รีเซต

"น้ำโขง" สูงขึ้น! เอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร-จุดกลับรถ จ.บึงกาฬ

"น้ำโขง" สูงขึ้น! เอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร-จุดกลับรถ จ.บึงกาฬ
TNN ช่อง16
11 สิงหาคม 2566 ( 15:55 )
162
"น้ำโขง" สูงขึ้น! เอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร-จุดกลับรถ จ.บึงกาฬ

เปิดภาพมุมสูง "น้ำโขง" เอ่อล้นท่วมนาข้าว-พื้นที่การเกษตร และ จุดกลับรถที่บึงกาฬ จนรถไม่สามารถสัญจรได้


ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดบึงกาฬ ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขง เช้าวันนี้มีระดับสูงขึ้น โดยระดับน้ำที่จุดวัดบ้านพันลำ ม.2 ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ วัดได้ 11.80 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 2.20 เมตร (ตลิ่ง 14.0 เมตร) เพิ่มขึ้นจากเช้านี้ 5 ซม. น้ำที่สูงไหลเข้าตามลำห้วยสาขา โดยเฉพาะบริเวณลำห้วยผาคาง ที่ไหลไปเชื่อมต่อกับหนองกุดเบ็น บ้านหนองแวง ม.3 ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ และหนองกุดจับ บ้านดอนยม ม.2 ต.ไคสี อ.เมืองบึงกาฬ จนเอ่อล้นลำห้วยไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรโดยรอบ ทั้งนาข้าว สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนยูคาลิตัส ทั้ง 2 ตำบลกว่า 500 ไร่


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวบึงกาฬ

 


นอกจากนี้ระดับน้ำยังส่งผลกับแคมป์คนงานที่ก่อสร้างอยู่บริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน สปป.ลาว ต้องขนย้ายเครื่องมือเครื่องจักร ข้าวของเครื่องใช้ ขึ้นมาอาศัยอยู่ใต้สะพานบนถนนหลวงสาย 212 บึงกาฬ-หนองคาย ชั่วคราว ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงและคนงานที่ต้องหยุดงาน ก็นำอุปกรณ์หาปลา ออกมายกยอตามปากท่อระบายน้ำเพื่อนำไปประกอบอาหาร


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวบึงกาฬ

 


เช่นเดียวกับบริเวณจุดกลับรถใต้สะพานลำห้วยอาฮง บ้านอาฮง ต.ไตสี น้ำโขงที่ไหลเข้าลำห้วยเอ่อท่วมจุดกลับรถ จนรถไม่สามารถสัญจรได้ จนท.แขวงทางหลวงบึงกาฬ ต้องนำป้ายเตือนมาติดตั้ง และห้ามรถใช้จุดกลับรถชั่วคราวจนกว่าน้ำจะแห้ง ซึ่งชาวบ้านก็เดือดร้อนต้องขับไปกลับรถไกลกว่า 3 กิโลเมตร บางส่วนโพสต์ไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อฟังชาวบ้านก่อนจะก่อสร้าง ทำประชาวิจารย์ชาวบ้านก็บอกแล้วว่าจุดนี้น้ำท่วม แต่ก็ยังขืนทำ เสร็จไม่ถึงปีน้ำก็ท่วมจริงๆ


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวบึงกาฬ

 


ที่ห้องประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดบึงกาฬ (ก.ช.ภ.จ.บึงกาฬ) หลังได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว จำนวน 4 อำเภอ ครอบคลุม 20 ตำบล 212 หมู่บ้าน 


โดยมีรายงานเพิ่มเติมในการพิจารณา ประกาศพื้นที่ประสบภัย (อุทกภัย) ทั้ง 8 อำเภอ ในส่วนของแนวทางช่วยเหลือ ด้านประมง ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งจะรวบรวมรายงานความเสียหายและการเยียวยาต่อไป 

ด้านปศุสัตว์ มีรายงานน้ำท่วมในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ และน้ำท่วมขังแหล่งหาอาหารสัตว์ สำหรับมาตรการถัดไป คือการใช้อำนาจฉุกเฉินประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ 


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวบึงกาฬ

 



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง