ดร.เอ้ โชว์วิชั่นแก้ 5 ปัญหาเร่งด่วน เปลี่ยนชีวิตคนกรุง โซนตะวันออก ขอเชื่อมั่นทำได้จริง

บนเวทีปราศรัยใหญ่ วานนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายการพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ โซนตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 7 เขต ประกอบด้วย เขตสะพานสูง เขตบางกะปิ เขตบึงกุ่ม เขตประเวศ เขตลาดกระบัง เขตวังทองหลาง และเขตสวนหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ชานเมือง ประกอบไปด้วยชุมชนเกษตรกรรม และหมู่บ้านจัดสรรนั้น
การพัฒนาพื้นที่จำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างคนเมือง และ เกษตรกรในพื้นที่ โดยหลายปีที่ผ่านมา ย่านกรุงเทพฯ โซนตะวันออก เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเมืองมีการขยาย แต่การวางสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาบริการสาธารณะ ยังไม่ครอบคลุมและมีคุณภาพ
“ที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนที่อาศัยใน 7 เขตดังกล่าว รวม 966,661 คน หรือคิดเป็น 17.49% ของชาว กทม. ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการ เมื่อพี่น้องประชาชนในโซนตะวันออกไว้วางใจให้เข้าทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. มีด้วยกัน 5 ปัญหาเร่งด่วน” ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ดร. สุชัชวีร์ กล่าวถึงปัญหาข้อแรกว่า คือ ปัญหาน้ำท่วม ถือเป็นปัญหาสำคัญที่สุด ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยโซนตะวันออกเป็นพื้นที่แนวคันกั้นน้ำตะวันออก ที่มีการระบายน้ำจากแม่น้ำสายต่างๆ ผ่านลงสู่ระบบคลอง แล้วผันน้ำเข้ามาในพื้นที่ ประกอบกับบริเวณถนนศรีนครินทร์ ช่วงบริเวณแยกลำสาลีและแยกกรุงเทพกรีฑาถึงคลองกะจะ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อฝนตกหนัก จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง
นอกจากนี้ การที่มีหมู่บ้านจัดสรรเยอะ ทำให้พื้นที่ทรุดตัวมากกว่าส่วนอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ได้ปรับปรุงระบบระบายน้ำเพิ่มเติม แต่ยังไม่เพียงพอ หากฝนตกหนัก จะต้องใช้เวลาระบายมากกว่า 90 นาที จึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ กรุงเทพโซนตะวันออกมีคลองระบายน้ำหลัก 17 คลอง และคลองระบายน้ำรอง 242 คลอง แต่ตามข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. ชี้ว่า กลับมีบุคลากรที่ดูแลจุดอ่อนน้ำท่วม 7 คน ซึ่งจากการลงพื้นที่ได้มีเสียงสะท้อนจากชุมชนผ่านการสำรวจความคิดเห็น คือ น้ำท่วม ไม่เคยมีการลอกท่อและลอกคลองอย่างจริงจัง และไม่มีการวางแผนระบบระบายน้ำ รวมถึงปัญหาผักตบชวาและขยะลอยเต็มคลอง
สำหรับโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ โครงการบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน water bank บริเวณใต้สะพานทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์ตัดกับถนนกรุงเทพกรีฑา ขอเสนอว่า จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหา ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เช่น การใช้เซ็นเซอร์น้ำตรวจวัดระดับน้ำและความเร็วน้ำ ใช้คอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลและประมวลผล แล้วใช้ปั๊มน้ำไฟฟ้า กับประตูระบายน้ำอัตโนมัติมาช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ปัญหาที่ 2 ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า เป็นปัญหาการพัฒนาเมืองไม่ทันต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพราะเมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีหมู่บ้านจัดสรร มีชุมชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การพัฒนาเมืองยังไม่ดีเพียงพอ จึงเกิดปัญหาหลายอย่างตามมา
สิ่งที่พบจากการลงพื้นที่นั้นมีปัญหามากมาย อาทิ ปัญหาการคมนาคมในพื้นที่ ต่อเนื่องมาจากปัญหาการเดินทางเข้าออกเมือง แม้แต่ในพื้นที่เองถนนก็ยังไม่ดี ยังมีถนนลูกรังอยู่เยอะมาก รวมถึงบริเวณริมคลองที่เป็นทางเดินไม่มีราวกั้น ทำให้เด็กตกน้ำบ่อยมาก เป็นอันตรายต่อเด็ก และผู้สัญจรไปมา ในขณะที่ไฟส่องสว่างในชุมชนยังน้อย ไม่มีกล้องวงจรปิด ยังมีที่เปลี่ยวร้าง และเป็นจุดอันตราย โดยเฉพาะในเวลากลางคืนเยอะมาก และอีกปัญหา คือ บริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะการเก็บขยะ และกำจัดขยะในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ที่รถขยะของ กทม. เข้าไปเก็บขยะได้ไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ หลายหมู่บ้านรถขยะเข้าไปเก็บขยะอาทิตย์ละครั้ง
ปัญหาที่ 3 เป็นปัญหาการเดินทางเข้า-ออกเมือง โดยเฉพาะปัญหาจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน การเดินทางยังไม่สะดวก มีทางเลือกน้อย การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะแออัด รถบริการสาธารณะมีน้อยมาก ปัจจุบันมีเพียงแอร์พอร์ตลิงก์ ที่เป็นระบบรางเชื่อมต่อสุวรรณภูมิกับกรุงเทพชั้นใน ขณะที่รถเมล์มีให้บริการน้อยมาก เรือด่วนก็มีแค่คลองแสนแสบ ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการใช้บริการ ประชาชนจึงต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อเข้ามาทำงานในเมืองเป็นหลัก ทำให้รถติดมากช่วงเวลาเร่งด่วน ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ตัดผ่าน สร้างไปแล้ว 92.38% และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) สร้างไปแล้ว 93.55%
4. ปัญหา PM 2.5 โซนกรุงเทพฯ ตะวันออกถือเป็นโซนที่มีปัญหา PM 2.5 สูงมาก โดยเฉพาะในเขตบึงกุ่ม หนองจอก บางกะปิ ลาดกระบัง เป็น 4 เขตที่มีค่าเฉลี่ย PM 2.5 สูงที่สุดในกรุงเทพฯ เนื่องจากมีถนนวงแหวนรอบนอก ที่รถบรรทุกใช้วิ่งเลี่ยงเมือง และมีการก่อสร้างถมดินอยู่ตลอด รวมถึงการเผาขยะและเผาเชื้อเพลิงจากโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียงด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก
ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาที่ 5 คือ ปัญหากลิ่นเหม็นจากศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ทำให้เกิดความรำคาญ และลดมูลค่าของพื้นที่ลงไปอย่างมาก ไม่มีใครอยากมีบ้านอยู่ใกล้โรงคัดแยะขยะ ราคาบ้านในบริเวณรอบ ๆ โรงคัดแยกจึงราคาถูกลงมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียง
ดร.สุชัชวีร์ ชี้ว่า โรงงานกำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ เป็น 1 ใน 3 โรงงานกำจัดขยะของ กทม. มีขนาด 586 ไร่ มีปริมาณขยะเฉลี่ย 4,000 ตันต่อวัน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สีน้ำเงินตามกฎหมายผังเมืองรวม กทม. หรือเป็นที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ อย่างไรก็ตาม พบปัญหาขยะส่งกลิ่นกระทบชุมชนในพื้นที่โดยรอบ เช่น ชุมชนร่วมใจอ่อนนุช 86 และชุมชนร่มไทร นอกจากนี้ โรงงานกำจัดขยะเข้ามาดำเนินกิจการ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็เริ่มมีกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นแก๊สเน่า และฝุ่นละอองปลิวเข้ามาในชุมชน ถึงแม้จะทำการปิดประตูหน้าต่างบ้านอย่างมิดชิด ก็ป้องกันได้เพียงฝุ่นละออง แต่กลิ่นเหม็นยังคงเข้าไปในตัวบ้าน
“เวลานี้ต้องบอกว่า พี่น้องประชาชนหลายคนเกิดความกังวลใจต่อสุขภาพของคนในครอบครัว เพราะกลิ่นเหม็นที่รุนแรง ทำให้หลายมีอาการวิงเวียนศีรษะ น้ำมูกไหล และเป็นโรคภูมิแพ้ ที่เกิดจากกลิ่นและฝุ่นละออง รวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เริ่มเปลี่ยนไป หากไม่จำเป็นจะไม่ออกมาจากตัวบ้านซึ่งจะได้กลิ่นเหม็นน้อยที่สุด”
ทั้งนี้ ดร.สุชัชวีร์ เน้นย้ำว่า ปัญหาต่างๆ ที่สำคัญดังกล่าว ตนเอง และผู้สมัคร ส.ก. พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมที่จะดำเนินการแก้ปัญหา เพื่อเปลี่ยนชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โซนตะวันออก และเชื่อว่า “เราทำได้” ภายใต้ “ความจริงใจ” ที่พร้อมทุ่มเทอย่างเต็มที่
บทความน่าสนใจอื่นๆ
