หมอคาดโควิดคร่า 2.8 พันคนต่อเดือน แนะ ปรับยุทธศาสตร์วัคซีน
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยา และที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวตอนนหนึ่งในเวทีเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร” ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า บรรยากาศของประเทศไทยขณะนี้ เหมือนกับเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ
นพ.คำนวณกล่าวว่า ช่วง 3 เดือนจากนี้ คือเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 กำลังอยู่ในจุดที่ต้องเลือกเอาว่าเราจะสามารถเปิดประเทศได้ หรือเรากำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตที่กำลังถลำลึกลงไปอีก ทั้งนี้ ขอเสนอข้อเท็จจริง 5 ข้อ และ 2 ทางเลือก ที่จะฝ่าวิกฤตรอบนี้ และขอให้ทุกฝ่ายช่วยคิดตาม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราอยู่ในช่วยการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 จากเชื้อสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราตั้งตัวไม่ทัน
“เรามีคนไข้เสียชีวิตประมาณ 50 คนต่อวันในขณะนี้ คำถามคือเดือนหน้า เดือนถัดไป อัตราการเสียชีวิตจะเป็นอย่างไรบ้าง ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดลงความเห็นตรงกันว่าสถานการณ์จะแย่กว่าเดิม เหตุผลเพราะสายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เข้ามายึดครองการระบาด ซึ่งข้อมูลในกรุงเทพมหานคร ขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 40 ในไม่ช้า เดือนนี้ หรือเดือนหน้าจะเป็นเชื้อเดลต้าทั้งหมด
“สายพันธุ์นี้มีความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 1.4 เท่า เพราะฉะนั้นคิดง่ายๆ ว่าถ้าเผื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรามีคนเสียชีวิตทั้งเดือน 992 คน ซึ่งเป็นภาระใหญ่มาก ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ เดือนกรกฎาคม เราจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,400 คน เดือนสิงหาคม 2,000 คน และถึงเดือนกันยายน จะมีผู้เสียชีวิตเป็น 2,800 คน ขณะนี้เรามีผู้เสียชีวิต 900 กว่าคน ยังทำให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าต่อไปไม่ได้ และถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปก็แน่นอนว่าเราจะไม่สามารถไปรอดได้” นพ.คำนวณกล่าว
นพ.คำนวณกล่าวต่อไปว่า แต่มีทางออกคือร้อยละ 80 ของคนที่เสียชีวิต เป็นผู้สูงอายุ หรือเป็นคนที่มีโรคประจำตัว ถ้าสามารถปกป้องคนกลุ่มนี้ได้ ก็จะลดการเสียชีวิตลงได้อย่างมาก และอยู่ในวิสัยที่จะแก้ปัญหาได้ จากตัวเลขคนสูงอายุติดเชื้อ 100 คน จะเสียชีวิต 10 คน แต่ถ้าอายุน้อย แต่ติดเชื้อ 1,000 คน จะเสียชีวิต แตกต่างกันมาก
“เพราะฉะนั้นเรามีอาวุธที่ดีคือ วัคซีน เป้าประสงค์แรก เราต้องการลดการเจ็บหนัก ลดการเสียชีวิตก่อน วัคซีนทุกตัวที่องค์การอนามัยโลกขึ้นทะเบียน ส่วนใหญ่ได้ผลในการลดอาการหนัก ลดการเสียชีวิตได้ประมาณร้อยละ 90 ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องไปสนใจเรื่องยี่ห้อ ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังใช้ยุทธศาสตร์ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ คือ การฉีดแบบปูพรมให้คนไทยได้วัคซีนร้อยละ 70 โดยหวังว่าถ้าเราทำได้แบบนั้นจริง จะมีการติดเชื้อน้อยลง คนจะเสียชีวิตน้อยลง แต่ปัญหา ถ้าเราจะทำอย่างนั้นได้ คือ เรามั่นใจหรือไม่ว่า ร้อยละ 70 จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ นักวิชาการบางส่วนบอกว่าไม่ได้ เพราะในอังกฤษเริ่มมีคนติดเชื้อเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อาจจะต้องไปถึงร้อยละ 90 และต้องใช้วัคซีนที่ดีมากๆ” นพ.คำนวณกล่าว
นพ.คำนวณกล่าวว่า แต่ถ้าต้องการลดการเสียชีวิต เราสามารถเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้ ด้วยการใช้ยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้า ซึ่งเดิมเราใช้ยุทธศาสตร์ 2 ขั้นตอน ระยะแรกคือ มุ่งเป้าฉีดคนสูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงให้จบภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม
“แต่ตอนหลัง เนื่องจากเรามีความต้องการมาก เราต้องการให้ภาคโรงงานไม่เจ็บป่วย เราต้องการควบคุมการระบาด เวลาเกิดการระบาดในชุมชน เราจะไปฉีดวัคซีน เราต้องการเปิดโรงเรียน เราก็เอาวัคซีนไปให้กับสถาบันต่างๆ เราต้องการเปิดแหล่งท่องเที่ยวเอาวัคซีนไปให้ ซึ่งเป็นความคิดที่ดี แต่การจะทำอย่างนั้นได้ มีเงื่อนไขสำคัญคือ 1.เราต้องมีวัคซีนไม่จำกัด มีมากเพียงพอ 2.เรามีขีดความสามารถในการฉีดได้อย่างรวดเร็ว เพราะสปีดการแพร่ระบาดเร็วมาก ตอนนี้ทุกประเทศยอมรับกันหมดว่าไม่มีประเทศไหนที่จะมีวัคซีนไม่จำกัด แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือยุโรปซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนเอง ก็ยอมรับว่าไม่สามารถใช้วิธีการฉีดปูพรม สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างรวดเร็ว จึงมาใช้การลดการป่วยการเสียชีวิตก่อน” นพ.คำนวณกล่าว
นพ.คำนวณกล่าวต่อว่า หากสังเกต 1 เดือนที่ผ่านมา ขีดความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยไม่ได้เป็นคำถาม เพราะเราฉีดได้ 10 ล้านคน แต่ใน 10 ล้านคน เมื่อดูแล้วคนสูงอายุได้แค่ร้อยละ 10 ถ้าเราเดินแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพิ่มไปได้แค่เดือนละร้อยละ 10 เราอาจจะต้องใช้เวลา 7-8 เดือน กว่าจะป้องกันคนสูงอายุได้ เพราะฉะนั้นเรามีทางเลือก 2 ทาง ทางที่ 1 คือทำแบบเดิมจะเห็นผลก็ต่อเมื่ออีก 5-6 เดือน ซึ่งจะไม่ทันกับปัญหาวิกฤตของเตียง
นพ.คำนวณกล่าวว่า ข้อเสนอที่ 2 คือเปลี่ยนเอาวัคซีนที่มีอยู่ในมือ ถ้าเรายอมรับว่าวัคซีนมีอยู่จำกัด และพยายามหามาเดือนละ 10 ล้านโดสนั้น แต่ถ้าเผื่อไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เอาวัคซีนที่มีทั้งหมดในมือมาทำความตกลงกันไว้ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ศบค.ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องวางเป้าหมายแรกลดเจ็บหนักและเสียชีวิตในกลุ่ม ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน ซึ่งเรามีกลุ่มนี้ 17.5 ล้านคน
“ตอนนี้เราฉีดได้ 2.5 ล้านคน อีก 15 ล้านคน เราต้องการฉีดให้จบภายใน 2 เดือน คือกรกฎาคม-สิงหาคม เราเชื่อว่าเรามีวัคซีนเพียงพอด้วยกำลังการผลิตของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนที่ได้รับบริจาคมา หากเราทำได้แบบนี้เราจะลดการเสียชีวิตได้ โดยแทนที่จะเป็นหลักพันคนในเดือนกรกฎาคม แต่พอเดือนสิงหาคม จะเหลือประมาณ 800 คน เดือนกันยายน จะเหลือประมาณ 600-700 คน หรือวันละประมาณ 20 คน อยู่ในวิสัยที่ระบบสาธารณสุขยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าเราเดินยุทธศาสตร์เดิม และเราจะมีปัญหามาก วันนี้เราปิดกิจการต่างๆ ปิดแคมป์ แต่จำนวนคนป่วยติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งต้องปิดมากขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งไม่เป็นผลดี เพราะเศรษฐกิจเดินไม่ได้
“แต่ถ้าเอาแบบหลัง อาจจะไม่จำเป็นต้องปิดมากขึ้น แต่สามารถผ่อนคลายได้ แต่ถ้าต้องการลดผู้เสียชีวิตอีกก็ต้องทำเรื่องของเตียงเพิ่ม และค้นหากลุ่มเสี่ยงให้เร็ว เพราะฉะนั้นอยากจะสรุปว่า ขณะนี้ผู้บริหาร นายกฯ รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อท่านได้โควตาวัคซีนไป คำถามคือว่า ท่านจะฉีดให้ใครก่อน 2 ทางเลือก หากท่านเลือกทางเลือกแรก หลายจุดมุ่งหมายการคาดการณ์ คือจำนวนผู้ป่วยจะเกิน แล้วเรารับไม่ไหว แต่ถ้าทุกคนเห็นตรงกันว่าเอาวัคซีนให้กับคนสูงอายุ คนมีอายุมีโรคประจำตัวก่อน เรื่องนี้ทางวิชาการมีแล้ว ในอังกฤษ อเมริกา ก็ทำ ซึ่งแม้ยังมีจำนวนคนติดเชื้อ แต่คนตายไม่มาก ก็จะไม่มีปัญหาเท่าไร
“ถ้าทำแบบนี้เราจะสามารถแบ่งวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าวที่มีโรคประจำตัวก่อนก็จะช่วยได้ ตอนนี้เรากำลังตั้งโมเดลรายละเอียดคิดว่าฝ่ายวิชาการจะนำเสนอได้” นพ.คำนวณกล่าว