รีเซต

วัตถุนิยมที่เกิดขึ้นในช่วงวาเลนไทน์ของจีน

วัตถุนิยมที่เกิดขึ้นในช่วงวาเลนไทน์ของจีน
TNN World
21 พฤษภาคม 2564 ( 09:52 )
750
วัตถุนิยมที่เกิดขึ้นในช่วงวาเลนไทน์ของจีน
Editor’s Pick: วัตถุนิยมที่เกิดขึ้นในช่วงวาเลนไทน์ของจีนหลายคนบอกว่า นี่เป็นการบอกรักที่ “ง่ายและตรงไปตรงมา” ที่สุดแล้ว ไม่ต้องมาอ้อมค้อม
 
 
ตอนนี้ ประเทศจีนมีวันวาเลนไทน์หลายวัน นอกเหนือจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ การซื้อของขวัญเพื่อแสดงออกถึงความรัก จึงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของประเพณีวัตถุนิยมแห่งรัก ที่ถือกำเนิดขึ้น
 
 

ตัวเลข (เงิน) บอกรัก

 
เมื่อวันอาทิตย์ (16 พฤษภาคม) เปาจิง ชาวเมืองคุนหมิงโพสต์ภาพกระเป๋าถือของ Louis Vuitton บน Weibo พร้อมข้อความว่า “ได้ของขวัญวาเลนไทน์ล่วงหน้า มีความสุขมากกับปีนี้ 520”
 
 
ในประเทศจีน วันที่ 20 พฤษภาคม หรือ 520 ออกเสียงคล้ายกับคำว่า “หว่อ อ้าย หนี่” ในภาษาจีนแมนดาริน หมายความว่า ฉันรักคุณ วันดังกล่าวเป็นวันวาเลนไทน์แบบจีน ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
 
 
เปา กล่าวว่า แต่ละวันเป็นวันวาเลนไทน์ที่แตกต่างกัน แฟนของเธอจะส่งของขวัญให้ อาทิ เครื่องประดับ เครื่องสำอาง กระเป๋าถือ หรือพาเธอไปดินเนอร์ที่ร้านอาหารสุดหรู
 
 
“ฉันให้ความสำคัญกับพิธีการ” เธอกล่าว “เขาทำแบบนี้ เพื่อแสดงความรักที่มีต่อฉัน”
 
 
 

วันแห่งความรักที่ไม่ได้มี 'หนเดียว' (ต่อปี)

 
 
วันวาเลนไทน์แบบตะวันตกได้รับความนิยมในจีน ช่วงปลายปี 1990 ปัจจุบันคู่รักทั่วประเทศ ฉลองวันแห่งความรักผ่านการแสดงออก และการใช้เงิน เทศกาลชีซียังได้รับการฟื้นฟู ให้เป็นวันวาเลนไทน์แบบจีนมานานกว่าสิบปี
 
ตลอดทั้งปี จีนแผ่นดินใหญ่เฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
 
  • วันวาเลนไทน์แบบตะวันตก 14 กุมภาพันธ์
 
  • เทศกาลชีซี วันที่ 20 พฤษภาคม และ 14 มีนาคม หากเขียนออกมาเป็นตัวเลข จะคล้ายกับคำว่า “ฉันจะรักคุณตลอดไป” ในภาษาจีนแมนดาริน
 
  • วันที่ 9 กันยายน เป็นวันสำคัญในการแสดงความรัก เนื่องจากเลข 9 หมายถึงความเป็นนิรันดร์ในวัฒนธรรมจีนโบราณ
 
ยุคดิจิทัลเช่นนี้ วันแห่งความรักที่สถาปนาขึ้นใหม่ ต่างได้รับความนิยม เนื่องจากเวลาออกเสียงเดือนละวันในภาษาจีน จะได้เป็นประโยคที่มีความหมายสื่อถึงความรัก
 
 
 

การตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค

 
 
ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า วันหยุดพวกนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก จากธุรกิจต่าง ๆ เช่น อาหาร การท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนจึงรู้สึกสบายใจมากขึ้นกับการแสดงความรักแบบเปิดเผย แต่สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับการใช้จ่าย และการบริโภคที่มากขึ้นตามไปด้วย
 
 
ซง กั่วเหวี๋ย รองศาสตราจารย์ภาคเศรษฐศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยถงจี้ วิเคราะห์ว่า “กลยุทธ์การตลาดของบริษัทต่าง ๆ คือดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค และกระตุ้นให้เกิดความอยากได้ในตัวสินค้า ดังนั้น บริษัทจำเป็นต้องสร้างโอกาส และเหตุผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ”
 
 
“เพราะเหตุนี้เทศกาลต่าง ๆ ถึงถูกจัดขึ้นและกระตุ้นให้คนเฉลิมฉลอง”
 
 
“ความต้องการของผู้บริโภคสำหรับเทศกาลเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่กิจกรรมส่งเสริมการขาย มีส่วนช่วยในการเพิ่มรายได้ในการขายระยะสั้นตามช่วงเทศกาลด้วย”
 
 
 
 

ซองแดงวันวาเลนไทน์

 
 
เจิ้ง เหว่ย ชายวัย 30 ปี จากมณฑลเจียงซี กล่าวว่า เขาโอนเงินให้ภรรยาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา (เทศกาลชีซี)
 
 
“ผมซื้อของขวัญ ไม่ก็ส่งอั่งเปาให้ภรรยา ไม่ว่าจะเป็น 14 กุมภาพันธ์ วันครบรอบแต่งงาน วันแม่ วันเกิดของเธอ หรือแม้แต่เทศกาลชีซี” นายเจิ้งกล่าว
 
 
เขาเสริมว่า ครั้งหนึ่งตอนทะเลาะกัน เขาโอนเงิน 520 หยวน (ประมาณ 2,540 บาท) ให้กับภรรยา เพื่อง้อเธอและลดการทะเลาะถกเถียง
 
 
“เธอพอใจ ผมก็มีความสุขแล้ว” เขากล่าว
 
 
 
 
ความรักกับคำว่ารัก
 
 
ในจีน การแสดงความรักเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และคนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการป่าวประกาศ คำว่า “รัก” แทบไม่ปรากฏในวรรณกรรมจีนโบราณ หมวดเกี่ยวกับความรัก
 
 
หยุ่น โจว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยมิชิแกน ชี้ว่า พึ่งไม่นานมานี้เอง ที่ชาวจีนแสดงความรักในที่สาธารณะแบบตรงไปตรงมา และเริ่มพบเห็นได้บ่อยขึ้น
 
 
โจว กล่าวว่า ในประเทศจีนความคิดที่ว่า “รักโรแมนติกเป็นพื้นฐานที่ถูกต้องของชีวิตคู่” พัฒนาขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม หลังการเคลื่อนไหวเมื่อ 4 พฤษภาคม 1919
 
 
“ในความหมายนี้ การแสดงความรักเป็นการกระทำที่ค่อนข้างปฏิวัติ เพราะมันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง”
 
 
“ดังนั้น ฉันจึงไม่คิดว่าคนจีนโดยธรรมชาติแล้วมีความละเอียดอ่อน หรือเป็นไปในทิศทางนั้น มันเหมือนเป็นการแสดงความรัก ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ใคร ๆ ก็สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกพวกนี้ได้”
 
 
“ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การแสดงความรัก ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก ชีวิตรักในการแต่งงานระหว่างชายหญิง เรื่องเหล่านี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น” โจว อธิบาย
 
 
 

รักท่วมท้นกลายเป็นเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจ

 
 
จาง เว่ยหลิน นักวิจัยจากสถาบัน LeadLeo ที่ปรึกษาด้านการตลาดในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า วันวาเลนไทน์ที่หลากหลายนี้ ได้พิสูจน์ว่า มีกำไรในเชิงพาณิชย์ต่อธุรกิจ เพราะมีการกระตุ้นให้เกิดการซื้อของขวัญ
 
 
“ยอดขายดอกกุหลาบ ช็อกโกแลต และเครื่องประดับในวันวาเลนไทน์ มักสูงกว่าปกติ สองถึงสามเท่า” จางกล่าว เธอบอกว่า การสร้างวัฒนธรรมของผู้บริโภคในช่วงวาเลนไทน์ ช่วยให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
 
 
 
 

โลกเปลี่ยน วิธีบอกรักเปลี่ยน

 
 
กัว จีเฉิง รองศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แห่งประเทศจีน กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์และการทำการค้า จะใช้ภาษารักแบบ “ง่ายและตรงไปตรงมา”
 
 
“เวลามีคนพูดว่า ‘ฉันรักคุณ’ กับคนรัก คุณควรจำไว้ให้ดี มันมีความรักอยู่ในนั้นจริง ๆ” กัวกล่าว
เขากล่าวเสริมว่า ในอดีตคนจีนแทบจะไม่พูดคำว่า “รัก” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ได้รักกัน
 
 
“ก่อนหน้านี้ มีเพียงไม่กี่คนที่หย่ากันมาก่อน” กัวกล่าว “ทุกวันนี้ ความรักมากมายพรั่งพรูออกมา ไม่ว่าจะเป็นคำพูด หรือสิ่งของ แต่อัตราการหย่าร้างกลับสูงลิ่ว”
 
 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง