รีเซต

โควิดเปลี่ยนโลก ภาคธุรกิจปรับตัว รับ "นิว นอร์มอล"

โควิดเปลี่ยนโลก ภาคธุรกิจปรับตัว รับ "นิว นอร์มอล"
มติชน
25 เมษายน 2563 ( 08:08 )
336

โควิดเปลี่ยนโลก ภาคธุรกิจปรับตัว รับนิว นอร์มอลž

 

จากยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ในไทยที่ทะยานขึ้นหลักร้อยคน บวกกับเริ่มมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม นำมาซึ่งการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดดังกล่าวถึงวันที่ 30 เมษายนนี้

กับปรากฏการณ์ล็อกดาวน์ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ที่ทำให้หลายกิจการปิดตัวลงจากคำสั่งรัฐบาล หรือจากสถานการณ์ที่บังคับ ส่วนธุรกิจที่ยังเดินไปได้ก็ต้องปรับในการทำงาน ส่วนใหญ่ต้องให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ทั้งหมดก็เพื่อยุติเจ้าโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเบาบางลง ผู้ติดเชื้อน้อยลง ไม่มีผู้เสียชีวิต แม้จะยังวางใจไม่ได้ ต้องดูแลเข้มงวด แต่สัญญาณของการปลดล็อกดาวน์ก็เริ่มเห็นชัดเจนแล้วแม้จะไม่ 100%

เมื่อเป็นเช่นนี้ความหวังในการกลับมาใช้ชีวิตปกติของประชาชน ธุรกิจต่างๆ จะกลับมาเดินหน้าปกติ ร้านรวงกลับมาเปิดกิจการ มีการจ้างงาน แรงงานกลับมามีรายได้ มีความมั่นคงอีกครั้ง เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนนั่งนับวันรอ

อย่างไรก็ตาม ความหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนกันคงเป็นไปได้ เพราะทั้งโลกเป็น “นิว นอร์มอล” หรือ “สภาพเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมปกติ ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤต”

“ณัฐพล รังสิตพล” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม แสดงความเห็นว่า ถ้าโลกผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้สิ่งที่เจอหลังจากนี้รวมทั้งประเทศไทยคือ นิว นอร์มอล หรือสภาพเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมปกติ ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤต พฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนไป ทั้งด้านความคิด การใช้ชีวิต สะท้อนไปยังธุรกิจต่างๆ จะมีธุรกิจเกิดใหม่ แต่หลายธุรกิจจะล้มหายถ้าไม่ปรับตัว ซึ่งเรื่องนี้ กสอ.กำลังติดตามและเข้าแนะนำช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทย

“ตอนนี้ถ้าไทยจบโควิด-19 ได้เป็นข่าวดี เป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศแน่นอน แต่การขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต้องเตรียมการอย่างเร่งด่วน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คือกรณีแรก คือไทยจบ เคลียร์โรคระบาดนี้ได้ แต่ไทยเป็นไข่แดงอยู่ตรงกลางที่ล้อมรอบด้วยประเทศอื่นที่ยังไม่จบ ทั้งในเอเชีย หรือยุโรปที่ไทยพึ่งพาการส่งออกจากประเทศเหล่านั้น หากเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไร แต่หากเป็นกรณีสองคือ ทุกประเทศจบ ถ้ากรณีไม่น่ากังวล เพราะเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนต่อไป ท่ามกลางการฟื้นฟูของทุกประเทศ”

“ณัฐพล” ยังชี้ว่า สถานการณ์ที่ไทยจบเพียงประเทศเดียวแต่ต้องขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไป อาจถึงเวลาที่ไทยต้องนำรูปแบบ “ชาตินิยม” มาใช้อย่างเร่งด่วนในระยะสั้น หมายถึงคนไทยเองต้องหันมาพึ่งพากันเอง ต้องกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การใช้สินค้าจากผู้ผลิตไทย หรือเมดอินไทยแลนด์ ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอ เป็นจังหวะที่เหมาะมากที่สุดแล้ว โดยเฉพาะสินค้าจากเอสเอ็มอีที่มีคุณภาพสูง ต้องสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ทุกอย่างต้องปรับ ไม่เหมือนเดิม

“การหวังพึ่งพาการส่งออกทั้งที่ตลาดต่างๆ ยังไม่ฟื้นตัว การหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจนำเชื้อโรคมาแพร่อีกครั้ง คงไม่ใช่คำตอบในระยะสั้นนี้”

ด้าน “เกรียงไกร เธียรนุกุล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไทยที่มีแนวโน้มลดลงถือเป็นการบ่งชี้ถึงศักยภาพที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง แต่หากรัฐจะผ่อนปรน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายจะต้องมีแผนและมาตรการคุมเข้มในการป้องกันการระบาดโควิด-19 อย่างรัดกุมด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นและจบลง ทุกภาคส่วนของไทยจะต้องเตรียมรองรับนโยบายด้านการค้าและการลงทุนจะเปลี่ยนไป นักวิเคราะห์ต่างชาติเริ่มออกมาส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า โควิด-19 ได้ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหนัก เพราะฐานการผลิตเหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากประเทศโดยเฉพาะสหรัฐมาอยู่ในแถบเอเชีย อาทิ จีนแทน ดังนั้น อนาคตอันใกล้หลังจบโควิด-19 อาจมีการโยกย้ายฐานการผลิตกลับครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของโลกได้ เพื่อให้ประเทศได้มีการพึ่งพาตนเองมากขึ้นยามเหตุฉุกเฉิน

ปัจจุบันไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างชาติรวมสัดส่วนสูงถึงกว่า 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกรณีโควิด-19 นี้ทำให้ไทยจำเป็นต้องทบทวนบทบาทดังกล่าว เช่นเดียวกับภาคการผลิตและธุรกิจที่จะต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะธุรกิจในอนาคตที่จะมามีบทบาทมากขึ้นคือ ไอทีและดิจิทัล การค้าขายที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจการเงินที่จะก้าวสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น

“สงครามการค้าทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนไปแล้วบางส่วน แต่โควิด-19 อาจจะเกิดการย้ายฐานการผลิตกลับครั้งใหญ่สุด และต่อไปนโยบายการค้าและการลงทุนจะเปลี่ยนไปทำให้หลายประเทศต้องมาทบทวนความมั่นคงการผลิตด้านสาธารณสุข อาหาร สาธารณูปโภคและพลังงานมากขึ้น เช่นเดียวกับกติกาการค้าโลก อาทิ องค์การการค้าเสรี และเขตการค้าเสรีต่างๆ อาจมีการทบทวน” เกรียงไกรระบุ

น่าติดตามว่า ไทยจะฟื้นฟูประเทศเศรษฐกิจท่ามกลาง “นิว นอร์มอล” ได้ดีแค่ไหน หลังมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จในการหยุดยั้งโรคระบาดโควิด-19 ในไม่ช้านี้…

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง