หมอพื้นบ้าน ชง ป.ป.ส.นำร่อง "ธรรมนูญชุมชน" เสพ-ปลูกพืชกระท่อม
หมอพื้นบ้าน ชง ป.ป.ส.นำร่อง “ธรรมนูญชุมชน” เสพ-ปลูกพืชกระท่อม
วันที่ 28 มิถุนายน นายสันทัด เดชเกิด หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เจ้าของสูตรยาบุญมรกตโอสถที่มีส่วนผสมของน้ำมันกัญชา แกนนำจิตอาสาเครือข่ายภาคประชาสังคม อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับตัวแทนฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน ตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ( ป.ป.ส.) ภาค 7 ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ช้างแรก เพื่อเสนอแนวทางนำพืชกระท่อม แก้ปัญหายาเสพติดชนิดอื่นในพื้นที่นำร่อง ต.ช้างแรก หลังจากกำนันตำบลช้างแรก ทำหนังสือถึงเลขาธิการ ป.ป.ส. เพื่อกำหนดพื้นที่นำร่องปลูกและเสพพืชกระท่อม โดยไม่มีความผิดจากการใช้หลักธรรมนูญชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเองอย่างเป็นระบบ
“แม้ว่า ขณะนี้พื้นที่ 8 หมู่บ้าน ใน ต.ช้างแรก ไม่ได้อยู่ในเป้าหมาย 135 หมู่บ้าน 10 จังหวัด ตามที่ ป.ป.ส.กำหนด แต่ ต.ช้างแรก ได้เสนอแนวทางการมีส่วนร่วม ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ และต้องรอประกาศกฎกระทรวงเพิ่มเติม ล่าสุด ป.ป.ส.ได้แนะนำให้ชุมชนเดินหน้าทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อน ขณะที่ทราบว่าเดิมการวิจัยปลดล๊อคกระท่อมนำร่องในพื้นที่ ต.น้ำพุ อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ต้องใช้เวลาสำรวจเก็บข้อมูลนานพอสมควร” นายสันทัด กล่าว
นายสันทัด กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. แจ้งว่า ที่ผ่านมา จากข้อจำกัดในการสำรวจความพร้อม ในการนำร่อง 135 หมู่บ้าน จะต้องใช้เวลาสำรวจนานหลายปี คณะทำงานจึงแนะนำให้ ป.ป.ส.ปรับปรุงระบบแอพพลิเคชั่น เพื่อรองรับการจัดทำธรรมนูญชุมชนใน 135 หมู่บ้าน และตำบลอื่นที่ขอมีส่วนร่วม เพื่อให้ประชาชนนำเสนอข้อมูล โดยไม่ต้องรอหน่วยงานรัฐเข้ามาสำรวจซึ่งใช้งบประมาณมากและล่าช้า สำหรับการใช้แอพพ์ฯ จะทำให้มีความสะดวกรวดเร็วในการขึ้นทะเบียนของประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย ที่มีกระท่อมอยู่ในครอบครอง
ด้าน นายสุนทร รักษ์รงค์ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการใช้พืชกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการประชุมอนุ กมธ.พิจารณาเงื่อนไขช่วงที่รอการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดประเภท 5 มีรายงานจาก ป.ป.ส. จะทำพื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน เพื่อให้เสพและครอบครองพืชกระท่อมโดยไม่ผิดกฎหมาย ล่าสุด อนุกรรมาธิการฯ มีความเห็นให้ ป.ป.ส.เพิ่มพื้นที่นำร่องให้มากขึ้น เพื่อรองรับชุมชนที่มีความพร้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่มีประชาชนใช้พืชกระท่อมเชิงวัฒนธรรมอย่างแพร่หลาย