สาธิต เผย ถกแล้ว! แต่ยังไม่สรุปเลื่อนถอดโควิดพ้นยูเซ็ป ยันต้องสื่อสาร ปชช.
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ที่โรงแรงพูลแมน รางน้ำ ถึงกรณีเสนอให้เลื่อนปลดโรคโควิด-19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤต หรือยูเซ็ป (UCEP) จากวันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นวันที่ 1 เมษายน 2565 เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อม ว่า ล่าสุด ตนได้หารือกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ.แล้ว และได้รับมอบหมายให้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาถึงข้อดีข้อเสียว่าจะประกาศในเรื่องนี้อย่างไร เพราะจะมีผลกระทบกับผู้ใช้บริการ
“ย้ำว่า ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการร่างประกาศ ซึ่งเดิมสถานการณ์ยังมีผู้ติดเชื้อไม่มาก แต่หลังจากเทศกาลตรุษจีน ทิศทางติดเชื้อมากขึ้น จึงกังวลเรื่องการสื่อสารและมีปัญหาเรื่องการตีความประกันภัยที่ยังไม่จบ เพราะฉะนั้น การสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจเป็นหัวใจสำคัญ เพราะถ้าประชาชนไม่ทราบข้อมูล ไปใช้บริการนอกระบบ ต้องไปจ่ายเงินเอง ก็จะกระทบกลับมาที่รัฐบาลได้ จึงต้องใช้เวลาในการให้ข้อมูลว่า เมื่อประกาศยกเลิกยูเซ็ปโควิด-19 ต้องไปตามสิทธิ ถ้าไปโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน พูดง่ายๆ ก็ต้องจ่ายเงิน” นายสาธิต กล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. กล่าวว่า นอกจากนี้ มีอีกประเด็นว่า แม้อัตราการครองเตียงยังรับได้ แต่โควิด-198 ที่มีโรคเก่าร่วมอยู่ เช่น มะเร็ง แม้ไม่มีอาการก็ต้องการเตียงที่มีศักยภาพ จึงต้องคำนวณการใช้เตียงเพิ่มจากส่วนนี้ ดังนั้น การมีติดเชื้อที่สูงขึ้น จึงต้องใช้ศักยภาพของ รพ.เอกชน เหมือนกัน ขณะที่ กรุงเทพมหานคร คนจะเข้าใจการเข้าระบบ Home Isolation (HI) ได้มาก แต่บางคนอยู่อาคารชุด คอนโดมิเนียม แต่นิติบุคคลยังไม่เข้าใจ ไม่ให้กักตัวก็อยากไปใช้บริการ รพ. แต่หากปลดออกจากยูเซ็ป รพ.เอกชน ก็อาจปิดฮอสปิเทลลดลง ถ้ามีก็ยังเป็นทางเลือกให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการได้ในทุกทางเลือกที่ต้องการและไม่ต้องจ่ายเงิน ก็ต้องมาประเมินร่วมกัน ซึ่งถ้ามีข้อสรุป ก็จะให้รองนายกฯ สื่อสารกับประชาชนต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า หารือแล้วสรุปว่าจะเลื่อนหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ยังต้องหารืออีก เพราะยังไม่ประกาศ และประกาศยังไม่ได้ลงนาม ซึ่งการขยายไปวันที่ 1 เมษายน เป็นข้อเสนอเดิมของตน แต่ยังไม่ได้กำหนดออกมา ขึ้นอยู่กับกรณี (เคส) ด้วย เพราะตอนนี้เคสสูงขึ้น ต้องดูว่าควรจะขยายไปหรือไม่กับสถานการณ์แบบนี้
เมื่อถามว่า เมื่อออกจากยูเซ็ปยังใช้ระบบสายด่วน 1330 เข้า Home Isolation ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิมหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ยังได้เหมือนเดิม เมื่อติดต่อเข้าระบบแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาประเมินอาการและนัดหมายส่งอุปกรณ์และอาหาร แม้ขณะนี้ผู้ติดเชื้อเยอะขึ้นแต่ระบบรันได้ดี เพราะยูเซ็ปโควิดเกี่ยวกับ การเข้า รพ.เอกชน เมื่อเกิดฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งต้องผ่านการวินิจฉัยว่าวิกฤตจริงๆ แต่มีช่องว่างระหว่างฉุกเฉินวิกฤตและติดเชื้อที่ต้องไปใช้บริการ ก็ต้องระวังตรงนี้
“ส่วนการอยู่ร่วมกับโควิด-19 นั้น สธ.และรัฐบาลมีการประเมิน เรามีเกณฑ์ทำให้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งแต่ละประเทศมีตัวเลขแตกต่างกันไป ทั้งฉีดวัคซีน จำนวนติดเชื้อ นโยบายรัฐบาล ตอนนี้เราต้องฉีดเข็มที่ 3 ให้มากที่สุด รวมถึงทำมาตรการ VUCA คู่ขนาน ซึ่งจะป้องกันติดเชื้อได้ดี ลดการเสียชีวิตและป่วยรุนแรง ถ้าบูสเตอร์ โดส เข็มที่ 3 ได้มาก ก็อาจจะมีการดำเนินการค่อยๆ ดาวน์ให้เป็นโรคประจำถิ่นได้” นายสาธิต กล่าว