สงครามโควิด นาฏกรรมชีวิต คำในใจ 'แท็กซี่-ชุมชน-คนค้าขาย'
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเอาชาวโซเชียลกลายเป็นเชฟเข้าครัวปรุงอาหารรับประทานในช่วงกักตัว กลายเป็นแฟนซีรีส์เกาหลีคนใหม่ สมัครเน็ตฟลิกซ์เพลินใจ กลายเป็นแดนเซอร์สร้างความบันเทิงให้เพื่อนในโลกออนไลน์ด้วยลีลาการเต้นสุดปัง
ในนาที ชั่วโมง วัน และสัปดาห์เดียวกันยังมีผู้คนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับห้วงเวลาอันยากลำบากเพื่อปากท้อง ครอบครัว เป็นนาฏกรรมของชีวิตที่ต้องเต้นตามจังหวะเร่งเร้าในสมรภูมิไวรัสที่ทำให้โลกลุกเป็นไฟ
นี่คือส่วนหนึ่งของถ้อยคำในใจจากปากชาวบ้าน ผู้รับจ้าง คนค้าขาย และชุมชนแออัด ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบแบบรายวันในวิกฤตการณ์ครั้งนี้
‘แท็กซี่กะดึก’ ในค่ำคืนเคอร์ฟิว
‘ได้แค่ร้อยสองร้อย ดีกว่าไม่มีกิน’
สุพัฒน์ วงษ์ลา อายุ 54 ปี คนขับแท็กซี่กะดึก ภูมิลำเนาจังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันพักในห้องเช่าย่านวุฒากาศ ตลาดพลู กรุงเทพฯ
“ปกติขับแท็กซี่ช่วง 5 โมงเย็นถึงตี 5 พอรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ก็ขยับมาขับบ่าย 5 เลิกก่อน 4 ทุ่มจะได้เข้าบ้านทัน เคอร์ฟิวคืนแรกได้ไม่กี่ร้อย หักค่าเช่าแล้วคงเหลือแค่พอกินไปวันๆ แต่เข้าใจสถานการณ์ ก็พร้อมให้ความร่วมมือ พอมีโควิดรายได้ลดลงมากกว่าครึ่ง เพราะคนไม่ขึ้นแท็กซี่ แต่ชีวิตต้องสู้ ได้แค่ 100-200 ก็ดีกว่าไม่มี
เครียด แต่จะทำยังไงได้ ก็ต้องสู้ไป ไม่มีกินก็กินมาม่า ค่าเช่าห้องรวมค่าน้ำค่าไฟราว 2,300-2,400 ยังมืดสนิทอยู่ มีลูกสาวเรียน ป.4 อีกคนต้องดูแล ผมแยกทางกับภรรยาแต่ส่งลูกเรียนและให้เงินวันละ 70-80 บาท ถ้าเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงก็ต้องทำตาม แต่ยังไม่รู้จะหารายได้อย่างไร ลงทะเบียนขอรับเงิน 5,000 ไปแล้ว ไม่รู้จะได้ไหม มีรถเก๋งเก่าๆ อยู่คันหนึ่ง เอาไปรีไฟแนนซ์ไว้ ก็ยังไม่รู้ผล
ชีวิตคนขับแท็กซี่เสี่ยงมาก ผมพยายามป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยตลอด มีเจลล้างมือ แอลกอฮอล์ ทิชชู่เปียกพร้อม คิดจะทำประกันโควิดด้วย แต่ยังไม่มีเงิน โทรไปถาม เขาบอกว่าแบบ 200 กว่าบาท เต็มหมดแล้ว เหลือแต่ 400 กว่าบาท จะกินไปวันๆ ยังไม่มี รถก็เช่าเขาขับ ทำอาชีพอื่นไม่เป็น เป็นแต่ขับรถ สมัยก่อนขับให้เจ้าของบริษัท แล้วออกมาขับแท็กซี่ตอนปี 2546 ผมหวังว่าโควิดจะจบเร็วๆ เพราะถ้านานไปก็ไม่รู้ว่าชีวิตต่อไปจะเป็นอย่างไร”
เจ๊อ้อย ‘ตามมาสั่ง’ ในวันที่แทบไม่มีคนสั่ง
‘ขายไม่ได้ วัตถุดิบแพงขึ้น ค่าเช่าที่ไม่ลด อยากกลับบ้านแต่กลับไม่ได้’
เจ๊อ้อย (สงวนชื่อ-นามสกุล) ร้านอ้อยตามมาสั่งริมถนนวิภาวดี-รังสิต หน้าวัดเสมียนนารี
“ผลกระทบส่วนใหญ่คือไม่มีลูกค้า ขายของไม่ได้ มันแย่มากๆ เครียด แต่หยุดขายไม่ได้ เพราะเงินทดแทนอะไรก็ไม่มีให้ ถามว่าร้านค้ามีกระทบมากไหม มาก เพราะเป็นอาชีพที่เราต้องทำ ถ้าเราไม่ขายก็ไม่ได้ อยู่ที่ว่าขายได้มากหรือน้อยเท่านั้นเอง แต่นี่ไม่มีลูกค้าเลย เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพวกแท็กซี่ซึ่งเขาหยุดวิ่งไปเยอะ รายได้เราหายไปจากตรงนั้นเยอะ ถามว่าขายได้เหมือนเมื่อก่อนไหม ไม่ได้ ตอนนี้ขายได้วันละพันกว่าบาท เพราะตอนนี้คนไม่ค่อยออกนอกบ้าน แต่เราต้องขาย ไม่อย่างนั้นก็อยู่กันไม่ได้ เรามีค่าใช้จ่าย ค่าเช่าก็ไม่ลด ไหนจะค่าห้องและอื่นๆ อีก เรามีผลกระทบหลายๆ ด้าน ของแพงขึ้น เตรียมของมาขายน้อยลง
พอประกาศเคอร์ฟิวมีผลเพราะจำนวนรถน้อยลง คอยนาน กว่าจะได้ไปตลาดซื้อของ ก็ต้องปรับเปลี่ยนเวลาเปิดร้าน แล้วก็ปิดเร็วขึ้น คือปิดบ่าย 2-3 เพราะไม่มีลูกค้าแล้ว จากปกติเก็บร้าน 4-5 โมงเย็น รายได้ 2-3 ชั่วโมง ตรงนี้ก็หดหายไปตั้งแต่ไวรัสระบาด พอขายของไม่ได้ก็อยากกลับบ้าน เพราะถ้าอยู่ขายไปก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ถ้ากลับบ้านนอกก็สบายๆ แต่กลับไม่ได้ ก็ต้องอยู่ สู้กันต่อไป
ที่ร้านไม่ได้ร่วมบริการกับบริการส่งอาหารดิลิเวอรี เพราะเขาหัก 30 เปอร์เซ็นต์ แต่เราขายข้าว 40-50 บาทมันไม่ได้ ถ้าต้องเสียเพิ่มให้เขาอีกก็ไม่ไหว
ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 ไปแล้ว แต่เขาบอกว่าร้านค้าจะไม่ได้ นี่คือปัญหาที่ทุกคนบ่นหมด เขาให้ถ่ายรูปร้าน แต่ไม่ได้บอกว่าให้ส่งภาพที่ไหน ในเว็บก็ไม่มีบอก
รัฐบาลมาไม่ถูกทาง ทำไมเขาไม่มาถามเราก่อนว่า บรรดามาตรการที่ออกมา โดยเฉพาะกับแม่ค้าควรได้สิทธิก่อนหรือไม่ เพราะผลกระทบมีกันทุกสายงาน ทุกสายอาชีพ อย่างลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พัน เราเองก็อาชีพอิสระ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เพราะต้องส่งรูปด้วย มันไม่ใช่ แล้วจะเอามาตรฐานไหนว่าเราอยู่ตรงนี้ เห็นบอกว่าจะมีคนออกมาดู แล้วเมื่อไหร่เราจะได้
ยิ่งถ้าเคอร์ฟิว 3 เดือน ประชาชนตายก่อนอยู่แล้ว ในเมื่อรัฐบาลทำอะไรช้าขนาดนี้ ดังนั้น ถ้าจะสั่งปิด แค่ 10 วันแรกก็ต้องหามาตรการเยียวยาประชาชนแล้ว ไม่ใช่ประกาศปุ๊บ คนหนีออกต่างจังหวัด ทั้งๆ ที่มันไม่ควรเป็นแบบนี้”
กาแฟลุงดำเปรี้ยวซ่า
เมื่อโควิดทำคนซา ‘บางวันผมก็นั่งเงียบๆ’
ชวลิต บุปผา หรือลุงดำ อายุ 62 ปี เจ้าของร้านกาแฟลุงดำเปรี้ยวซ่า ต้นตำรับเกล็ดหิมะ ประชานิเวศน์ 1
“ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ยังกระทบไม่มาก เพียงแต่คนหายไป เราขายน้ำก็พอได้อยู่ ไม่กระทบเท่ากับแม่ค้าก๋วยเตี๋ยว แม่ค้าขายข้าว ที่พอมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ให้คนซื้อนั่งกิน คนก็น้อยลง ของเราแค่ส่วนน้อย แต่ของเขามันมากเกิน น่าสงสาร เพราะรายได้มันหาย รายจ่ายมันมี ก็ต้องปิดตัวเองไปโดยปริยาย
ถ้าประกาศไม่ให้นั่งกินแบบนี้อยู่นานเท่าไหร่ แม่ค้าก็เริ่มเจ๊งไปเท่านั้น อย่างร้านก๋วยเตี๋ยวข้างๆ เคยขายได้วันละ 5 พัน เดี๋ยวนี้เหลือ 1-2 พัน เพราะเปลี่ยนมาเป็นแบบใส่ถุง ใครเขาจะกิน ถ้าเราไปนั่งกินในร้านก็โอเค แต่อยู่ๆ ใส่ถุงก็ต้องเตรียมถ้วยชามช้อนมาอีก อย่างของผมไม่ได้นั่งกิน เพราะเอาน้ำใส่แก้วไปอยู่แล้ว ก็มีผลกระทบบ้างที่คนหายไป แทนที่คนมานั่งกินข้าว กินก๋วยเตี๋ยว แล้วเราจะได้ลูกค้าบ้าง เรากลับไม่ได้เพราะไม่มีคนมา
ผมเป็นคนนนทบุรี เราค้าขายอาหารก็ต้องออกมาขายข้างนอก ถ้าขายอยู่กับบ้านจะขายให้ใคร ไม่ได้ร่วมรายการกับบริการดิลิเวอรี ขายได้เท่าที่มีลูกค้ามา ไม่มีลูกค้าก็ขายไม่ได้ บางวันผมก็นั่งเงียบๆ เรื่องรายได้ก็ลดลงนิดหน่อย แต่ถ้ารัฐบาลยังใช้และประกาศอยู่แบบนี้ก็คงลดลงเรื่อยๆ”
ป้าหมวย ชุมชนคลองเตย
‘คนหิวมันทนไม่ได้ ใครไม่เคยลำบาก ไม่รู้หรอกว่าคนจนลำบากแค่ไหน’
นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ หรือป้าหมวย อายุ 72 ปี นักสังคมสงเคราะห์ ที่ปรึกษามูลนิธิดวงประทีป และประธานมูลนิธิพร้อมใจ ชาวชุมชนคลองเตย
“ป้าเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ต้องลงไปเยี่ยมเด็กและผู้สูงอายุ และยังเป็นนักพัฒนาด้วย ซึ่งต้องไปคุยเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย ทั้งคลองเตยและยานนาวา ที่ขณะนี้มีผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องการไล่ที่ เราก็ต้องลงไปพูดคุย ให้กำลังใจชาวบ้าน กลายเป็นว่าลงไปไม่ได้ เยี่ยมคนป่วยติดเตียง เยี่ยมเด็กไม่ได้ ตัวเองก็ต้องเก็บตัวอีกเพราะอายุมากแล้ว
ปกติจะได้ค่าอาสาสมัคร เพราะเกษียณแล้ว เมื่อเราไม่เข้าทำงาน จะไปรับค่าอาสาสมัครก็ดูไม่ดี ต้องหยุดรับเงิน เก็บตัวเอง ไม่สามารถลงไปเยี่ยมใครได้ตามแผนที่เราตั้งไว้ ตอนนี้อยู่คลองเตย ออกจากบ้านไม่ได้
ส่วนชุมชนพี่น้องคลองเตย วัยรุ่น และแรงงานรายวัน กระทบเยอะมากๆ เขาเลิกจ้างพวกเขาก็ไม่มีกิน ตอนนี้เลยทำโครงการปันอิ่ม ร่วมกับ กลุ่มเยาวชน ‘คลองเตยดีจัง’ รับบริจาคเงินเพื่อที่จะซื้อข้าวสารให้คนที่หาเช้ากินค่ำ แรงงานรายวัน ที่ทำงานไม่ได้ เพราะไม่มีงาน แม้แต่คนจนในชุมชนที่ไปล้างชามร้านก๋วยเตี๋ยว ได้ 300 บาท แต่ตอนนี้ไปนั่งกินไม่ได้ ต้องหิ้วกลับบ้าน คนเหล่านี้ก็ตกงาน ไม่มีโอกาสไปล้างชาม ไม่มีโอกาสไปเสิร์ฟอาหารให้กับร้านค้า
ตอนนี้อยู่ที่บ้าน เลยทำโครงการเพื่อดูแลเรื่องอาหาร รับบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย และใช้วิธีให้ความรู้ผ่านเสียงตามสาย
คลองเตยน่ารักมาก เขาระวังตัวเอง ให้ความร่วมมือดี เพราะโรคนี้ใครก็ช่วยเราไม่ได้ เราต้องช่วยตัวเอง ต้องอยู่ที่บ้าน แม้แต่อยู่ที่บ้าน ลูกหลานเข้ามาก็ต้องให้ความรู้ ว่าโควิดแพร่กระจายอย่างไร มูลนิธิดวงประทีปก็พยายามทำโครงการให้ความรู้ ประชุมผู้นำ ว่าเราต้องช่วยกันอย่างไร เจ้าอาวาสวัดสะพาน เขตคลองเตย สาธารณสุข 41 ก็เรียกพวกเราผู้นำมาคุยกัน กระจายความรู้ให้กับเพื่อนในชุมชน หาทางให้เขาได้กินอาหาร ทั้งเด็กเยาวชน ตอนนี้เรากำลังเริ่มหางานให้คนในบ้านได้ทำ เพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ด้วย
คนคลองเตยขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับจ้างตามร้านค้า ช่วยเสิร์ฟอาหาร ล้างชาม ซักเสื้อผ้า ประมาณนี้ พอสังคมหยุด พวกเขาก็ไม่มีรายได้ พอไม่มีรายได้แล้ว ไม่มีคนช่วยเหลือ เขาก็จะลักเล็กขโมยน้อย เราก็กังวลเรื่องนี้ ต้องพยายาม หาผู้ใหญ่ใจดีมาช่วย เราได้รับบริจาคหน้าหน้ากากอนามัยบ้าง ข้าวสารบ้าง และเงินสดไปซื้อข้าวสาร
ด้วยเป็นประธานมูลนิธิพร้อมใจพัฒนาด้วย จึงพยายามประชาสัมพันธ์รับบริจาค ซื้อข้าวสารแจก ทำเป็นถุงยังชีพ มีข้าวสาร 5 กก. ปลากระป๋อง มาม่า ของแห้ง โดยมีการลงสำรวจด้วยว่าใครต้องช่วยเป็นอันดับหนึ่ง
อันดับ 1 คือ คนที่ไม่สามารถหาเงินได้เลย อยู่บ้านเลี้ยงลูก ซื้อข้าวถ้วยที่เขานึ่งแล้ว กินเป็นมื้อๆ ไป ซื้อน้ำขวดละบาท ไม่มีของตุนไว้แม้แต่นิดเดียว
อันดับ 2 ยังสามารถช่วยเหลือตัวเอง ยังมีเงินเหลือบ้าง ซื้อข้าวกินได้อีก 1-2 วัน
อันดับ 3 ยังทนได้อีก 1-2 เดือน สามารถซื้ออาหาร ซื้อข้าวสารได้ 5 กก.
ตอนนี้ มีคณะกรรมการสิทธิเด็ก มาช่วยส่วนตัว คนละ 500 1,000 2,000 บาท บริจาคเข้ามูลนิธิ มูลนิธิพร้อมใจยังเล็ก ยังไม่ได้ใบประกาศ จึงยังสามารถออกใบเสร็จ ให้ผู้บริจาคนำไป ลดหย่อนภาษีได้ เงินจึงเข้ามาไม่มาก ตอนนี้ยังไม่ถึง 100,000 บาท ถามว่าพอไหม ไม่พอหรอก เราจึงทำเป็นเครือข่าย ร่วมกับกลุ่มเยาวชน คลองเตยดีจัง ซึ่งเขาก็ได้มา 140,000 บาท ซื้อของมาแจก
การอยู่บ้าน ก็ทนลำบากค่ะ แน่นอนสมัยก่อนคนจนระดับหนึ่ง หรือคนด้อยโอกาส เขาร้อนก็ไปห้าง แต่ตอนนี้ไปห้างไม่ได้ ไปก็เสี่ยง ต้องทน ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราต้องช่วยกัน พยายามให้ความรู้กับชุมชนว่าต้องช่วยเหลือตัวเอง ถ้าเราไม่ช่วยเหลือตัวเอง ก็ไม่มีใครช่วยเหลือได้ เพราะเป็นโรคที่ไม่เห็นตัว อันตรายมาก บางบ้านอยู่กันประมาณ 4-5 คน อย่างที่บ้านปกติอยู่ 7 คน หลานทำงาน ก็เอางานมาทำที่บ้าน
ในการให้ความรู้ชาวบ้าน ตอนนี้ทีมงานของเราที่ลงไปสำรวจกลุ่มคนเหล่านี้พิมพ์เอกสารใส่ลงไปในถุงยังชีพ เพื่อให้เขามีความรู้ แล้วก็มีเสียงตามสายให้ความรู้อยู่ค่อนข้างถี่ มูลนิธิและองค์กรต่างๆ ในคลองเตย ก็ออกมาช่วยกัน โดยเฉพาะ หลวงพ่อ วัดสะพาน และคุณครูประทีป
อีกอย่างถ้าคนในชุมชนติดขึ้นมา การรักษาก็ลำบาก แต่เชื่อมั่นว่าคนคลองเตยตอนนี้ ทุกคนป้องกันตัวเอง ยังไม่พบว่าคนรอบข้างติดเชื้อ เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าคนคลองเตยทุกคนให้ความร่วมมือในการป้องกันตนเองจริงๆ
ความคาดหวังจากภาครัฐ (ถอนหายใจเฮือกใหญ่) ไม่อยากพูดถึงเลย ภาครัฐคิดช้ามาก มันจึงทำให้เกิดสถานการณ์อย่างนี้ จริงๆ เขาประกาศแล้วว่าเชื้อโควิดระบาด ซึ่งวันนี้เราไม่อยากจะโทษเซียนมวย โทษไม่ได้เพราะเซียนมวยก็ไม่รู้เรื่อง แต่รัฐเองล่าช้า ยังปล่อยให้เปิดเวที เชื้อก็เลยกระจาย จนทุกวันนี้คนที่มีผลกระทบที่ติดเชื้อจากเวทีมวยเพิ่มขึ้นเยอะมาก ต้องชื่นชมเซียนมวยที่ออกมาบอกความจริงกับสังคม ทำให้มีการป้องกันมากขึ้น
ใครไม่เคยลำบาก ไม่รู้หรอกว่าคนจนลำบากแค่ไหน ภาครัฐแต่ละคน ผู้บริหารประเทศ ทุกวันนี้เกิดเหตุขนาดนี้ เขาสบาย อยู่บ้านก็เย็นๆ เงินก็มีกิน แล้วคนทุกข์ยากเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่คิดช้าจะไม่เกิดอะไรอย่างนี้เลยจริงๆ
ที่ชุมชนคลองเตย ทั้งๆ คนที่เกเร ยังออกมาช่วยรณรงค์ ช่วยกันประสานงานกับภาครัฐขอให้เขามาฉีดยาฆ่าเชื้อที่ชุมชน นี่คือน้ำใจของคนจนจริงๆ แม้แต่คนที่ไม่เคยออกมาทำงานสังคม ทุกวันนี้ก็ออกมาช่วยกัน โดยเฉพาะวัยรุ่น รู้จักประสานงานกับหน่วยงานที่ออกมารณรงค์เรื่องโควิด-19 ประทับใจจริงๆ ถือเป็นเรื่องดีเรื่องหนึ่ง
คนทุกข์ยากมันต้องช่วยให้ทัน ถ้าช่วยไม่ทันคนหิวเราไปโทษเขาไม่ได้ว่าเขาเป็นขโมย เป็นโจร เพราะคนหิวมันทนไม่ได้นะ”