'อนุทิน' ชงลดวันกักตัวเหลือ 7-10 วัน แอสตร้าฯเริ่มส่งวัคซีนตามตกลงแล้ว
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมาว่า การประชุมหารือกันหลายประเด็น ต้องเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. อนุมัติ 3 เรื่องหลักคือ เรื่องที่ 1 การออกใบรับรองการฉีดวัคซีน โดยคนกลุ่มแรกที่จะได้รับเอกสารรับรองจะเป็นผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรกจากบริษัทซิโนแวคเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และเข็มที่ 2 ในวันที่ 21 มีนาคม ออกโดยสถานพยาบาลที่ฉีดวัคซีน ไม่มีค่าใช้จ่าย
นายอนุทินกล่าวว่า หากต้องการเดินทางไปต่างประเทศสามารถนำใบรับรองไปขอรับวัคซีนพาสปอร์ต หรือสมุดเล่มเหลืองได้ที่สถานพยาบาล มีค่าธรรมเนียมเล่มละ 50 บาท และเพิ่มอีก 50 บาท สำหรับฉบับอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการใช้วัคซีนพาสปอร์ตในต่างประเทศจะรับรองอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ อยู่ในการดำเนินการจากแต่ละประเทศอยู่
นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องที่ 2 การลดวันกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการ ดังนี้ กรณีที่ 1 ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบถ้วน อย่างน้อย 14 วัน และไม่เกิน 3 เดือนก่อนเดินทางถึงไทย และมีเอกสารรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ยกเว้นผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกายังคงต้องกักตัว 14 วัน ป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ กรณีที่ 2 ผู้มีสัญชาติไทยมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบถ้วน อย่างน้อย 14 วัน และไม่เกิน 3 เดือนก่อนเดินทางถึงไทย แต่ไม่มีเอกสารรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน และกรณีที่ 3 ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน มีเพียงเอกสารรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กักตัวเหลือ 10 วัน
นายอนุทินกล่าวว่า มาตรการนี้จะให้เริ่มในเดือนเมษายน จากนั้นในเดือนตุลาคมหากการฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้นตามเป้าหมายถึงร้อยละ 70 ก็จะพิจารณาว่าอาจผ่อนคลายให้เข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว เรื่องที่ 3 ที่ประชุมหารือถึงสถานการณ์การเมืองของเมียนมา มีความกังวลว่าจะมีผู้เดินทางเข้าไทยตามแนวชายแดนมากขึ้น จึงขอให้ สธ.เตรียมพร้อมรับมือ และเน้นย้ำหน่วยงานความมั่นคงในการตรึงแนวชายแดนให้มากที่สุด
รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคแล้ว 2 แสนโดส โดยในเดือนนี้จะเข้ามา 8 แสนโดส และเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส ส่วนวัคซีนจาก บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่เข้ามาแล้ว 117,000 โดส อยู่ในล็อตเดียวกับที่ได้สั่งซื้อไป 63 ล้านโดส ตามข้อตกลง
นายอนุทินกล่าวอีกว่า ผู้ผลิตได้จัดหาวัคซีนจากซัพพลายเชนต่างประเทศมาให้ก่อน เพื่อฉีดในช่วงที่มีการระบาดในไทย โดยในวันนี้ (8 มีค.64) จะมีการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าฯ 117,000 โดส ดังกล่าวให้กับกรมควบคุมโรคเพื่อเร่งตรวจสอบรับรองรุ่นการผลิต (lot release)
“คาดว่าใช้เวลา 2-3 วัน เร็วสุดพร้อมฉีดจะเป็นวันที่ 11 มีนาคมนี้ ก็จะต้องแจ้งไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการฉีดท่านเป็นเข็มแรกว่าท่านสะดวกฉีดวันใด แต่ต้องฉีดในสถานพยาบาล คาดว่าที่สถาบันบำราศนราดูร” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนล็อตแรกจากซิโนแวคไปแล้วกว่า 30,000 โดส เข็มที่ 2 จะฉีดห่างกัน 14-21 วัน ดังนั้น จะต้องกันวัคซีนส่วนนี้ไว้สำหรับฉีดเข็มที่ 2 ด้วย จากการติดตามผลหลังการฉีดผ่านแอพพลิเคชั่น หมอพร้อม ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ที่เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง พบเพียงผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์เล็กน้อย เช่น มีไข้ เจ็บบริเวณแผล
“ผมเองก็ฉีดซิโนแวคไปแล้ว ตอนนี้ก็ยังครบ 32 ประการ มีแต่ตื่นเช้าขึ้น เจริญอาหารมากขึ้น ไม่มีอะไรเป็นสาระสำคัญว่าผลข้างเคียงในทางลบ” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า จากนี้ไปจะเริ่มได้ยินคำถามว่าฉีดวัคซีนแล้วจะปรับมาตรการอย่างไร เปิดประเทศอย่างไร ทำการค้าท่องเที่ยวประกอบธุรกิจเหมือนปกติที่สุดอย่างไร ต้องแก้โจทย์นี้ให้ได้ ฉีดแล้วต้องกล้าเปิดประเทศ แต่ไม่ใช่เปิดทันที จึงต้องเก็บข้อมูลให้มากที่สุด คนรับวัคซีนมีอาการอย่างไร ใช้เวลากี่วันภูมิคุ้มกันจึงเพิ่มขึ้น ตนรับไปแล้ว 3-4 วันเจาะเลือดแล้วภูมิยังไม่ขึ้น สัปดาห์หน้าจะเจาะใหม่เพื่อดูว่าขึ้นหรือไม่ จะได้เก็บรวบรวมข้อมูลผู้รับวัคซีนมาประกอบการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ หรือสร้างมาตรการเพื่อให้เรากลับสู่สภาพปกติเร็วขึ้น
“วัคซีนพาสปอร์ตเล่มสีเหลืองของกรมควบคุมโรคไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มีการใช้อยู่แล้ว เช่น วัคซีนป้องกันไข้เหลือง วันนี้จะมีการหารือทั้งเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต ทำอย่างไรให้ได้รับการยอมรับในสากล คนกลัวเรื่องเล่มปลอม ลายเซ็นปลอม
“กรมควบคุมโรคกำลังหาวิธีทำแบบดิจิทัล แต่ต้องคำนึงถึงต่างชาติด้วย เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นประเทศไหนที่บอกว่ามีวัคซีนฟาสปอร์ตนี้แล้วเดินทางอิสระ แล้วเราจะรับวัคซีนพาสปอร์ตจากต่างชาติแล้วหรือไม่ ถ้าเขาเข้ามาแล้วเจอกักตัว 14 วัน ก็ต้องฝากคณะกรรมการฯว่าต้องทำอย่างไร” นายอนุทินกล่าว
ต่อมา นายอนุทินได้ประชุมร่วมกับ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เกี่ยวกับนโยบายการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยโรงพยาบาลเอกชน
ภายหลังการประชุม นายอนุทินกล่าวว่า ได้แจ้งไปยังผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนว่ายินดีสนับสนุนให้นำเข้าวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนวัคซีนและขึ้นทะเบียนโรงพยาบาล ส่วนขั้นตอนการนำเข้ายืนยันว่า อย.พร้อมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียน ออกเอกสารต่างๆ เพื่อรับรองว่าวัคซีนมีความปลอดภัยได้มาตรฐาน
“นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า แสดงความจำนงว่าต้องการฉีดวัคซีนโควิดให้แรงงานต่างด้าว โดยพร้อมออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่ง สธ.ก็พร้อมอำนวยความสะดวกให้” นายอนุทินกล่าว
นพ.เฉลิมกล่าวว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งสนใจบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยยื่นขอจัดตั้งเป็นบริษัทยากับ อย.เพื่อขอนำเข้ายาและชีววัตถุ พร้อมติดต่อบริษัทผลิตวัคซีนต่างประเทศหลายแห่งเพื่อนำเอกสารมายื่นให้ อย.รับรอง คาดว่าขั้นตอนที่ได้รับอนุญาตจาก อย.เท่าที่หารือไม่เกิน 30 วันจะแล้วเสร็จ ส่วนเรื่องราคาเป็นไปตามกลไกของตลาด
นพ.ไพศาลกล่าวว่า ขณะนี้มี 4 บริษัทยาที่มายื่นขึ้นทะเบียนวัคซีน ผ่านการรับรองและมีวัคซีนเข้ามาในประเทศไทยแล้ว 2 บริษัทคือ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และบริษัท ซิโนแวค ส่วนอีก 2 บริษัทอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารขึ้นทะเบียนคือ วัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นำเข้าโดยบริษัท แจนเซน และวัคซีนของภารัต ไบโอเทค นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด