รีเซต

'เครือข่ายกรรมกร' จี้รัฐจ่าย 5,000 'ผู้ประกันตน' รับผลกระทบโควิด-19 ทุกคน

'เครือข่ายกรรมกร' จี้รัฐจ่าย 5,000  'ผู้ประกันตน' รับผลกระทบโควิด-19 ทุกคน
มติชน
30 เมษายน 2563 ( 18:23 )
281
1
'เครือข่ายกรรมกร' จี้รัฐจ่าย 5,000  'ผู้ประกันตน' รับผลกระทบโควิด-19 ทุกคน

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันแรงงานสากล หรือ วันกรรมกรสากล (เมย์เดย์) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ยกเลิกการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการรวมตัวหรือชุมนุมเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 แต่ทั้งนี้ยังคงมีมติที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติเป็นประจำทุกปี

สำหรับปีนี้ มีข้อเสนอเร่งด่วนในสถานการณ์โรคโควิด-19 รวม 10 ข้อ ได้แก่

1.กรณีการเข้าโครงการสมัครใจลาออกในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้รับสิทธิ์กรณีว่างงานเท่ากับกรณีการเลิกจ้าง

2.กรณีนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างออกจากงานทุกกรณี ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีรายได้ในช่วงระบาดของโควิด-19

3.ให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33, 39 และ 40 คนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน กรณีได้รับผลกระทบจากโควิด-19

4.กรณีที่นายจ้างใช้มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จะต้องไม่นำสวัสดิการตัวเงินอื่นๆ มาคำนวณในการหักเงินลูกจ้าง ในช่วงที่นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงาน

5.ขอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษในลักษณะไตรภาคี เพื่อตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบและการช่วยเหลือคนงาน

6.ขอให้รัฐบาลชะลอโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่ยังไม่สำคัญเร่งด่วนและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันออกไปก่อน เพื่อนำเงินงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชนและคนทำงาน

7.ให้บรรจุลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขสายงานต่างๆ เป็นข้าราชการ เหมือนพยาบาลที่รัฐบาลประกาศก่อนหน้านี้

8.ให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบได้รับการผ่อนปรนช่วยเหลือจากประกันสังคมแม้ว่ายังส่งเงินสมทบไม่ครบตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และให้ กระทรวงแรงงานโดยกรมจัดหางานยืดหยุ่นการเปลี่ยนนายจ้างตามมาตรา 51,52 และ 53 ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และให้นำเงินจากกองทุนเพื่อการบริหารแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบการเลิกจ้าง การขาดรายได้ ให้สามารถประทังชีวิตอยู่ได้ในช่วงวิกฤต

9.รัฐบาลต้องควบคุมและลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน และควรเน้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนฐานรากตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใช้วิกฤตของประเทศเพื่อการแสวงหาความมั่งคั่ง รวมถึงการหาแนวทางปรับลดหรืองดเว้นค่าบริการสาธารณะต่างๆ ตามแต่ประเภทการให้บริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจในช่วงวิกฤตให้ครอบคลุมประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าทียมและเป็นธรรม

10.ให้กระทรวงแรงงานประกาศยกเว้นข้อปฏิบัติกิจกรรมของสหภาพแรงงานในกรณีไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงการระบาดของโควิด -19 เช่น เรื่องของการประชุมใหญ่ฯ

นอกจากนี้ ยังมีการติดตามทวงถาม 11 ข้อ เรียกร้องในปีที่ผ่านมาด้วย อาทิ

1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรอง รวมถึงการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ว่ากรณีคนงานรถไฟ การบินไทย หรือกรณีอื่นๆ จนส่งผลให้สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าจากประเทศไทย

2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวเท่ากันทั้งประเทศ ต้องกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

3.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง