รีเซต

นักวิชาการชี้ถึงเวลาไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและการค้าประเทศ แบบมีเงื่อนไข สู้ยุคโควิดภิวัตน์

นักวิชาการชี้ถึงเวลาไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและการค้าประเทศ แบบมีเงื่อนไข สู้ยุคโควิดภิวัตน์
มติชน
31 สิงหาคม 2563 ( 13:56 )
100

ที่กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จัดสัมมนาวิชาการ “ทิศทางเศรษฐกิจการค้าไทยในยุคโควิดภิวัตน์” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน กับโครงสร้างการค้าไทยในยุคหลังโควิด

 

นายสมประวิณ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน มีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงสูง ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากจากการที่พึ่งพาทั้งอุปสงค์และอุปทานจากต่างประเทศ ดังนั้น ไทยต้องลดความเสี่ยงหรือบริหารความเสี่ยงให้ดีขึ้น อุปทานสินค้าอาจเริ่มกลับมา แต่อุปสงค์ยังไม่เหมือนเดิม การค้าอาจกลับมาดีขึ้น แต่ยังไม่น่าจะเท่าก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด จากปัจจัยทั้งเรื่องการท่องเที่ยวที่อาจใช้เวลาสักพักกว่าจะฟื้นตัว รวมทั้งการค้าสินค้าและบริการอื่นๆ ไทยจึงควรมุ่งเน้นภาคการผลิต ที่เป็นดาวรุ่ง เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ จะช่วยให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มองวิฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน เพื่อปรับการใช้ทรัพยากรให้ถูกที่ถูกทาง แนวโน้มการค้าโลกจะมาจากคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง แต่ยังต้องการของดีราคาไม่แพง การเป็นสังคมสูงวัยของทั้งไทยและโลกจะปรับเปลี่ยนแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการในตลาด นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม โรคระบาด และเทคโนโลยี จะเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

 

นายสมประวิณ กล่าวอีกว่าห่วงโซ่คุณค่า (value chain) โลกจะสั้นลง มีความหลากหลาย และเลือกพื้นที่การผลิตภายในภูมิภาคตนเองมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของโลก นอกจากนี้ ภาคบริการจะมีบทบาทและเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ภาคธุรกิจต้องนำการบริการเชื่อมต่อกับภาคการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเข้าถึงตลาดในอนาคต คาดว่าไทยจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น สิ่งสำคัญคือจะเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าได้อย่างไร และกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ทั้งไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

 

นายกฤษฎ์เลิศ กล่าวว่า การค้าไทยจะเผชิญกับความไม่แน่นอน เพราะการส่งออกสินค้าและตลาดของไทยไม่หลากหลาย รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าที่มีศักยภาพส่งออกได้ก็กระจุกตัวแค่ในกลุ่มเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ดังนั้น ต้องทำให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้น ด้วยสินค้าที่หลากหลายและมีมูลค่าเพิ่มทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งไทยสามารถเชื่อมโยงการค้ากับประเทศในภูมิภาคได้อย่างส่งเสริมกัน ไม่ใช่แข่งขัน แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการค้าโลก อาทิ การกระจายความเสี่ยงของการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป หันมาสนใจในภูมิภาคตนเองมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือแพลตฟอร์มการค้าในรูปแบบต่างๆ การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ไทย มีความสามารถในการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า

 

นายกฤษฎ์เลิศ กล่าวว่า อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่งผลต่อการค้าอย่างมาก ไทยควรปรับโครงสร้างการผลิตและการค้าให้กระจายไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น พัฒนาทักษะให้แรงงานในภาคบริการที่ไม่สามารถกลับสู่อาชีพเดิมให้มีความสามารถหลากหลายในการหาเลี้ยงชีพ ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ยังต้องการแรงงานภาคบริการที่มีทักษะจากไทย นอกจากนี้ เราต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเราอยู่ในโลกดิจิทัล จะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงระบบได้รวดเร็วและทั่วถึงหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจในระดับสูง เป็นอีกปัจจัยที่ดึงไม่ให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เพราะธนาคารพาณิชย์มักไม่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่มีระดับหนี้สูง ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ธุรกิจในทุกระดับสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จึงอาจมีบางธุรกิจที่อยู่รอดและบางธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนไปเติบโต ในสาขาใหม่ๆ รวมทั้งการกลับสู่ท้องถิ่นเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตและการใช้ทรัพยากรให้เหมาะสม

 

นายกฤษฎ์เลิศ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือไทยต้องเลือกว่าจะอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าใดของภูมิภาค จะสนับสนุนส่งเสริมการผลิตการค้ากับประเทศในภูมิภาคอย่างไรให้สอดคล้องกับศักยภาพที่แตกต่างกัน เราจะผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้อย่างไร เราอาจเป็นปลายทางของกระบวนการผลิตของโลก แต่อาจเป็นต้นทางของการผลิตในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางการค้าไม่ใช่เป็นเพียงการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ แต่เป็นการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและการค้าของประเทศแบบมีเงื่อนไขที่เกิดประโยชน์แก่คนในชาติด้วย

 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้รับจากวิทยากรในวันนี้ เป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการนำไปพิจารณาปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต สนค. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจกำหนดแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าไทย เห็นความสำคัญของการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างรวดเร็วฉับไว และจะได้ใช้ประกอบการกำหนดแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าให้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป