'ยุทธพล'ที่ปรึกษารมว.ทส.ส่งมอบโครงการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นจ.เพชรบุรี
'ทปษ.ยุทธพล' ส่งมอบโครงการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นเพชรบุรี 'กรมทะเล'เผยแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นทุกพื้นที่ในปี 64 ระยะ 11.15 กม. เสร็จ ส.ค. นี้ตามนโยบาย'ประวิตร'รองนายกฯ
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้ดำเนินการตามนโยบายของพล.อประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ที่สั่งการให้หน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศทางทะเล และพี่น้องประชาชนในพื้นที่
สำหรับภาพรวมของประเทศในปัจจุบันยังคงเหลือพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอีกประมาณ 87 กิโลเมตร จากความยาวชายฝั่งทั้งสิ้น 3,151 กิโลเมตร เรื่องนี้ ตนได้หารือกับอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่ต้องประสานกับหน่วยงานภายนอก รวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบูรณาการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามแนวทางและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
สำหรับแนวปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นที่ได้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 มีระยะทางการปักทั้งสิ้น 11,150 เมตร ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ตราด 3,000 เมตร จ.จันทบุรี 1,600 เมตร จ.สมุทรสงคราม 800 เมตร จ.เพชรบุรี 1,750 เมตร และจ.นครศรีธรรมราช 4,000 เมตร ซึ่งในปัจจุบันดำเนินการปักแล้วเสร็จประมาณ 9,500 เมตร หากไม่มีมรสุม หรือพายุคลื่นลมที่รุนแรงเกิดขึ้นสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นและพร้อมส่งมอบภายในเดือนส.ค. นี้แน่นอน
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวใช้งบประมาณจำนวน 42,300,000 บาท โดยประโยชน์จากแนวปักไม้ไผ่ดังกล่าว นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดโคลนแล้ว ยังมีส่วนช่วยเร่งการตกตะกอนและเพิ่มพื้นที่หาดเลนหลังแนวไม้ไผ่ อันจะส่งผลให้พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ดร. ยุทธพล กล่าวอีกว่า ในฐานะที่ตนเป็นลูกหลานชาวเพชรบุรี ที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงและเข้าใจปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี จังหวัดเพชรบุรี นอกจากความโดดเด่นเรื่องประเพณีและธรรมชาติที่สวยงามหลากหลายแล้ว ในเขตอำเภอบ้านแหลมยังมีพื้นที่ป่าชายเลนและหาดโคลนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นแหล่งประกอบอาชีพประมงที่สำคัญได้แก่ อาชีพการจับหอยทะเลทั้งหอยแครง หอยเสียบ หอยลาย
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่หาดโคลนดังกล่าวก็ประสบปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 60-ปี63 ทช.ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นเป็นระยะทาง 5,010 เมตร คงเหลือพื้นที่ประสบปัญหากัดเซาะพื้นที่หาดโคลนในพื้นที่ ตำบลบางแก้ว ซึ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในปี 64 เป็นระยะทางไม้ไผ่ 1,750 เมตร และในขณะนี้ ทช.ได้ดำเนินการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นในพื้นที่ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้วและพร้อมส่งมอบให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในวันที่3สค.64นี้ เพื่อรักษาระบบนิเวศชายฝั่งและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และตนขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวจังหวัดเพชรบุรีช่วยกันดูแลรักษาแนวไม้ไผ่ดังกล่าวเพื่อใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าด้วย”ดร. ยุทธพล กล่าว
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการลักษณะต่างคนต่างทำ มีความซ้ำซ้อน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด แก้จุดหนึ่งส่งผลกระทบอีกจุดหนึ่ง ดังนั้น ในช่วงที่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดี โดยในปีที่ผ่านมา ได้มีแนวคิดในการกำหนดหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งขึ้น เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำไปใช้ประกอบการจัดทำแผนงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งสำนักงบประมาณได้นำไปใช้ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้มีความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้เสนอต่อครม.ได้รับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 64
อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 65 นี้ ทาง ทช.ได้นำร่องในการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยใช้กลไกของคณะทำงานกลั่นกรองโครงการฯ ซึ่งจัดตั้งภายใต้คณะอนุกรรมการบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พิจารณาโครงการฯที่หน่วยงานเสนอเข้ามาทั้งหมด 64 โครงการ โดยมีโครงการที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ข้างต้นเพียง 17โครงการเพื่อเสนอต่อสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรค์งบประมาณต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เกิดความซ้ำซ้อนอย่างแน่นอน
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของ ทช.ได้ดำเนินการ ตามแนวทางของนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดี ทช.ที่ยึดมาตรการสีเขียว ตามมติครม. 16 ม.ค. ุุ61 โดยการนำวัสดุทางธรรมชาติมาใช้ในการแก้ไขปัญหาโดยวิธีปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 50 ถึงปี 64 ในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ จ.ตราด จันทบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ระนอง และกระบี่ รวมระยะทางไม้ไผ่ทั้งสิ้น 94.66 กิโลเมตร
ผลที่ได้จากการดำเนินการดังกล่าวสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนหลังแนวไม้ไผ่ได้ไม่ต่ำกว่า 450ไร่ โดยป่าชายเลนเหล่านี้จะกลายเป็นปราการทางธรรมชาติในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งนอกจากนี้ประชาชนยังได้ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตจากพืชและสัตว์ที่เกิดบริเวณป่าชายเลน สามารถสร้างอาชีพและรายได้อีกด้วย