รีเซต

สธ.เผย "โควิด-19" ในไทย ชายอัตราป่วยตายมากกว่าหญิง 4 เท่า

สธ.เผย "โควิด-19" ในไทย ชายอัตราป่วยตายมากกว่าหญิง 4 เท่า
มติชน
17 เมษายน 2563 ( 17:34 )
78
สธ.เผย "โควิด-19" ในไทย ชายอัตราป่วยตายมากกว่าหญิง 4 เท่า

สธ.เผย “โควิด-19” ในไทย ชายอัตราป่วยตายมากกว่าหญิง 4 เท่า ย้ำรักษามาตรการสวมหน้ากากผ้าต่อไป

โควิด-19 เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม – วันที่ 17 เมษายน มีผู้ป่วย 2,700 ราย เสียชีวิต 47 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 1.7 ต่ำกว่าอัตราป่วยตายของทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6 อยู่ถึง 4 เท่า และพบว่า เพศชายมีอัตราป่วยตายมากกว่าเพศหญิง 4 เท่า เนื่องจากมีพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ไต ภาวะอ้วน เป็นต้น แต่บางรายไม่มีโรคประจำตัว ดังนั้น ทุกคนจึงไม่ควรประมาท

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง ปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่เสี่ยง และเว้นระยะห่างทางสังคม หากปฏิบัติได้จะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตได้ง่าย จากสถิติพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปี มีอัตราเสียชีวิตถึงร้อยละ 12.1 จึงเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการปกป้องให้ปลอดภัย

“อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ดีที่สุด คือ ต้องระวังตนเองไม่ให้ป่วย สำหรับตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศ ข้อมูลวันที่ 14 เมษายน พบ 99 ราย เพศหญิง 71 ราย และเพศชาย 28 ราย โดยพบความเสี่ยงในการติดเชื้อ 2 รูปแบบ คือ ติดเชื้อขณะปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล จากการให้การดูแลและรักษาผู้ป่วย ร้อยละ 73.68 สัมผัสเพื่อนร่วมงานที่ติดเชื้อในโรงพยาบาล ร้อยละ15.7 ซักประวัติและคัดกรองผู้ป่วยร้อยละ 2.63 อีกร้อยละ 3 ติดจากการปฏิบัติงานไม่สามารถระบุได้ชัดเจน และการติดเชื้อในขณะใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องปฏิบัตินอกจากป้องกันตนเองในขณะปฏิบัติงานแล้ว ควรป้องกันขณะดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่างกับผู้อื่น และขอความร่วมมือประชาชนให้แจ้งข้อมูลหรือประวัติความเสี่ยง ซึ่งมีความสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อสู่บุคลากรทางการแพทย์

 

นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การไม่กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม และการสวมหน้ากากอนามัยชนิดผ้า มีผลทำให้การติดเชื้อในประเทศไทยลดลง และเริ่มมีการยอมรับในต่างประเทศแล้วว่า การสวมหน้ากากผ้าเป็นคำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อของโรคได้ เนื่องจากป้องกันได้ทั้งในส่วนของการรับเชื้อของผู้ที่ยังไม่ป่วย รวมถึงการแพร่เชื้อในผู้ที่มีอาการป่วยแล้วหากสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน น้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง ก็จะไม่แพร่ไปสู่ผู้อื่นได้

“จะเห็นได้ว่า มาตรการการสวมหน้ากากผ้าของคนไทยมีมากถึงร้อยละ 90 และหากมีการรักษามาตรการอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะมีการปลดล็อกมาตรการอื่นๆ ความเสี่ยงในการติดเชื้อใหม่ก็จะต่ำ รวมถึงทำควบคู่กับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมก็สามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้มากยิ่งขึ้น” นพ.โสภณ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง