รีเซต

ล้ำสุดในวงโคจร ! หุ่นยนต์ 2 แขน เดินทางถึงสถานีอวกาศแล้ว

ล้ำสุดในวงโคจร ! หุ่นยนต์ 2 แขน เดินทางถึงสถานีอวกาศแล้ว
TNN ช่อง16
7 กุมภาพันธ์ 2567 ( 09:23 )
43

ระบบหุ่นยนต์ 2 แขนชื่อ เอส-2 (S2) ของบริษัทผู้พัฒนาหุ่นยนต์ทำงานบนอวกาศอย่าง จิไต (GITAI) ได้ถูกส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station : ISS) ด้วยจรวดฟัลคอน-9 (Falcon 9) ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเติมเสบียงให้ ISS และเป็นการทดสอบนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วย เช่น หุ่นยนต์ผ่าตัด และเครื่องพิมพ์โลหะ 3D และตอนนี้ S2 ก็ไปเดินทางไปถึง ISS เรียบร้อยแล้ว


S2 คือระบบหุ่นยนต์ 2 แขน ความยาวแขนยาวข้างละ 1.5 เมตร เมื่อมันไปถึงสถานีอวกาศ ลูกเรือก็จะนำมันไปติดตั้งบนโมดูลแอร์ล็อกของบริษัทนาโนแร็ค (Nanorack Bishop Airlock) หลังจากนั้นเจ้า S2 ก็จะสาธิตการทำงานที่เรียกว่า in-space servicing, assembling, and manufacturing (ISAM) ซึ่งก็คือทำงานเกี่ยวกับการให้บริการ การประกอบ และการผลิตส่วนประกอบบนอวกาศ


นี่เป็นครั้งแรกที่จิไตสาธิตหุ่นยนต์ 2 แขนบน ISS ซึ่งก่อนหน้านี้เคยสาธิตระบบหุ่นยนต์กับ ISS มาก่อน แต่เป็นแบบแขนเดียวที่ชื่อว่าเอส-1 (S1) มันสามารถทำงานได้เพียง 2 อย่าง คือ การประกอบโครงสร้างหรือแผงที่ต้องประกอบในอวกาศ (in-space assembly : ISA) และควบคุมการทำงานของสวิตซ์และสายเคเบิลที่ทำงานบน ISS


ส่วน S2 จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมี 2 แขน นอกจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นแล้ว บริษัทยังจะสาธิตฟังก์ชันการทำงานใหม่ คือ การเป็นตัวเปลี่ยนเครื่องมือ หรือทำตัวเป็นคล้าย ๆ ช่างซ่อมสถานี ที่สามารถขันน็อตหรือคลายเกลียวเพื่อซ่อมแซมสถานีอวกาศ


โช นากาโนเสะ (Sho Nakanose) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ GITAI บอกว่า การทำงานแบบตัวเปลี่ยนเครื่องมือนี่แหล่ะที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเลือก S2 ไปทำงาน แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ตาม


สำหรับภารกิจหลักของ S2 ที่จะต้องทำบนสถานีอวกาศมี 4 อย่าง คือ 


1. ติดตั้งแผงส่วนประกอบต่าง ๆ ทั้งนี้ข้อมูลจากจิไตบอกว่า การเปลี่ยนส่วนประกอบมีความสำคัญต่อการบำรุงรักษาสถานีอวกาศและอายุการใช้งานของดาวเทียมอย่างมาก ซึ่งหุ่นยนต์ S2 ก็สามารถจัดการงานนี้ได้ดีกว่ามนุษย์อวกาศ 

2. คอยขันและคลายเกลียวขนาดเล็กบนสถานีอวกาศ 

3. สาธิตความสามารถในการจัดการแผ่นวัสดุที่มีความยืดหยุ่น เช่น ผ้าห่มกันความร้อน 
4. จับคู่หรือแยกสายเคเบิลไฟฟ้า เข้ากับขั้วต่อที่ผูกไว้กับ ISS


ด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เอามาสร้างเป็น S2 ก็เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเองในบริษัท เนื่องจากสาขาหุ่นยนต์อวกาศเป็นโดเมนธุรกิจที่ใหม่มาก จึงไม่มีห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรม หากต้องการสร้างหุ่นยนต์ที่มีความสามารถสูงและราคาไม่แพงสำหรับยานอวกาศ ก็ต้องพัฒนาทุกอย่างขึ้นมาเอง นอกจากนั้นในอนาคตบริษัทก็ยังสามารถจำหน่ายส่วนประกอบเหล่านี้ได้ด้วย


ทั้งนี้ก่อนที่จิไตและสเปซเอ็กซ์จะสามารถส่ง S2 ไปยัง ISS ได้ หุ่นยนต์จำเป็นต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยขององค์การนาซา และต้องผ่านการทดสอบระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยีของ NASA ระดับ 6 (TRL 6) 


นากาโนเสะบอกว่าการตรวจสอบความปลอดภัยของนาซานั้นละเอียดถี่ถ้วนมาก เพราะต้องมั่นใจว่าเทคโนโลยีที่จะส่งไปยัง ISS นั้นต้องปลอดภัยต่อนักบินอวกาศ และ S2 ก็สามารถผ่านการทดสอบทั้งหมดภายในระยะเวลา 10 เดือน 


หลังจากเสร็จสิ้นภารกินนี้ จิไตมีเป้าหมายว่าจะบรรลุ TRL 7 ซึ่งหมายความว่าต้นแบบของระบบได้รับการสาธิตในสภาพแวดล้อมบนอวกาศเรียบร้อยแล้ว


ทั้งนี้ S2 เป็นเพียงหนึ่งเทคโนโลยีของจิไตเท่านั้น นอกจากนี้จิไตยังได้ทำสัญญาร่วมกับอีกหลายหน่วยงานเช่น บริษัทโตโยต้า (Toyota) สำนักงานสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น (JAXA) รวมถึงมีสัญญากับดาร์ปา (DARPA: Defense Advanced Research Projects Agency หน่วยงานวิจัยและพัฒนาภายใต้กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา) เพื่อนำหุ่นยนต์ไปใช้สร้างโครงสร้างพื้นฐานบนดวงจันทร์ด้วย





ที่มาข้อมูล Therobotreport

ที่มารูปภาพ GITAI.Tech

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง