รีเซต

สอท.เร่งช่วยคนไทยในมาเลย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโควิด

สอท.เร่งช่วยคนไทยในมาเลย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโควิด
มติชน
12 เมษายน 2563 ( 18:50 )
83
สอท.เร่งช่วยคนไทยในมาเลย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโควิด
เมื่อวันที่ 12 เมษายน นายณรงค์ ศศิธร เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานข่าวว่าแรงงานไทยร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซียจำนวน 20 คน ประสบความยากลำบากเนื่องจากร้านถูกปิด และยังไม่สามารถออกนอกที่พักได้เพราะทางการมาเลเซียใช้มาตรการปิดประเทศ โดยทางการรัฐยะโฮร์บาห์รู ตระเวนแจกอาหารเพียงสามวันต่อครั้ง จึงร้องขอให้ช่วยเดินทางกลับบ้านนั้น สถานทูตได้รับทราบเรื่องดังกล่าว และประสานงานให้ความช่วยเหลือแล้ว โดยในขณะนี้สถานทูตได้จัดทำตารางวันและเวลาที่อาสาสมัครในรัฐต่างๆ ออกไปแจกจ่ายอาหารและหน้ากากอนามัย โดยขอให้คนไทยติดต่อนัดหมายตามจุดนัดรับของที่แน่นอน
 
เอกอัครราชทูตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นับแต่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศขยายเวลาการบังคับใช้คำสั่ง Movement Control Order (MCO) ออกไปจนถึงวันที่ 18 เมษายน ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนไทย ซึ่งมี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มนักศึกษาและกลุ่มแรงงาน
 
 
ในส่วนกลุ่มนักศึกษาไทย ขณะนี้มีคงเหลือในมาเลเซียประมาณ 250 คน โดยที่ กระทรวงการอุดมศึกษา มาเลเซียได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติมภายใต้ MCO ว่า ห้ามนักศึกษาต่างชาติที่พำนักในหอพักของมหาวิทยาลัยในมาเลเซียเดินทางกลับประเทศในช่วง MCO นักศึกษาจึงเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่สถานทูตให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ จากการสอบถามกลุ่มนักศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่พำนักในหอพักของมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยยังคงให้การดูแล โดยจัดเตรียมอาหารให้วันละ 2 มื้อ (กลางวันและเย็น) ทั้งนี้ สถานทูตได้จัดส่งหน้ากากอนามัย ข้าวสาร อาหารแห้ง และยาลดไข้ ไปให้นักศึกษากลุ่มนี้ทางรถยนต์ ในกรณีนักศึกษา ที่อยู่ในรัฐห่างไกล สถานทูตใช้วิธีการจัดส่งสิ่งของความช่วยเหลือทางไปรษณีย์ นอกจากนี้ สถานทูตได้ติดตามสอบถามความเป็นอยู่ ของนักศึกษาเป็นระยะผ่านเครือข่ายสมาคมนักศึกษาไทยในมาเลเซียเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
 
สำหรับกลุ่มแรงงานไทย มีทั้งกลุ่มแรงงานไทยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และมีใบอนุญาตทำงาน แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตส่วนใหญ่เป็นแรงงานร้านอาหารไทย (ร้านต้มยำ) และแรงงานที่อยู่ในสถานบริการ เช่น ร้านนวด สถานบันเทิง รวมถึงแรงงานประมง ที่ผ่านมาให้ความช่วยเหลือแรงงานกลุ่มดังกล่าว 4 ช่องทาง ได้แก่ (1) ผ่านทางอาสาสมัครคนไทย (อสม.) โดยสถานทูตจัดส่งสิ่งของที่จำเป็นไปให้ อสม. ช่วยกระจาย รวมทั้งโอนเงินให้ อสม. เพื่อใช้ซื้ออาหารสำหรับการแจกจ่าย  (2) ทีมประเทศไทย นำสิ่งของความช่วยเหลือและถุงยังชีพไปแจกจ่ายชุมชนแรงงาน ร้านต้มยำต่าง ๆ ในรัศมีไม่เกิน ๒ ชม. จากกรุงกัวลาลัมเปอร์โดยรถยนต์ (3) การจัดส่งสิ่งของความช่วยเหลือทางไปรษณีย์ และ (4) การช่วยเหลือผ่านเครือข่ายภาคประชาชนของมาเลเซีย
 
 
สำหรับกลุ่มแรงงานไทยที่มีใบอนุญาตทำงาน สำนักงานแรงงานรับผิดชอบ ดูแลให้ความช่วยเหลือแรงงานกลุ่มนี้ ทั้งนี้ ภายใต้ MCO นายจ้างจะยังคงให้ความคุ้มครองตามสัญญาจ้างงาน และช่วงที่ ผ่านมา สำนักงานแรงงานได้นำข้าวสารอาหารแห้งที่สถานทูตจัดซื้อไว้ไปแจกจ่ายให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวแล้ว
 
ประเด็นที่แรงงานไทยส่วนใหญ่มีความห่วงกังวลในขณะนี้คือปัญหาการพำนักในมาเลเซียเกิน 30 วัน ทั้งนี้ เนื่องจากแรงงานไทยกลุ่มที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานนี้ต้องเดินทางเข้า-ออกมาเลเซียทุก 30 วันเพื่อเข้ามาทำงานในมาเลเซีย ซึ่งเรื่องนี้ สถานทูตได้หารือกับ ตม.มาเลเซียอย่างใกล้ชิด และในชั้นนี้ ได้รับคำยืนยันว่า ผู้ที่อยู่เกิน 30 วันหลังจากที่ MCO เริ่มต้น หากเดินทางออกจากมาเลเซีย ก่อนที่ MCO จะสิ้นสุด (28 เม.ย. 2563) ก็สามารถเดินทางออกไปได้โดยไม่เสียค่าปรับ แต่หากยังคงอยู่ในมาเลเซียเกินกำหนดหลังจากที่ MCO สิ้นสุดไปแล้ว ก็จะต้องไปรายงานตัวกับ ตม.มาเลเซียเพื่อเสียค่าปรับ และอาจถูก blacklist ซึ่งเป็นประเด็นที่แรงงานไทยกลุ่มนี้ห่วงกังวล อย่างไรก็ดี สถานทูตได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียเพื่อขอผ่อนผัน (grace period) สำหรับแรงงานไทย และยังรอผลการพิจารณา
 
 
ล่าสุดในวันนี้ ทีมประเทศไทยสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภค แก่คนไทยที่เดือดร้อน จำนวน 30 คน ในเขตพื้นที่ Klang Selangor ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง จากการสัมภาษณ์พบว่า มีขวัญกำลังใจดี เจ้าของร้านซึ่งเป็นคนไทย ดูแล ทำความเข้าใจ และให้ข้อมูลสถานการณ์ ได้ถูกต้อง พร้อมช่วยเหลือกันและกันให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และยืนยันจะอยู่ต่อจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง