ห้ามเก็บหน้ากากอนามัยใช้แล้วไว้ในที่พักอาศัย เกิน 7 วัน
วันที่ 9 มกราคม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย ขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้หน้ากากอนามัยกันอย่างแพร่หลาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดย คพ. ได้จัดทำข้อแนะนำเบื้องต้นในการจัดการหน้ากากอนามัยใช้แล้ว และขอนำมาเน้นย้ำในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 ระลอกที่ 2 เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อแนะนำประกอบด้วย
1. สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ให้ถือว่าหน้ากากอนามัยใช้แล้วเป็น
“มูลฝอยติดเชื้อ” ที่ต้องมีการจัดการตามกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ได้แก่
เก็บรวบรวมในภาชนะที่มีสีหรือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงมูลฝอยติดเชื้อ มีการเก็บกัก รวบรวม และกำจัดทำลายอย่างถูกต้อง
2. สำหรับประชาชนทั่วไป (กรณีที่ใช้หน้ากากอนามัย แบบใช้แล้วทิ้ง) ควรดำเนินการดังนี้
1) ห้ามใช้ซ้ำ หรือ นำกลับมาใช้ใหม่
2) ก่อนทิ้งหน้ากากอนามัยให้ตัด ฉีก หรือทำลายก่อน เพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้ใหม่
3) ให้แยกทิ้งหน้ากากอนามัยจากขยะประเภทอื่นๆ หรือทิ้ง ณ จุดทิ้งและจุดรวบรวมเฉพาะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว
4) ห้ามเก็บกักหน้ากากอนามัยใช้แล้วไว้ในที่พักอาศัย เกิน 7 วัน
3. สำหรับผู้แยกสังเกตอาการที่บ้าน (ประชาชน) ควรดำเนินการดังนี้
1) แยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่น และระบุข้อความว่า“ถุงขยะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว” ไว้ที่ถุงให้ชัดเจน
2) แยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วออกจากขยะประเภทอื่นๆ หรือทิ้ง ณ จุดทิ้งและจุดรวบรวมเฉพาะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว
4. สำหรับสำนักงานหรือสถานประกอบการ ควรดำเนินการดังนี้
1) แยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว มัดปากถุงให้แน่น และระบุข้อความว่า“ถุงขยะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว” ไว้ที่ถุงให้ชัดเจน
2) แยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วออกจากขยะประเภทอื่นๆ หรือทิ้ง ณ จุดทิ้งและจุดรวบรวมเฉพาะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว
5. สำหรับกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรดำเนินการดังนี้
1) จัดให้มีจุดทิ้งและจุดรวบรวมเฉพาะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว โดยให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่รับผิดชอบ และนำไปกำจัดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545
2) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และคำแนะนำอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการทิ้ง การเก็บขน การรวบรวมขยะ และการกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง
6. สำหรับโรงพยาบาลและสถานที่กักกันโรค ควรดำเนินการดังนี้
1) แยกทิ้งมูลฝอยติดเชื้อ และหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงสีแดง 2 ชั้น ทึบแสง ทนทานต่อสารเคมี และไม่ฉีกขาดง่าย กันน้ำได้ ไม่รั่วซึม และระบุข้อความว่า “มูลฝอยติดเชื้อ” ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว และมัดปากถุงให้แน่น
2) จัดให้มีที่พักรวมมูลฝอยติดเชื้อไว้เป็นการเฉพาะ และส่งให้กรุงเทพมหานครหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถานที่กำจัดเอกชน เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
3) อบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการรวบรวมและเคลื่อนย้ายมูลฝอยติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง
นายอรรถพล กล่าวว่า คพ. ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและประชาชนอย่าลืมทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ถูกที่ ถูกวิธี เพื่อสามารถนำไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ลดปัญหาขยะ ป้องกันการแพร่เชื้อ covid-19 และขอให้ประชาชนทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาอยู่ที่สาธารณะ รวมถึงขณะพูดคุย และหมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือเป็นประจำ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน นายอรรถพล กล่าว