รีเซต

แสงสว่างปลายอุโมงค์! ‘เดลตา’ อาจเป็นคลื่นระบาดสุดท้าย ก่อนเป็น "โรคประจำถิ่น"

แสงสว่างปลายอุโมงค์! ‘เดลตา’ อาจเป็นคลื่นระบาดสุดท้าย ก่อนเป็น "โรคประจำถิ่น"
TNN ช่อง16
27 กันยายน 2564 ( 12:33 )
80

วันนี้ ( 27 ก.ย. 64 )Center for Medical Genomics หรือ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า การระบาดโรคโควิด-19 สายพันธุ์ “เดลตา” อาจเป็นคลื่นลูกสุดท้ายของการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) ก่อนกลายสภาพไปเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic)

ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเห็นตรงกันว่าการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก (Pandemic) ของสายพันธุ์ “เดลตา” กำลังปรับเปลี่ยนไปเป็นการระบาดแบบโรคประจำถิ่น (Endemic) ภายใน 6 เดือนหรือ 1 ปีหลังจากนี้

นิยามของ "Pandemic" (การระบาดใหญ่/ทั่วโลก) คือ โรคระบาดที่ระบาดทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์สเปนในปี 2461 (Spanish flu) การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดการระบาดของโควิด-19 ไปใน +122 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่ "Endemic (โรคประจำถิ่น)" คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น มีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ โดยขอบเขตของพื้นที่อาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างกลุ่มประเทศ หรือทวีป เช่น ไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา

ศาสตราจารย์ดาม ซาราห์ กิลเบิร์ต (Professor Dame Sarah Gilbert) ผู้บุกเบิกวัคซีนชนิดต่างๆมากมายรวมทั้งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ต่อต้านโรคโควิด-19  แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่าโดยปกติหากเราพบว่าไวรัสมีการแพร่กระจายติดต่อระหว่างคนสู่คนได้อย่างรวดเร็วขึ้นมากเท่าไรก็จะมีความรุนแรงในการก่อโรคลดน้อยลงเท่านั้น 

https://www.youtube.com/watch?v=caJIuweJhAg

ซึ่งเราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไวรัสก่อโรคโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ “เดลตา” มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” มากกว่า 70 ตำแหน่ง มากกว่าทุกสายพันธุ์ของโควิดในโลกขณะนี้ ทำให้สามารถแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วเหนือทุกสายพันธุ์ และเข้าแทนที่ทุกสายพันธุ์ในร่างกายมนุษย์จากทุกประเทศทั่วโลกโดยไร้คู่แข่ง (no competitor)   จึงไม่มีแรงกดดัน (pressure) ให้ต้องมีไวรัส  SARS-CoV-2 เวอร์ชันที่ร้ายแรงกว่าสายพันธุ์เดลตาอีก  (ภาพ 2-3)

สายพันธุ์ “เดลตา” แพร่ติดต่อไปอย่างรวดเร็วจะอ่อนแอลงตลอดเวลาและไม่น่าจะกลายพันธุ์ก่ออันตรายไปมากกว่านี้ เพราะหากมีกลายพันธุ์ อาทิไปเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันไปมากกว่านี้อย่างในกรณีที่เกิดขึ้นกับสายพันธุ์ “เบตา” ก็จะส่งผลให้โปรตีนหนามแหลมเปลี่ยนไปมากจนไม่สามารถจับกับเซลล์มนุษย์เพื่อเข้ารุกรานได้ดี อันจะส่งผลให้การติดต่อแพร่เชื้อลดลง (อย่างกรณีของ “เบตา”) และถูกแทนที่ด้วยไวรัสที่ติดเชื้อได้รวดเร็วกว่า เช่น อัลฟา เดลตา และแกมมา 

ในอนาคตหากเราติดเชื้อสายพันธุ์ “เดลตา” ประเมินกันว่าจะมีอาการไม่รุนแรงเท่ากับการติดเชื้อเดลตาในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะมีอาการคล้ายเป็นโรคไข้หวัดที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลเท่านั้น

ดร.สก็อตต์ กอตต์เลบ (Dr. Scott Gottlieb) อดีตกรรมาธิการขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริษัทผู้ผลิตยา Pfizer, Inc.   และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริหารของบริษัท Illumina, Inc. ได้แสดงความเห็นว่าด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ซึ่งคำนวณโดยอาศัยข้อมูลจากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัส ข้อมูลประชากร  ข้อมูลระบาดวิทยา  ข้อมูลทางคลินิก ฯลฯ มาประกอบกันจากหลายภาคส่วนบ่งชี้ว่าการระบาดของคลื่นลูกที่สี่ (ในสหรัฐ) ซึ่งเกิดจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเป็นตัวการหลัก อาจเป็นคลื่นลูกสุดท้ายของการระบาดใหญ่ (Pandemic) ของ COVID-19  หากไม่มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมา คาดการณ์ว่าไวรัสก่อโรค COVID-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งหมายความว่ามีอยู่ตลอดไป แต่แพร่เชื้อในอัตราที่ต่ำ และอาการไม่รุนแรง

https://www.youtube.com/watch?v=kwFKB4Zh0t8 นาทีที่ 3.20

สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อ SARS-CoV-2  โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี คาดว่าไม่เกิน 6 เดือนหลังจากนี้สถานการณ์การติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ “เดลตา” จะดีขึ้น มีผู้ติดเชื้อ  ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตลดลงเป็นลำดับ สังเกตจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ ในบ้านเราตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา แต่ละสายพันธุ์จะมีการอุบัติขึ้น  คงอยู่  และดับสูญไป ในระหว่าง 3-6 เดือนไม่ยาวนานมากกว่านี้ (ภาพ 4) 

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลื่นระลอกแรกเป็นคลัสเตอร์สนามมวยและสถานบันเทิง เป็นสายพันธุ์ “A.6” ระบาดระหว่าง ม.ค. 2563-ก.ค. 2563

คลื่นระลอกสอง เป็นคลัสเตอร์โรงงานสมุทรสาครและตลาดปทุมธานี เป็นสายพันธุ์ “B.1.36.16” ระบาดระหว่าง ต.ค. 2563-พ.ค. 2564

คลื่นระลอกสาม เป็นคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ เป็นสายพันธุ์อัลฟา “B.1.1.7” ระบาดระหว่าง ม.ค. 2564-ก.ค. 2564

คลื่นระลอกสี่ เป็นคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง เป็นสายพันธุ์เดลตา “B.1.617.2” ระบาดระหว่าง เม.ย. 2564-ปัจจุบัน 

https://www.facebook.com/CMGrama/posts/4307301109377636

ซึ่งขณะนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าคลื่นลูกที่สี่ "เดลตา" ในไทยกำลังอ่อนกำลังลง เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เมืองหรือจังหวัด  การเพิ่มระยะห่างในการเข้าสังคม (social distancing) การมีผู้ติดเชื้อไวรัสตามธรรมชาติบวกกับผู้ที่ได้รับวัคซีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่  และผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง

จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ SARS- CoV-2 ในไทยมีความเป็นไปได้สูงที่ “สายพันธุ์เดลตาหลัก” จะถูกแทนที่ด้วย สายพันธุ์เดลตาย่อย "AY.30”  ซึ่งพบมากในประเทศไทยและกัมพูชา  ซึ่งอาจจะเป็นเดลตาเวอร์ชั่นที่อ่อนกำลังลงปรับโหมดเข้าสู่การระบาดแบบโรคประจำถิ่น (Endemic) ซึ่งยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

ข้อมูลจาก "GISAID" เดลตาสายพันธุ์ย่อย AY.30 ถูกถอดรหัสพันธุกรรมไปแล้วทั่วโลกจำนวนทั้งสิ้น 9,633  ตัวอย่าง พบในไทยคิดเป็นร้อยละ 33.3 ในขณะที่สายพันธุ์เดลต้าหลักตรวจพบจากการถอดรหัสพันธุกรรมในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 66.7 เบต้า 11.1  และอัลฟา 5.6 

 

 

ข้อมูลจาก : ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ 

ภาพจาก   : TNN

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง