เฟ้นหา "ฮีโรโควิด-19" สธ.ชวนผู้เคยติดเชื้อ/ผู้ใกล้ชิด บริจาคเลือดวิจัยภูมิคุ้มกัน
เฟ้นหา “ฮีโรโควิด-19” สธ.ชวนผู้เคยติดเชื้อ/ผู้ใกล้ชิด บริจาคเลือดวิจัยภูมิคุ้มกัน
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. แถลงระหว่างรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า สำหรับโครงการวิจัยฮีโรโควิด-19 เรื่อง การศึกษาภูมิคุ้มกันในผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สธ. และหน่วยไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จำนวน 3 ล้านบาท ประกาศเชิญชวนให้กลุ่มบุคคลที่เคยได้รับการตรวจยืนยันติดโรคโควิด-19 และหายแล้ว เข้าโครงการ
“ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ปัจจุบันกลับไปอยู่ตามภูมิลำเนา และอาจจะยังได้รับการเหยียดไม่อยากให้อยู่ร่วมชุมชนเดียวกัน แต่โครงการนี้จะยกย่องให้เป็นฮีโร่โควิด-19 เพราะเลือด หรือภูมิคุ้มกันที่อาจจะเกิดขึ้นในกลุ่มบุคคลเหล่านี้ อาจจะเป็นกุญแจเล็กๆ ที่จะช่วยไขคำตอบ อยากรณรงค์ให้ผู้ที่เคยติดโรคโควิด-19 ทุกคน และคนที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ยืนยันการติดเชื้อ เข้ามาบริจาคเลือดประมาณคนละ 30 ซีซี หรือราว 5 ช้อนชา เพื่อศึกษาถึงภูมิคุ้มกันว่า สามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ และภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะสามารถป้องกันได้นานเพียงใด” นพ.คณวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.คณวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตการวิจัยต่อคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หากได้รับอนุญาตคาดว่าจะเริ่มต้นการศึกษาวิจัยได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมวิจัย ต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 18-60 ปี เคยได้รับการตรวจยืนยันติดโรคโควิด-19 และหายดีแล้ว รวมถึง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว หรืออยู่ร่วมบ้านเดียวกัน เพื่อศึกษาดูว่ากลุ่มคนที่ไม่เคยติดเชื้อแต่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยนั้น สามาถรสร้างภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ และถ้ามีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเกิดขึ้นแล้ว จะสามารถป้องกันได้หรือไม่ เพื่อนำข้อมูลปรับใช้ในเชิงนโยบาย โดยต้องการอาสาสมัครกลุ่มละ 500 คน รวม 1,000 คน จะมีการเจาะเลือดตรวจ 3 รอบ ที่ระยะ 3 เดือน, 6 เดือน และ 9 เดือน
นพ.คณวัฒน์ กล่าวว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาวิจัยนี้ เพราะสิ่งที่ต้องการศึกษา คือ เมื่อมีการติดเชื้อระยะหนึ่งแล้วจะสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศไทยกว่า 3,000 ราย สามารถเข้าร่วมการศึกษาวิจัยได้ โดยจะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของผู้ที่เข้าร่วมวิจัย ไม่ต้องกังวลว่าสังคมจะเกิดการตีตรา ผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่ โทร.0 2256 4132 ต่อ 404 หรืออีเมล ChulaCovid@gmail.com
“ต้องการให้ผู้ที่เคยติดเชื้อและผู้ใกล้ชิดเข้าร่วมโครงการศึกษาวิจัยนี้ เพราะผลการวิจัยจะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศไทย ที่จะทำให้รู้ว่าระดับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติมีมากน้อย ป้องกันได้จริงหรือไม่ และป้องกันได้นานเท่าไหร่ จะเหมือนการฉีดป้องกันไวรัสตับอักเสบบีที่อยู่ได้หลายปี หรือเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดทุกปี” นพ.คณวัฒน์ กล่าว