รีเซต

โรคเริม : หมออังกฤษอาจแพร่เชื้อโรคให้คนไข้หญิงผ่าคลอดบุตร 2 คนจนเสียชีวิต

โรคเริม : หมออังกฤษอาจแพร่เชื้อโรคให้คนไข้หญิงผ่าคลอดบุตร 2 คนจนเสียชีวิต
ข่าวสด
24 พฤศจิกายน 2564 ( 00:37 )
34

ผลการตรวจสอบของบีบีซีพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้หญิง 2 คนที่เสียชีวิตจากโรคเริม หลังจากเข้ารับการผ่าท้องคลอดบุตรได้ไม่นาน อาจได้รับเชื้อจากศัลยแพทย์คนเดียวกัน

 

แพทย์คนดังกล่าวได้ทำการผ่าคลอดให้หญิงทั้งสองในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเมื่อปี 2018

 

ทว่าหลังเกิดเหตุ ครอบครัวของผู้ตายทั้งสองรายกลับได้รับแจ้งว่า การเสียชีวิตของทั้งคู่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ส่งผลให้พวกเขาออกมาเรียกร้องให้มีการเปิดการสอบสวนเรื่องนี้

 

ด้านกองทุนโรงพยาบาลอีสต์ เคนต์ (East Kent Hospitals Trust) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินกิจการโรงพยาบาลที่เกิดเหตุทั้งสองแห่ง ระบุว่า ไม่สามารถบ่งชี้ถึงต้นตอการแพร่เชื้อโรคเริมสู่คนไข้ทั้งสองรายได้ พร้อมกับระบุว่า ศัลยแพทย์คนดังกล่าวไม่มีประวัติติดเชื้อโรคนี้

การเสียชีวิตจากการคลอดบุตรถือเป็นสิ่งที่พบได้ยากในสหราชอาณาจักร โดยข้อมูลของทางการระบุว่า ระหว่างปี 2017 - 2019 มีการคลอดบุตรกว่า 2.1 ล้านราย และมีแม่ที่เสียชีวิตภายใน 6 สัปดาห์หลังการคลอดบุตรเพียง 191 ราย

 

ส่วนการเสียชีวิตจากการติดเชื้อก่อโรคเริมที่ชื่อ เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 1 (Herpes Simplex Virus type 1 หรือ HSV-1) นั้น เป็นเรื่องที่แทบไม่เคยพบในคนสุขภาพดี โดยเชื้อชนิดนี้เป็น 1 ใน 2 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคเริม และการติดเชื้อตามปกติมักทำให้เกิดอาการเจ็บที่ปาก หรือที่อวัยวะเพศ

 

ทว่าในเดือน พ.ค. และ ก.ค. ปี 2018 กลับมีแม่อายุน้อย 2 คนที่ต้องเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดนี้

 

เกิดอะไรขึ้น

คิมเบอร์ลีย์ แซมป์สัน วัย 29 ปี เป็นช่างตัดผมที่อาศัยอยู่กับลูกสาววัย 3 ขวบที่บ้านแม่ของเธอในเมืองชายทะเลที่ชื่อ วิตส์เทเบิล ในมณฑลเคนต์

 

การตั้งครรภ์ของคิมเบอร์ลีย์ ดำเนินไปอย่างราบรื่น และในวันที่ 3 พ.ค. ปี 2018 เธอได้เดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลควีน มาเธอร์ ในเมืองมาร์เกต

 

อีเวตต์ แซมป์สัน แม่ของคิมเบอร์ลีย์ เล่าว่า "เธอ (คิมเบอร์ลีย์) คิดว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี" แต่ได้เกิดความผิดปกติขึ้น ทำให้เธอไม่สามารถคลอดลูกได้เองตามธรรมชาติ แพทย์จึงตัดสินใจผ่าคลอด

 

คิมเบอร์ลีย์ ให้กำเนิดลูกผู้ชาย แต่เธอยังต้องได้รับการให้เลือด เนื่องจากเสียเลือดมากในระหว่างการผ่าตัด 2 วันต่อมาแพทย์ได้ขอให้เธอกลับไปพักฟื้นที่บ้านพร้อมกลับลูกน้อย และถึงแม้เธอจะยังมีอาการเจ็บปวดมากจนแทบจะเดินไม่ไหว แต่เธอก็ยอมออกจากโรงพยาบาลไปพร้อมกับแม่

อีเวตต์ เล่าว่า อาการเจ็บปวดของลูกสาวกลับเลวร้ายลง แม้การสัมผัสเพียงเบา ๆ ก็ทำให้เธอกรีดร้องด้วยความทุกข์ทรมาน

 

"เธออาการทรุดลงทุกวัน เธอไม่สามารถกิน หรือนอนหลับได้"

 

แพทย์ประจำตัวของคิมเบอร์ลีย์ แนะนำให้เธอโทรขอความช่วยเหลือจากหมายเลขฉุกเฉิน จากนั้นรถพยาบาลก็มารับตัวเธอกลับไปที่โรงพยาบาล ตอนนั้นทีมแพทย์คิดว่าเธอเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จึงให้การรักษาด้วยาปฏิชีวนะ แต่มันไม่ได้ผล และอาการของเธอก็ทรุดลง

 

หลังจากนั้น คิมเบอร์ลีย์ก็เข้ารับการผ่าตัดอีกหลายครั้ง เพราะแพทย์ไม่สามารถบ่งชี้สาเหตุการป่วย และรักษาอาการติดเชื้อของเธอได้ หลังจากเธอกลับเข้าโรงพยาบาลครั้งที่สองได้ 8 วัน นักจุลชีววิทยาได้แนะนำให้ลองใช้ยาต้านไวรัส "อะไซโคลเวียร์" (Aciclovir) ที่ใช้รักษาโรคเริม

 

คิมเบอร์ลีย์ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลคิงส์ คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ซึ่งเธอได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโรคเริม

 

ในขณะที่เธอรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยอาการวิกฤต อีเวตต์ได้รับแจ้งว่าลูกสาวของเธอจะมีชีวิตอยู่ต่ออีกเพียง "ไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน"

 

ในวันที่ 22 พ.ค. หรือหลังจากที่คลอดลูกได้ไม่ถึงเดือน คิมเบอร์ลีย์ก็เสียชีวิตลง

B

การเสียชีวิตจากโรคเริมของคนไข้หนึ่งรายก็ถือว่าพบได้ยากแล้ว แต่เพียง 6 สัปดาห์ต่อมา ซาแมนธา มัลคาฮี พยาบาลผู้ดูแลเด็กเล็ก วัย 32 ปี ก็เสียชีวิตลงด้วยอาการเดียวกัน

 

ซาแมนธา อาศัยอยู่กับสามีที่ชื่อไรอัน ห่างจากคิมเบอร์ลีย์เพียง 32 กม. แม่ของเธอเล่าว่าลูกสาวตื่นเต้นกับการมีลูกคนแรกมาก

 

ทว่าช่วงเวลาแห่งความสุขได้กลายเป็นโศกนาฏกรรม

 

ซาแมนธาเจ็บท้องและต้องคลอดลูกก่อนกำหนด 4 สัปดาห์ โดยในเดือน ก.ค. ปี 2018 เธอเข้าโรงพยาบาลวิลเลียม ฮาร์วีย์ ในเมืองแอชฟอร์ด ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับโรงพยาบาลที่คิมเบอร์ลีย์ไปคลอดลูก

 

ทว่าหลังจากเจ็บท้องคลอดอยู่ 17 ชั่วโมง เธอก็ยังไม่สามารถคลอดตามธรรมชาติได้ แพทย์จึงใช้วิธีการผ่าคลอด ซึ่งลูกสาวของเธอก็คลอดออกมาอย่างปลอดภัย

 

แต่เนื่องจากแพทย์กังวลว่าเธอจะเกิดอาการภาวะครรภ์เป็นพิษ (pre-eclampsia) จึงให้เธออยู่ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ

 

3 วันหลังจากนั้นอาการของซาแมนธาเริ่มทรุดลง แม้จะไม่มีสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษก็ตาม ท้องของเธอเริ่มบวม มีไข้และความดันโลหิตสูง

 

ซาแมนธามีอาการบวม จนนิโคลา ฟอสเตอร์ แม่ของเธอบอกว่า ลูกสาวขาบวมราวกับ "ขาช้าง" และเช่นเดียวกับคิมเบอร์ลีย์ แพทย์คิดว่า ซาแมนธา มีภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตจากเชื้อแบคทีเรีย จึงให้ยาปฏิชีวนะแก่เธอ แต่มันก็ไม่ได้ผล

 

ในช่วงหนึ่งทีมแพทย์เสนอให้ลองใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาเธอ แต่แผนกจุลชีววิทยาแนะนำให้รักษาเธอด้วยยาปฏิชีวนะต่อไป

อาการของซาแมนธาทรุดลงอย่างรวดเร็ว อวัยวะต่าง ๆ เริ่มหยุดทำงาน แพทย์จึงนำตัวเธอเข้ารักษาในหอผู้ป่วยอาการวิกฤต แต่เธอก็มีชีวิตอยู่ได้เพียง 4 วัน

 

ผลชันสูตร

การชันสูตรศพพบว่า ซาแมนธาเสียชีวิตจากการที่อวัยวะหลายส่วนล้มเหลวจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 1 อย่างรุนแรง

 

นอกจากนี้ ยังไม่พบว่าลูกที่เพิ่งคลอดของผู้เสียชีวิตทั้งสองติดเชื้อไวรัสดังกล่าวด้วย และจากการตรวจพบว่าหญิงทั้งสองติดเชื้อโรคเริมเป็นครั้งแรก

 

โดยการวิเคราะห์ของโรงพยาบาลที่ตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ของพวกเธอพบว่า ทั้งคู่ไม่มีแอนติบอดี หรือสารภูมิต้านทานตามธรรมชาติต่อไวรัสก่อโรคเริม ประกอบกับการที่พวกเธออยู่ในช่วงท้องแก่จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง ส่งผลให้มีความเสี่ยงมากขึ้นจากการติดเชื้อโรคเริมอย่างรุนแรง

 


รู้จักโรคเริม

  • เชื้อไวรัสก่อโรคเริมมักแพร่สู่กันจากการสัมผัสผิวหนังของผู้ติดเชื้อ
  • การติดโรคเริมเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป โดยเกือบ 70% ของผู้ใหญ่จะได้รับเชื้อไวรัสเริม 1 ใน 2 ชนิดภายในอายุ 25 ปี
  • ผู้ติดเชื้อบางรายจะมีเริมขึ้นที่ริมฝีปาก หรือเริมที่อวัยวะเพศ แต่ราว 2 ใน 3 จะไม่มีอาการใด ๆ หรือมีอาการไม่รุนแรง

แหล่งข้อมูล : สมาคมเชื้อไวรัสโรคเริมแห่งสหราชอาณาจักร

......................

หลังจากคิมเบอร์ลีย์และซาแมนธาเสียชีวิตได้กว่า 1 ปี ครอบครัวของทั้งคู่ต่างได้รับจดหมายจากแพทย์ชันสูตรศพว่าจะไม่มีการเปิดการสอบสวนใด ๆ ในจดหมายยอมรับว่ามีการเสียชีวิตในลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้น แต่ระบุว่า "ไม่มีความเชื่อมโยงกัน" ระหว่างการเสียชีวิตทั้งสองกรณี พร้อมกับอ้างอิงข้อสันนิษฐานของพยาธิแพทย์ที่ตรวจสอบการเสียชีวิตว่า ผู้ตายทั้งสองติดเชื้อโรคเริม "ก่อนหน้าที่จะเข้าโรงพยาบาล"

 

บีบีซีเริ่มตรวจสอบแผนกสูติกรรมของกองทุนโรงพยาบาลอีสต์ เคนต์ ในปี 2019 เนื่องจากมีการเสียชีวิตที่ต้องสงสัยของทารกหลายรายในแผนกนี้ และบีบีซีพบว่ามีกรณีที่ทารกเสียชีวิตจากสาเหตุที่สามารถป้องกันได้เพิ่ม ซึ่งเป็นขณะเดียวกับที่กำลังมีการตรวจสอบการเสียชีวิตเหล่านี้ตามคำสั่งของรัฐบาล

 

ทีมข่าวบีบีซีได้ทราบถึงกรณีการเสียชีวิตของคิมเบอร์ลีย์และซาแมนธาเมื่อช่วงต้นปี 2021 และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับครอบครัวเพื่อค้นหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเธอ

B

การตรวจสอบของบีบีซี พบความเชื่อมโยงระหว่างการเสียชีวิตของหญิงทั้งสองจากอีเมลของสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England หรือ PHE) ที่ตรวจสอบหาต้นตอของเชื้อโรคเริมที่แพร่สู่คิมเบอร์ลีย์และซาแมนธาเช่นกัน

 

โดยอีเมลฉบับหนึ่งของเจ้าหน้าที่ PHE ที่สื่อสารกับกองทุนโรงพยาบาลอีสต์ เคนต์ หน่วยงานในสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) และห้องแล็บเอกชนที่ชื่อ Micropathology ที่ร่วมในการตรวจสอบดังกล่าว พบว่า มีแพทย์ 2 คนเข้าร่วมการผ่าตัดคลอดให้กับทั้งคิมเบอร์ลีย์และซาแมนธา

 

บุคคลในอีเมลได้แสดงความกังวลว่าความเชื่อมโยงนี้อาจเป็นต้นตอของการแพร่เชื้อ และการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของ Micropathology ก็พบว่าเชื้อไวรัสโรคเริมบางส่วนที่พบในผู้เสียชีวิตทั้งสองรายเหมือนกัน โดยในอีเมลของ PHE ระบุว่า ไวรัสที่พบเป็น "ชนิดหายาก" เมื่อเทียบกับตัวอย่างไวรัสที่มีการเก็บบันทึกข้อมูลไว้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

เจ้าหน้าที่ของ Micropathology ระบุว่า กรณีของหญิงทั้งสอง "ดูเหมือนจะเป็นการติดเชื้อในระหว่างการผ่าตัด" พร้อมขอให้ต้นสังกัดของโรงพยาบาลทั้งสองแห่งเก็บเชื้อจากแพทย์ผู้ต้องสงสัยจะแพร่เชื้อในการผ่าตัดนี้

 

บีบีซีพบว่า กองทุนโรงพยาบาลอีสต์ เคนต์ ไม่ได้ส่งมอบตัวอย่างเชื้อให้ตรวจสอบแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีการแจ้งข้อมูลเหล่านี้ให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ทราบ

 

ในเวลาต่อมา บีบีซีได้ติดต่อไปยัง นพ.ปีเตอร์ กรีนเฮาส์ ซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพทางเพศในสหราชอาณาจักรมาเกือบ 30 ปี และมีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับไวรัสก่อโรคเริม เพื่อให้ช่วยประเมินกรณีที่เกิดขึ้น

 

หลังจากได้ดูหลักฐานต่าง ๆ เขากล่าวว่า "คุณไม่สามารถทราบได้แน่ชัด 100% ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกรณีทั้งสอง" แต่ "จากหลักฐานที่เรามี ก็เป็นไปได้น้อยมากที่หญิงทั้งสองจะติดเชื้อไวรัสก่อนที่จะเข้าโรงพยาบาล" ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานที่ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของพยาธิแพทย์ที่สรุปออกมาก่อนหน้านี้

 

"มีความเป็นไปได้มากว่าพวกเธอจะได้รับเชื้อจากที่โรงพยาบาล และมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะติดเชื้อจากชุมชนหรือจากการมีเพศสัมพันธ์ เพราะไม่พบรอยโรคที่ใบหน้าหรืออวัยวะเพศเลย"

 

หลังจากได้ดูเอกสารต่าง ๆ ที่บีบีซีสืบค้นได้ นพ.กรีนเฮาส์ ได้ตั้งข้อสันนิษฐานโดยเชื่อว่า มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่การติดเชื้อของผู้หญิงทั้งสองจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญในระหว่างที่แพทย์กำลังผ่าตัดทำคลอดให้พวกเธอ

 

นพ.กรีนเฮาส์ ระบุว่า เป็นไปได้ที่ศัลยแพทย์คนดังกล่าวอาจเป็นเริมที่นิ้วมือ (herpetic whitlow) และอาจ "แพร่เชื้อโรคเริมเข้าสู่ช่องท้องของผู้หญิงทั้งสองโดยตรง"

 

กรณีนี้จะทำให้เชื้อเข้าสู่ช่องท้องอย่างรวดเร็ว และช่วยอธิบายว่าทำไมคนไข้ทั้งสองจึงไม่มีรอยโรคภายนอกปรากฏให้เห็น แบบที่เกิดขึ้นตามปกติของผู้ติดเชื้อโรคเริม

B

ข้อมูลจากเว็บไซต์ NHS ระบุว่า ผู้เป็นโรคเริมที่นิ้วมือจะแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไปตั้งแต่เป็นตุ่มขนาดเล็กไปจนถึงบาดแผลเปิด ซึ่งหมายความว่าผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการที่จะสังเกตเห็นได้โดยง่าย

 

แม้แพทย์ทุกคนจะสวมถุงมือในระหว่างการผ่าตัด แต่ นพ.กรีนเฮาส์ เชื่อว่าถุงมืออาจปริแตกในระหว่างการผ่าตัด จนทำให้เชื้อแพร่สู่คนไข้

 

บีบีซีได้ติดต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญอื่นอีก 4 คนเพื่อให้ช่วยดูเรื่องนี้ และทุกคนต่างสนับสนุนข้อสันนิษฐานของ นพ.กรีนเฮาส์

 

ในแถลงการณ์ของกองทุนโรงพยาบาลอีสต์ เคนต์ ต้นสังกัดของโรงพยาบาลที่เกิดเหตุทั้งสอง ระบุว่า ศัลยแพทย์คนดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสุขภาพและอนามัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้วยการสอบถาม ซึ่งเขาระบุว่าไม่มีประวัติการติดโรคเริมและไม่มีรอยโรคปรากฏอยู่ตามมือ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสชนิดนี้ในช่วงที่ทำการผ่าตัดคิมเบอร์ลีย์และซาแมนธา

 

ด้านครอบครัวของหญิงสาวทั้งสองได้เรียกร้องให้แพทย์ผู้ชันสูตรศพเปิดการสอบสวนถึงสาเหตุการเสียชีวิตของพวกเธอ โดยอีเวตต์ แซมป์สัน แม่ของคิมเบอร์ลีย์ ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญที่หลาน ๆ ของเธอที่กำพร้าแม่จะต้องได้ทราบความจริงว่าทำไมแม่ของพวกเขาจึงเสียชีวิต

 

ปัจจุบัน นพ.กรีนเฮาส์ กำลังทำการตรวจสอบเพิ่มเติมถึงสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงสาวทั้งสอง ด้วยความหวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาคนไข้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นผลดีที่จะได้จากโศกนาฏกรรมครั้งนี้

...................

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง