รีเซต

สธ.ขู่เที่ยวสงกรานต์ไม่ระวัง! อาจเจอโควิดวันละแสนราย วธ.โยน กทม./จว.เคาะจัดเล่นสาดน้ำ

สธ.ขู่เที่ยวสงกรานต์ไม่ระวัง! อาจเจอโควิดวันละแสนราย วธ.โยน กทม./จว.เคาะจัดเล่นสาดน้ำ
มติชน
25 มีนาคม 2565 ( 16:42 )
50

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงมาตรการสร้างความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า ในอีก 3 สัปดาห์จากนี้จะเข้าสู่ช่วงสงกรานต์ ขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เฉลี่ย 2 หมื่นรายต่อวัน หลายคนจึงวิตกกังวล ซึ่งผลสำรวจของอนามัยโพล (Anamai Event Poll) ระหว่างวันที่ 13-24 มีนาคม 2565 ประเด็นความกังวลต่อสถานการณ์ พบ กังวลร้อยละ 77 เหตุผลที่กังวลมากสุดคือ อาจติดเชื้อจากการรวมกลุ่มในสถานที่ต่างๆ ตามด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังสูงอยู่ และอาจติดเชื้อจากการรวมกลุ่มสังสรรค์ในครอบครัว/บ้าน ส่วนไม่กังวล ร้อยละ 23 เพราะมั่นใจป้องกันตนเองได้ดี ไม่ได้ไปสถานที่เสี่ยง และอยากใช้ชีวิตตามปกติ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สถานที่ที่ประชาชนกังวลจะมีความเสี่ยงสูงที่สุดคือ ร้านอาหาร ร้อยละ 61 ตามด้วยสถานที่ท่องเที่ยว ร้อยละ 55 ห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 54 สถานที่จัดกิจกรรมอีเว้นต์งานสงกรานต์ ร้อยละ 53 ขนส่งสาธารณะ ร้อยละ 53 ห้องน้ำสาธารณะ ร้อยละ 52 ส่วนแผนกิจกรรมที่จะทำช่วงสงกรานต์ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 50 อยู่บ้าน ร้อยละ 34 ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระที่วัด ร้อยละ 31 รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และ ร้อยละ 22 สังสรรค์กินข้าวกับครอบครัว/เพื่อน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หากพิจารณาสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้คาดว่ายังคงมีการระบาดต่อเนื่อง และจะอยู่ในระดับสูงคงตัวช่วงเทศกาล เนื่องจากมีการเคลื่อนผู้คนจำนวนมาก มีกิจกรรมทั้งในครอบครัวและนอกบ้าน และมีกิจกรรมเสี่ยง จะพบผู้ติดเชื้อทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่มก้อนจากผลพวงสงกรานต์

“หากเราดำเนินมาตรการได้ดีทั้ง Covid-19 free settings และมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด ไม่ย่อหย่อนในมาตรการ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ตามฉากทัศน์จะอยู่ระหว่างเส้นสีเขียวถึงเส้นสีเหลือง คือ วันละ 2-5 หมื่นราย แต่หากเราไม่ดำเนินมาตรการต่างๆ รวมถึงผ่อนคลายการป้องกันโรค ก็จะพุ่งเป็นเส้นแดงถึงแสนรายต่อวันได้ แต่เชื่อมั่นในมาตรการต่างๆ ที่เราดำเนินการอย่างเคร่งครัดจะสามารถรับมือได้ ต้องฝากเน้นย้ำการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด หลีกเลี่ยงไปสถานที่เสี่ยงหรือทำกิจกรรมเสี่ยง และตรวจ ATK เมื่อสงสัย โดยเฉพาะกลุ่มที่น่าเป็นห่วงสุดคือ ผู้สูงอายุที่มีลูกหลานกลับไปเยี่ยม และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง ขอให้รับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ด้าน นายสมชาย ตู้แก้ว ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจัยที่เอื้อต่อการจัดงานสงกรานต์ในปีนี้ เนื่องจากประชาชนได้รับวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น เชื้อไวรัสลดระดับความรุนแรง มีการผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเตรียมพร้อมปรับวิถีชีวิตเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) กิจกรรมรวมกลุ่มที่จัดได้ในครอบครัวคือ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพร รับประทานอาหารร่วมกัน แต่ให้จัดในพื้นที่โล่งระบายอากาศที่ดี ผู้ร่วมกิจกรรมสวมหน้ากาก งดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด งดใช้สิ่งของร่วม ใช้เวลาจัดกิกรรมให้น้อยสุด

นายสมชาย กล่าวว่า กิจกรรมที่สามารถจัดได้ภายในชุมชน ต้องแจ้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) หรือ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) รับทราบเพื่อกำกับติดตามอย่างเหมาะสม เช่น สรงน้ำพระ โดยขอให้นำอุปกรณ์ส่วนตัวไปเอง งดนำน้ำที่สรงแล้วไปใช้ต่อ ทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัว สำหรับกิจกรรมรวมกลุ่มขนาดใหญ่ จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เช่น ประเพณีหรือการละเล่นท้องถิ่น ขบวนแห่ เล่นน้ำ การแสดงดนตรี และการแสดงทางวัฒนธรรม

กิจกรรมที่ห้ามทำคือ ปาร์ตี้โฟม ประแป้ง ดื่มหรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การร่วมกิจกรรมต่างๆ ให้ยึดหลัก Covid-19 free settings มาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด หลังกลับจากเทศกาลให้สังเกตอาการตนเอง 7-10 วัน ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA หากพบมีอาการมีความเสี่ยงให้ตรวจ ATK ผลเป็นลบให้ตรวจซ้ำเมื่อครบ 7 วัน หรือมีอาการ เลี่ยงพบปะผู้คนโดยไม่จำเป็น และทำงานที่บ้าน” นายสมชาย กล่าว

นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมที่ถนนข้าวสาร ถนนข้าวเหนียว จัดได้หรือไม่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร/จังหวัด วธ.ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ เพียงกำกับรณรงค์การจัดกิจกรรมภายใต้วิถีประเพณีวัฒนธรรมไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง