รีเซต

อาห์มัดเรซา จาลาลี: แพทย์สวีเดนเชื้อสายอิหร่าน เตรียมรับโทษประหารชีวิตฐานเป็นสายลับ

อาห์มัดเรซา จาลาลี: แพทย์สวีเดนเชื้อสายอิหร่าน เตรียมรับโทษประหารชีวิตฐานเป็นสายลับ
ข่าวสด
10 ธันวาคม 2563 ( 12:09 )
63
อาห์มัดเรซา จาลาลี: แพทย์สวีเดนเชื้อสายอิหร่าน เตรียมรับโทษประหารชีวิตฐานเป็นสายลับ

วีดา เมหะราน-นีอา คิดว่าการเดินทางไปกรุงเตหะรานครั้งล่าสุดของสามีจะเป็นการเดินทางไปทำงานตามปกติ และอีก 2 สัปดาห์เขาก็จะกลับมาบ้านในกรุงสตอกโฮล์มของสวีเดนเหมือนเช่นเคย แต่ 4 ปีผ่านไปเขายังไม่ได้กลับมา และวีดายังคงเสียใจอยู่ถึงวันนี้ที่ไม่ได้เอ่ยคำร่ำลาสามี

 

อาห์มัดเรซา จาลาลี ซึ่งเป็นแพทย์ ถูกทางการอิหร่านตามจับตัวระหว่างที่เขาจัดงานสัมมนาและสอนหนังสือในอิหร่าน ซึ่งเป็นภารกิจที่เขาทำเป็นประจำ เพราะมีความเชี่ยวชาญในด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

 

ระหว่างที่เดินทางจากบ้านไปสนามบินในปี 2016 วีดาได้โทรศัพท์หาสามีและอวยพรให้เขาเดินทางปลอดภัย

"แม้จะต้องห่างกันเพียง 2 สัปดาห์ ก็นานเกินกว่าจะทนได้" วีดาบอกกับบีบีซีระหว่างการสนทนาที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงสตอกโฮล์ม เธอเลือกที่จะออกมาคุยนอกบ้านเพราะขณะนี้ลูกชายคนเล็กยังไม่รู้ว่าพ่อของเขาเป็นนักโทษอยู่ในอิหร่าน เขายังคงคิดว่าพ่อเดินทางไปทำงาน

 

Vida Mehran-nia
อาห์มัดเรซา จาลาลี กับ วีดา เมหะราน-นีอา และลูกชาย ซึ่งขณะนี้มีอายุ 8 ขวบแล้ว และไม่ทราบว่า พ่อของเขาถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำในอิหร่านมานานหลายปีแล้ว

 

เป็นเวลา 4 ปีแล้ว นับตั้งแต่หน่วยข่าวกรองอิหร่านจับกุมตัวนายแพทย์อาห์มัดเรซา ซึ่งปัจจุบันถือสองสัญชาติคืออิหร่านและสวีเดน

ต่อมาเขาถูกลงโทษประหารชีวิต จากข้อกล่าวหาว่าส่งข้อมูลลับให้แก่หน่วยมอสซาด (Mossad) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการลับของอิสราเอล เพื่อช่วยให้อิสราเอลลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่านหลายคน

ทนายความของอาห์มัดเรซาระบุว่า เขายอมรับสารภาพเพราะถูกทรมาน

 

ขังเดี่ยว

วันที่ 24 ต.ค. อาห์มัดเรซาถูกย้ายไปขังเดี่ยวในเรือนจำเอวิน (Evin) ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเตหะราน และเป็นที่ที่นักโทษการเมืองส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวอยู่

วันอังคารที่ 1 ธ.ค. เขาได้โทรศัพท์พูดคุยกับครอบครัวสั้น ๆ โดยบอกว่า เขากำลังถูกย้ายไปอยู่ในแดนประหาร

 

Vida Mehran-nia
วีดา เมหะราน-นีอา บอกว่า ทุก ๆ นาที นับตั้งแต่สามีของเธอถูกจับกุมตัวในอิหร่าน เป็นช่วงเวลาที่เธอและลูก ๆ ทุกข์ทรมาน

วีดาจึงได้ออกมาเปิดเผยว่า ทางการอิหร่านกำลังเตรียมพร้อมที่จะประหารชีวิตสามีวัย 45 ปีของเธอแล้ว

"เขาท้อแท้มาก และขอให้ฉันช่วยไม่ให้เขาถูกประหารชีวิต ช่วยให้เขามีชีวิตรอด" เธอกล่าวกับบีบีซี

"เขาสิ้นเรี่ยวแรงเพราะคิดว่าหมดหนทางรักษาชีวิตตัวเองที่ถูกจองจำอยู่เพียงลำพังในห้องขังนั้น"

จากนั้นเขาก็คุยกับลูกสาว ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 18 ปี

 

BBC
อาห์มัดเรซา จาลาลี ก่อนเดินทางไปอิหร่านในปี 2016 (ซ้าย) และหลังจากที่เขาอดอาหารประท้วงในปี 2017 (ขวา)

"เธอร้องไห้และเรียกร้องให้นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนทุกคนช่วยชีวิตพ่อของเธอ" วีดาเล่า

"มันเป็นเรื่องยากมาก ความทุกข์ที่ครอบครัวของเราต้องเผชิญนั้นหนักหนาเกินกว่าที่ใครจะจินตนการได้ พวกเราเหมือนถูกทรมาน"

ครอบครัวของอาห์มัดเรซา ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างหนัก

ชีวิตครอบครัว

Vida Mehran-nia
วีดาบอกว่า ลูกชายคิดว่าพ่อยังคงจากบ้านไปทำงานในต่างประเทศ

"ลูกชายคนเล็กสุดของฉันอายุเพียง 4 ขวบ ตอนที่อาห์มัดเรซาไปอิหร่าน ตอนนี้เขาอายุ 8 ขวบแล้ว" วีดาเล่า

"เขาถามถึงพ่อตลอด และยังจำได้ว่าพ่อเคยให้เขาขี่คอ พ่อลูกมีความสุขกันมาก"

อาห์มัดเรซาเคยกำชับไว้ว่าถ้าเขาถูกแขวนคอ ห้ามเล่าให้ลูกชายฟังว่าเขาเสียชีวิตอย่างไร

เรียนต่อ

อาห์มัดเรซา จาลาลี ย้ายไปอยู่สวีเดนในปี 2009 เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

ครอบครัวของเขาเดินทางมาสมทบในปีต่อมา หลังจากเขาได้รับการตอบรับเข้าเรียนปริญญาเอกที่สถาบันคาโรลีนสกาในกรุงสตอกโฮล์ม

Vida Mehran-nia
อาห์มัดเรซากับครอบครัวอาศัยอยู่ในสวีเดน ซึ่งเป็นที่ที่เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก

จากนั้นพวกเขาย้ายไปอยู่อิตาลี ซึ่งเป็นที่ที่อาห์มัดเรซาทำงานวิจัยหลังได้รับปริญาญาเอก และเดินทางกลับมาสวีเดนในปี 2015

ครอบครัวของเขามีชีวิตที่เรียบง่าย จนกระทั่งอาห์มัดเรซาถูกจับกุมตัวหลังเดินทางไปอิหร่าน

ในปี 2018 สวีเดนได้ให้สัญชาติแก่อาห์มัดเรซา ขณะที่เขาอยู่ในเรือนจำ บางคนบอกว่าเรื่องนี้เป็นการพิสูจน์ว่าเขาเป็นบุคคลทรงคุณค่าของชาติตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ภรรยาของเขาชี้แจงว่า อาห์มัดเรซาและครอบครัวได้รับอนุญาตให้พักอาศัยอยู่อย่างถาวรตั้งแต่อาห์มัดเรซาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก

นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการนับถือ

Handout
อาห์มัดเรซามีความเชี่ยวชาญในด้านการสร้างโรงพยาบาลและการป้องกันภัยพิบัติ

เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการเคารพนับถือในสวีเดน เขาทำงานวิจัยเกี่ยวกับวิธีการสร้างโรงพยาบาลและป้องกันภัยพิบัติในภูมิภาคต่าง ๆ

ภาพนิ่งของเขาแขวนอยู่บนบอร์ดที่โรงพยาบาลเซอเดอร์ควูกฮูเซต (Södersjukhuset) ซึ่งเป็นที่ตั้งสาขาหนึ่งของสถาบันคาโรลีนสกาด้วย รูปของเขาอยู่ติดกับหัวข้อเรื่องดุษฎีนิพนธ์ "การเตรียมพร้อมและโรงพยาบาลที่ปลอดภัย: การรับมือทางการแพทย์ต่อภัยพิบัติ" (Preparedness and Safe Hospitals: Medical Response to Disasters)

เขาติดต่อกับศาสตราจารย์ลิซา คูร์แลนด์ ที่ปรึกษาการทำปริญญาเอกที่สถาบันคาโรลีนสกา

พวกเขามีกำหนดที่จะหารือกันเกี่ยวกับงานวิจัยในเดือน เม.ย. 2017 แต่อาห์มัดเรซาก็ไม่ได้มาเข้าประชุมครั้งนั้น

BBC
ศาสตราจารย์คูร์แลนด์บอกว่าอาห์มัดเรซาบอกเธอก่อนไปอิหร่านว่าการเดินทางครั้งนี้ปลอดภัย

"การที่เขาไม่ได้เข้าร่วมประชุม และไม่ได้มาปรากฏตัว เป็นเรื่องที่ผิดไปจากที่เขาเป็นอย่างสิ้นเชิง และทำให้ฉันสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า" ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ฉุกเฉินผู้นี้กล่าว

"ฉันถามเขาบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังการเดินทางแต่ละครั้งว่าปลอดภัยไหม และเขามักบอกว่าปลอดภัย"

หลังจากอาห์มัดเรซาถูกจับกุมตัวในอิหร่านใหม่ ๆ ทางครอบครัวของเขาบอกกับมิตรสหายและเพื่อนนักวิจัยว่าเขาได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ และยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่นั่น

พวกเขาคิดว่าการทำเช่นนี้จะช่วยทำให้อาห์มัดเรซาได้รับการปล่อยตัว แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จากนั้นพวกเขาจึงเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ

โทประหารชีวิต

Handout
บรรดามิตรสหายและเพื่อนร่วมงานของอาห์มัดเรซา (แถวหลัง ที่สองจากซ้าย) บอกว่าเขาเป็น "คนสุภาพ ถ่อมตัว เรียบร้อย"

ลิซากล่าวว่าเธอ "ตกใจสุดขีด" เมื่อรู้ข่าวว่าเขาถูกพิพากษาประหารชีวิต

"ฉันจำได้ว่าเขามีความปรารถนาที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง" เธอกล่าว

"เขาหาทางใช้เครื่องมือและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทั้งในการศึกษาระดับปริญญาเอก และเพื่อช่วยเหลือผู้คนในอิหร่าน"

มิตรสหายและเพื่อนนักวิจัยของอาห์มัดเรซาพากันส่งรูปของเขาให้บีบีซีดู เป็นรูปที่เขาจัดงานสัมมนาทั่วยุโรปและในอิหร่าน

คาทารีนา บูห์ม และ เวโรนิกา ลินด์สเตริม ทั้งสองคนเป็นรองศาสตราจารย์ที่สถาบันคาโรลีนสกา และเคยร่วมงานกับอาห์มัดเรซา

พวกเธอเล่าว่าเขาเป็น "คนสุภาพ ถ่อมตัว และเรียบร้อย" และมักจะพูดถึงอิหร่านอยู่ตลอดเวลา เขาต้องการที่จะเดินทางไป "แบ่งปันความรู้และช่วยเหลือผู้คน" ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในอิหร่าน ทั้งที่มีสถานการณ์ทางการเมือง

คำร้องขอ

Getty Images
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้ขอให้อิหร่านพักการประหารชีวิตอาห์มัดเรซา

ในปี 2017 ผู้คว้ารางวัลโนเบล 75 คน ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกส่งถึงทางการอิหร่าน เพื่อร้องขอให้ปล่อยตัวอาห์มัดเรซา จาลาลี ในทันที

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ผู้ได้รับรางวัลโนเบล 150 คน ได้ส่งจดหมายอีกฉบับไปยังอาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ร้องขอให้เขาเข้าแทรกแซงและปล่อยตัวนายแพทย์ผู้นี้

เดือน พ.ย. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร้องขอให้อิหร่านพักการลงโทษประหารชีวิตเขาไว้

รัฐมนตรีต่างประเทศของสวีเดน ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน และขอให้มีการพักโทษประหารชีวิตเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อิหร่าน ปฏิเสธคำร้องขอของสวีเดน และเตือนถึง "การเข้ามาแทรกแซงก้าวก่ายทุกอย่าง"

Getty Images
ผู้ประท้วงถือป้ายที่เขียนว่า "ศาสตราจารย์ไม่ใช่อาชญากร" ระหว่างการประท้วงที่สถานทูตอิหร่าน ในเบลเยียม

อิหร่านได้ควบคุมตัวพลเมืองของต่างชาติและพลเมืองที่ถือสองสัญชาติไว้จำนวนมากจากข้อกล่าวว่าเป็นสายลับ

กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ กล่าวหารัฐบาลอิหร่านว่า ใช้คนเหล่านี้เป็นเบี้ยในการต่อรองผลประโยชน์กับรัฐบาลต่างประเทศ

ในเดือน พ.ย. อิหร่านเพิ่งปล่อยตัวนักวิชาการชาวออสเตรเลียเชื้อสายอังกฤษที่กำลังรับโทษจำคุก 10 ปี ในความผิดฐานเป็นสายลับ เพื่อแลกเปลี่ยนตัวกับนักโทษชาวอิหร่าน 3 คน

นาซานีน ซาการี-รัตคลิฟฟ์ เจ้าหน้าที่องค์กรด้านความช่วยเหลือชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่านก็ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่

อุทิศตัว

Getty Images
ภรรยาของเขาเล่าว่า นายอาห์มัดเรซาต้องการจะช่วยชีวิตผู้คนจากพื้นที่หายนะภัยต่าง ๆ อย่างเช่น เหยื่อจากเหตุแผ่นดินไหวปี 2003 ในเมืองแบม

อาห์มัดเรซา อุทิศการทำดุษฎีนิพนธ์ของเขาให้กับประชาชนชาวอิหร่าน โดยเขาเขียนไว้ในหน้าแรกว่า "แด่ประชาชนที่ถูกสังหารหรือได้รับผลกระทบจากหายนะภัยทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในเมืองแบมของอิหร่าน"

ในปี 2003 แผ่นดินไหวในเมืองแบม (Bam) ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 26,000 คน

อาห์มัดเรซาย่อมไม่เคยคิดว่าการที่เขาศึกษาด้านการแพทย์ฉุกเฉินจะทำให้ต้องได้รับโทษประหารชีวิต ภรรยาของเขาบอกว่าสิ่งที่สามีต้องการทำคือการช่วยชีวิตผู้คน และป้องกันภัยพิบัติ

CENTER FOR HUMAN RIGHTS IN IRAN
อาห์มัดเรซา จาลาลี เป็นหนึ่งในชาวต่างชาติและผู้ที่ถือสองสัญชาติจำนวนมาก ที่ถูกทางการอิหร่านควบคุมตัวไว้ในข้อหาเป็นสายลับ

ลูกสาวของอาห์มัดเรซาได้เดินตามรอยเท้าพ่อ ขณะนี้เธอได้ลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งเดียวกับที่พ่อของเธอได้รับปริญญาเอก

เหตุการณ์ที่พลิกผันนี้เป็นเรื่องราวที่ขมขื่นสำหรับวีดา ซึ่งให้การสนับสนุนลูกสาว แม้ครอบครัวของเธอจะสูญเสียสมาชิกคนสำคัญไป

"ตอนที่ลูกเรียนจบมัธยมปลายด้วยคะแนนสูงสุด พ่อของเธอไม่ได้อยู่แสดงความยินดีกับเธอด้วย" วีดาเล่าทั้งน้ำตา

"ตอนที่ลูกเลือกเรียนแพทย์เหมือนพ่อและได้รับเลือกให้เข้าเรียนที่สถาบันคาโรลีนสกาที่พ่อเป็นศิษย์เก่า เขาก็ไม่ได้อยู่ร่วมยินดีกับเธอ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง