในครั้งนี้ ว่าการป้องกันอุทกภัยที่เกิดขึ้นในอนาคตภาครัฐ จำเป็นที่จะต้องมีการป้องกันล่วงหน้า ทั้งการแจ้งเตือน , การให้ข้อมูลที่ชัดเจน การยกเลิกการกักน้ำไว้ ให้อยู่เพียงลำน้ำ และการให้อำนาจท้องถิ่น ในการบริหารจัดการกับน้ำ แทนการรับฟังคำสั่งจากส่วนกลาง 



แม้บทเรียนจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมาในปี 2565 อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้กับเหตุการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็ได้ทำให้เห็นว่า การรับมือรวมไปถึงการเตรียมการแจ้งเตือนกับประชาชน ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการให้รวดเร็ว ซึ่งรวมถึงการให้การช่วยเหลือ การเยียวยา และการฟื้นฟู ที่จะต้องดำเนินการให้ทันท่วงที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง