รีเซต

รพ.ราชวิถี ถอดบทเรียน “โควิด-19” ผู้ป่วย 3 แบบ 3 สไตล์ รักษาด้วยสูตรเดียวกันแต่ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน

รพ.ราชวิถี ถอดบทเรียน “โควิด-19” ผู้ป่วย 3 แบบ 3 สไตล์ รักษาด้วยสูตรเดียวกันแต่ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน
มติชน
11 พฤษภาคม 2563 ( 16:01 )
267

 

ถอดบทเรียน โควิด-19 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ผศ.นพ.พจน์ อินทลาทาพร งานโรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาล(รพ.) ราชวิถี สังกัดกรมการแพทย์ กล่าวถึงประสบการณ์การดูแลรักษาพยาบาลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

 

ผศ.นพ.พจน์ กล่าวว่า ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยใน รพ.ราชวิถี ที่ได้เริ่มมีการระบาดในประเทศไทย พบผู้ป่วย 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ไม่มีอาการ กลุ่มที่ 2 อาการเล็กน้อย กลุ่มที่ 3 อาการปานกลาง กลุ่มที่ 4 อาการรุนแรงปอดอักเสบ ช่วงที่ประเทศไทยพบการระบาดรุนแรง ภารกิจหลักของ รพ.ราชวิถี ซึ่งเป็น รพ.ศูนย์ของการแพทย์ จะต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนักเป็นลำดับแรกก่อน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในมีอาการปานกลางถึงรุนแรง ได้เบื้องมีผู้ป่วยทั้งหมด 69 ราย ในจำนวนนี้ แบ่งได้เป็น กลุ่มผู้ป่วยผู้ป่วยอาการปอดอักเสบทั้งหมด 33 ราย คิดเป็นร้อยละ 47.82 กลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบชนิดรุนแรง 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.49 กลุ่มผู้ป่วยรักษาหาย 64 ราย คิดเป็นร้อยละ 92.75 และผู้เสียชีวิตสี่รายคิดเป็นร้อยละ 5.79

 

“ จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบจากโควิด-19 ทั้งหมด 33 รายนี้ มีผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบชนิดรุนแรง 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 30 และรักษาหาย 29 รายคิดเป็นร้อยละ 87.87และเสียชีวิต 4 รายคิดเป็นร้อยละ 12.12 ทั้งนี้ บทเรียนที่ได้จากการดูแลผู้ป่วย ทางทีมแพทย์จึงได้รวบรวมสรุป เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางการรักษาผู้ป่วยของประเทศไทย โดยจะมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์” ผศ.นพ.พจน์

 

ผศ.นพ.พจน์ กล่าวต่อว่า กรณีศึกษาที่ 1 เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 31 ปี มีอาการไข้หนาวสั่นประมาณ 11 วัน และระยะ 5 วัน ก่อนที่จะมา รพ. เริ่มมีอาการไอและเหนื่อยมากขึ้น จึงเข้ารับการรักษาใน รพ.เอกชน ด้วยอาการปอดอักเสบ ในอีก 2 วันต่อมา ผู้ป่วยขอกลับบ้าน แต่เมื่อกลับบ้านไปแล้ว 1-2 วัน อาการไม่ดีขึ้น จึงรับการรักษาในรพ.รัฐบาล ภายหลังถูกส่งต่อมา รพ.ราชวิธี สรุปผลการตรวจยืนยันพบว่า เป็นอาการปอดอักเสบจากโควิด-19 ทางทีมแพทย์จึงทำการรักษาด้วยยา 4 ชนิดได้ 1.Favipiravir 2.Darunavir/ Ritonavir 3.Chloroquine และ 4.Azithromycin เป็นสูตรยาที่ใช้เป็นแนวทางในการรักษาของประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลการรักษาของผู้ป่วยรายนี้หลังจากให้ยา 3 วัน ผลทางห้องปฏิบัติการ(แล็บ)ด้วยการตรวจ RT.pcr พบว่า ในวันที่ 3 วัน 5,7,14 และ 28 วัน ไม่พบเชื้อไวรัสแล้ว ซึ่งเป็นที่น่าประทับใจ เนื่องจากให้การรักษาเพียง 3 วัน ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว

 

 

 

“แม้ว่าผู้ป่วยจะอายุน้อย ความเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงจะน้อย แต่รายนี้กลับมีอาการปอดอักเสบรุนแรง เนื่องจากการมารักษาอาการล่าช้าถึง 11 วัน และรายนี้ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ เป็นผู้ป่วยรายแรกในกรมการแพทย์ที่ได้ใช้ยา Favipiravir ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมควบคุมโรค โดยในขณะนั้นยังไม่ได้มีการสั่งซื้อยาชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทย จากบทเรียนแรกนี้ทำให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่ายา Favipiravir น่าจะมีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากโควิด-19 และได้เสนอยา Favipiravir ให้คณะกรรมการพิจารณานำเข้าสู่ แนวทางเวชปฏิบัติของโรคใดโรคหนึ่ง หรืออาการใดอาการหนึ่ง(Clinical Practice Guidelines : CPG) ในประเทศไทย นำมาสู่การจัดหายา Favipiravir เข้าสู่ประเทศไทย” ผศ.นพ.พจน์ กล่าว

 

ต่อมา ผศ.นพ.พจน์ กล่าวว่า กรณีศึกษาที่ 2 ผู้ป่วยชายไทย อายุ 55 ปี เริ่มมีอาการป่วยไข้ ไอ 13 วันก่อนมา รพ. ไม่มีโรคประจำตัว ผลการตรวจแล็บด้วย RT-pcr ยืนยันว่ามีการติดเชื้อ จึงทำการรักษาด้วยยา 4 ชนิด 1.Favipiravir 2.Darunavir/ Ritonavir 3.Chloroquine และ 4.Azithromycin ด้วยอาการแรกรับมีอาการปอดอักเสบ ใช้การรักษาด้วยท่อช่วยหายใจ แต่ 4 วันต่อมาผู้ป่วยได้เสียชีวิตลง ด้วยอาการปอดอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น ร่วมกับระบบไหลเวียนโลหิต/ระบบหายใจล้มเหลว และยังตรวจพบเชื้อไวรัสภายในร่างกาย ดังนั้นบทเรียนจากผู้ป่วยรายนี้ที่ใช้ยา Favipiravir รักษาเช่นกัน ปัจจัยในการเสียชีวิต คือ ผู้ป่วยอายุมากความเสี่ยงที่อาการรุนแรง แม้ว่าจะไม่มีโรคประจำตัว และรายนี้มีอาการปอดอักเสบ เข้ารับการรักษาล่าช้า เนื่องจากป่วยมา 13 วันก่อนเข้ารับการรักษา

 

 

 

 

 

“บทเรียนจากการใช้ยาชนิดที่ได้ผลทางการรักษา แต่อยากสื่อสารถึงท่านประชาชนให้ทราบว่า หากท่านมีอาการ ไม่ควรจะปกปิดและต้องรีบมาพบแพทย์ ไม่ควรจะปกปิดว่าได้ไปสัมผัสโรคมาเมื่อไหร่ อย่างไรบ้าง จึงเป็นบทเรียนว่ารายนี้มารักษาช้าและอายุมา” ผศ.นพ.พจน์ กล่าว

 

ผศ.นพ.พจน์ กล่าวต่อว่า กรณีศึกษาที่ 3 ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 57 ปี ไม่มีโรคประจำตัวและไม่มีอาการป่วย แต่มา รพ.เนื่องจากบุตรสาวกลับจากประเทศเกาหลีใต้แล้วป่วยเป็นโควิด-19 ซึ่งเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค จากการตรวจ RT-pcr ให้ผลเป็นบวก การนอน รพ. จำนวน 4 วันแรกอาการดี ผลเอ็กซเรย์ปอดปกติ แต่เมื่อเข้าวันที่ 5 เริ่มมีอาการไข้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไอ และเหนื่อยมากขึ้น และมีการตรวจพบว่ามีอาการปอดอักเสบจากโควิด-19 ใช้การรักษาด้วยยา 4 ชนิด 1.Favipiravir 2.Darunavir/ Ritonavir 3.Chloroquine

 

4.Azithromycin และภายหลังจากการรักษาผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น สรุปบทเรียนรายนี้ที่น่าสนใจ คือ มีอายุมากเหมือนรายที่ 2 และไม่มีโรคประจำตัว แต่มาพบแพทย์เร็ว เนื่องจากการสอบสวนโรค การติดตามอาการไปจนถึงวันที่ 5 ของการตรวจพบเชื้อไวรัส จึงพบว่ามีอาการปอดอักเสบ ซึ่งเฉลี่ยแล้วเมื่อมีการติดเชื้อในกลุ่มที่มีอาการ หลังจากรับเชื้อแล้ว จะเริ่มมีไข้หรือเริ่มมีอาการอื่น เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ประมาณวันที่ 5-7 ของอาการป่วย และเริ่มมีโอกาสที่จะมีอาการปอดอักเสบ ดังนั้นแม้จะมีความเสี่ยงแต่ว่ามารับการรักษาเร็ว และไม่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยรายนี้จึงรักษาหาย

 

“สิ่งนี้เป็นบทเรียนที่อยากสื่อสารกับประชาชนว่า ไม่ควรประมาท ถ้ามารักษาเร็ว แล้วท่านได้ยาด้วยก็มีโอกาสที่จะหายกลับบ้านได้ เป็นประสบการณ์โดยรวมของ รพ.ราชวิถี ที่จะสื่อสารถึงทุกท่านเพื่อที่จะให้รู้ทันกับโลกโควิด-19 เพื่อรีบเข้าสู่การรักษา ไม่ปกปิดข้อมูลกับแพทย์ในประวัติการสัมผัสโรค” ผศ.นพ.พจน์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง