รีเซต

ศบค. เผย โรงเรียน ติดเชื้อ 11 จว. เหตุจัด กีฬา-ปัจฉิม-กินเลี้ยง-ใช้ที่ตักไอศกรีมอันเดียวกัน

ศบค. เผย โรงเรียน ติดเชื้อ 11 จว. เหตุจัด กีฬา-ปัจฉิม-กินเลี้ยง-ใช้ที่ตักไอศกรีมอันเดียวกัน
ข่าวสด
28 มกราคม 2565 ( 15:22 )
64

ศบค. เผยโรงเรียน เจอติดเชื้อ 11 จังหวัด เหตุจัด กีฬา-ปัจฉิม-กินเลี้ยง- ใช้ที่ตักไอศกรีมอันเดียวกัน ร.ร.ประจำราชบุรี เจอวันเดียว 311 ราย

 

วันที่ 28 ม.ค.65 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวัน ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนอาจตื่นตระหนกกับโอมิครอน สายพันธุ์ BA.2 หรือเวอร์ชันล่องหน ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เน้นย้ำว่า ยังไม่มีรายงานที่น่าเป็นห่วง และมีการติตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

โดยพบในประเทศไทยเกิน 14 ราย แต่ยังไม่พบความแตกต่างทางพันธุกรรมมากกว่าสายพันธุ์เดิม ส่วนต่างประเทศที่มีการรายงานว่าอาจตรวจหาเชื้อยากขึ้น หลบเลี่ยงการตรวจได้ง่าย แต่กรมวิทย์ฯรายงานว่า ยังสามารถตรวจ BA.2 ได้จาก ATK และ RT-PCR และไม่มีรายงานความรุนแรงว่าจะมากไปกว่าโอมิครอนเดิม โดยจะระมัดระวังอย่างใกล้ชิด

 

สำหรับวันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,450 ราย ซึ่งไม่ได้รวมตัวเลขจากการตรวจ ATK ที่ผลเป็นบวกและเข้าระบบดูแลที่บ้าน Home Isolation ซึ่งถ้ารวมผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK ก็จะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1 หมื่นรายต่อวัน ส่วนรักษาหาย 7,484 ราย กำลังรักษา 83,698 ราย อาการหนัก 528 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 102 ราย

 

สำหรับผู้เสียชีวิต 28 ราย ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคอีสาน 7 ราย ภาพรวม 15 รายไม่ได้รับวัคซีนเลย รับวัคซีนไม่ครบ 3 ราย ส่วนรับครบไม่เกิน 6 เดือน 10 ราย ดังนั้นจึงควรมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ก็จะป้องกันโอมิครอนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ส่วนผู้ติดเชื้อ 10 จังหวัดสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 1,292 ราย 2.สมุทรปราการ 743 ราย 3.นนทบุรี 499 ราย 4.ชลบุรี 446 ราย 5.ภูเก็ต 379 ราย 6.ปทุมธานี 245 ราย 7.ราชบุรี 239 ราย 8.นครราชสีมา 192 ราย 9.ศรีสะเกษ 182 ราย และ 10.ลพบุรี 168 ราย โดยจังหวัดที่ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นยังอยู่ใน กทม. ปริมณฑล และนำร่องท่องเที่ยว ทั้งสีฟ้าทั้งจังหวัดหรือเปิดบางอำเภอ จะมีรายงานติดเชื้อมากกว่าพื้นที่อื่น

 

คลัสเตอร์ที่น่าห่วง มีทั้งร้านอาหาร โรงเรียน ตลาด สถานประกอบการโรงงาน พิธีกรรมทางศาสนา วันนี้มีงานแต่งงานติดเชื้อทั้งที่น่าน จันทบุรี สระบุรี งานบวชที่ร้อยเอ็ด ย้ำว่าการจัดพิธีกรรมไม่ได้ทำให้ติดเชื้อ แต่หลังพิธีกรรมมักมีการจัดเลี้ยงอาหาร ล้อมวงกัน เปิดหน้ากากรับประทานอาหาร เล่นพนัน จึงขอให้จังหวัดเข้มงวดการรวมกลุ่มรับประทานอาหาร การจัดงานเลี้ยงที่คลุกคลีสังสรรค์คนจำนวนมาก

 

สถานศึกษามีหลายจังหวัดที่ติดเชื้อ ทั้งราชบุรี น่าน เพชรบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ร้อยเอ็ด (นักเรียนโรงเรียนกีฬา) สมุทรปราการ หนองคาย ยโสธร เลย และศรีสะเกษ มีตั้งก่อนวัยเรียน อนุบาล สถานศึกษาภาครัฐ เอกชน โรงเรียนประจำ โรงเรียนกีฬา โรงเรียนมัธยม สิ่งสำคัญคือแต่ละโรงเรียนที่พบคลัสเตอร์ เมื่อลงตรวสอบทุกโรงเรียนมีการกำหนดมาตรการที่เข้มงวด มีบุคลากรฉีดวัคซีนครบถ้วน ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อมาจากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม

 

เช่น การจัดแข่งขันกีฬา การจัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศฉลองจบ ม.6 มีการเปิดหน้ากากกินอาหารร่วมกัน ใช้ที่ตักไอศกรีมอันเดียวถ้วยเดียวกัน ปัจจัยเสี่ยงก็ใกล้เคียงกับพิธีทางศาสนา

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า มีการวิเคราะห์โรงเรียน จ.ราชบุรี เป็นโรคเรียนประจำหญิงล้วน มีการติดเชื้อคลัสเตอร์เดียวรวมวันนี้ 311 ราย เป็นกรณีที่โรงเรียนประจำอนุญาตให้กลับบ้านช่วงปีใหม่ และกลับมาช่วงวันที่ 14-16 ม.ค. เมื่อกลับมาจากสถานที่แตกต่างกัน นักเรียนประมาณ 570 คน มีมาตรการตรวจ ATK เบื้องต้นวันที่กลับมา ผลลบทั้งหมดรวมถึงครู

 

แต่เมื่อตรวจ ATK ครั้งที่ 2 วันที่ 23 ม.ค. พบบวกครั้งแรก 120 ราย โรงเรียนมีแผนปฏิบัติฉุกเฉินถูกต้อง โดยแจ้ง สสจ. และ รพ.ปากท่อ สั่งการทีมควบคุมโรคลงไปช่วยเหลือ แยกตัวผู้ป่วย แยกกักผู้สัมผัสเสี่ยงสูง รีบทำในทันที และลงเก็บตัวอย่าง PCR ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา

 

"รายงานล่าสุด 311 ราย จากนักเรียนและครู 576 ราย สสจ.ราชบุรีรายงานว่า เข้ารับการรักษาแล้ว รพ. 26 รายและ 285 รายเข้า รพ.สนาม เบื้องต้นมีมาตรการปิดโรงเรียน ทำความสะอาด สอบสวนโรค ทำตามมาตรการที่เหมาะสม" พญ.อภิสมัยกล่าว

 

ส่วนคำถามว่าการตรวจ ATK แม่นยำเพียงพอหรือไม่ การตรวจ ATK มีความสำคัญ แต่ต้องพึงระวังว่าอาจเกิดผลลบลวงประมาณ 5-7% คือติดเชื้อแล้วแต่การตรวจอาจไม่ไวพอทำให้ผลเป็นลบ สธ.แนะนำว่าแม้ตรวจเป็นลบ

แต่สำรวจประวัติมาจากหลากหลายพื้นที่ รวมกลุ่มจำนวนมาก หรือสัมผัสเสี่ยงสูง ขอให้กักตัวด้วย คล้ายกับสถานประกอบการที่ต้องมีแดนแยกกักก่อน 7 วัน เมื่อตรวจ ATK เป็นบวก ก็ให้กักตัว 7 วันสังเกตอาการตนเอง วันที่ 8-10 แม้ผลเป็นลบอนุญาตให้ไปทำงานได้ แต่แยกพื้นที่กับผู้อื่น และไม่ไปที่สาธารณะ เลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ

 

"การรายงานโรงเรียนติดเชื้อต่อเนื่อง ผู้ปกครองอาจลังเลไม่อยากให้ลูกหลานไปโรงเรียน สธ.และศปก.ศบค.เน้นย้ำว่าเรายังต้องอยู่ร่วมโควิดอีกสักระยะ แม้ทิศทางต่างประเทศและองค์การอนามัยโลก ใช้แนวทางอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ ศบค.ชุดใหญ่มีแนวทางผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น แต่ไม่ใช่เพราะความเสี่ยงลดลง ความเสี่ยงยังมี โควิดยังอยู่

 

แต่เราต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจและให้คนใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติที่สุด กระทรวงศึกษาธิการและผอ.ศปก.ศบค.จึงหารือเร่งด่วนในการติดตามมาตรการสถานศึกษาปลอดโควิด ซึ่งมีมาตรการอยู่แล้วแต่ต้องเข้มงวด" พญ.อภิสมัยกล่าว

 

ถามถึงกรณี Test&Go วันที่ 1 ก.พ.เป็นการลงทะเบียนหรือให้เข้ามา พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เป็นการเริ่มลงทะเบียนทั้งคนไทยกลับบ้านหรือนักท่องเที่ยว จะมีการะบวรการประเมินตรวจสอบคุณสมบัติ ใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน เช่น 3 วันประเมินสำเร็จให้เดินทางได้ แต่จะมีความเข้มงวดตรวจสอบหลักฐานการฉีดวัคซีนครบ ตรวจสอบการชำระค่ามี่พักถูกไหม เป็นโรงแรม SHA+หรือไม่ นักท่องเที่ยวจึงเดินทางเข้ามาได้

 

และถูกกำหนดด้วยมาตรการเข้มงวด และปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขตามที่กำหนด คือตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ให้ได้ทั้งหมด เรามี รพ.คู่ปฏิบัติการตรวจ RT-PCR 30 กว่าโรงทั่วประเทศ จะอ้างว่าไม่ไปตรวจเพระาไปจังหวัดอื่นไม่ได้ ต้องกำกับโดยพื้นที่อย่างเข้มงวด เมื่อพบการติดเชื้อจะมีประกันคุ้มครองครอบคลุมการรักษาอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่เป้นภาระกับบ้านเรา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง