รีเซต

เอสเอ็มอีอยู่อย่างไร ในวิกฤต'โควิด-19'

เอสเอ็มอีอยู่อย่างไร  ในวิกฤต'โควิด-19'
มติชน
4 เมษายน 2563 ( 08:05 )
82
1

อสเอ็มอีอยู่อย่างไรในวิกฤต’โควิด-19′

ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้จะทำให้หลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจในภาคบริการ ท่องเที่ยว เกิดอาการจุก ท้อและเสี่ยงเลิกกิจการ แต่ในอีกมุมหนึ่งหากสามารถทำใจยอมรับ และค้นหาแนวทางปรับตัวให้อยู่รอด ก็จะเป็นหนทางพิสูจน์ฝีมือบริหารธุรกิจของผู้ประกอบการนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

สำรวจความช่วยเหลือจากภาครัฐ นอกจากมาตรการทางการเงินที่จัดทัพออกมาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องแล้ว อีกด้านหนึ่งระหว่างที่ธุรกิจต้องปิดกิจการหน้าร้านชั่วคราว หรือดำเนินกิจการหน้าร้านได้น้อยลง ก็เป็นโอกาสหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะปรับตัวและมุ่งไปสู่การดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

หน่วยงานหลักด้านสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ล่าสุดได้จัดทำแผนการส่งเสริมเอสเอ็มอีอย่างเข้มข้น โดยใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลเป็นตัวนำ

“ณัฐพล รังสิตพล” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ระบุว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายแผนงานที่ กสอ.เตรียมดำเนินการไม่สามารถทำได้ ต้องปรับเปลี่ยนวิธี หรือบางโครงการ อาทิ งานแสดงสินค้าในต่างประเทศ งานเอ็กซ์โปต่างๆ ถูกยกเลิก และใช้แนวทางอื่นเข้าสนับสนุนเอสเอ็มอีแทน ขณะนี้ กสอ. ได้ปรับแผนงานส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ล่าสุดได้มุ่งจัดงานสัมมนาโดยใช้วิธีไลฟ์สดให้ผู้ประกอบการได้เรียนจากทางบ้าน จากบริษัท หรือโรงงาน แล้วแต่ความสะดวกของผู้ประกอบการ และจัดให้มีผู้ประกอบการ 3-5 คนเรียนในห้องที่ กสอ.เตรียมไว้เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนให้กับวิทยากร

“กสอ.พบว่าหลังเปิดคอร์สอบรมไลฟ์สตรีมครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้สนใจลงเรียนอย่างถล่มทลาย สูงถึง 1,800 ราย จำนวนนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะสเกลใหญ่สุดที่กรมเคยทำคือ ประมาณ 500 คน แต่เป็นลักษณะการที่ผู้ประกอบการมาเจอกับวิทยากร เจอกับเจ้าหน้าที่กรม หรือหากเป็นสเกลเล็กก็ไม่เกิน 100 ราย ดังนั้นการอบรมผ่านออนไลน์จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงว่าให้เห็นว่าผู้ประกอบการพร้อมเรียนรู้ และปรับตัวในช่วงวิกฤตเช่นนี้ หลังจากนี้ กสอ.จะนำผลการดำเนินงานไปประเมินผล หากรูปแบบออนไลน์มีศักยภาพทัดเทียมการอบรมแบบเจอตัวเป็นๆ อนาคตอาจมุ่งการดำเนินการผ่านออนไลน์มากขึ้น แต่กรณีนี้ก็ต้องอยู่ที่สำนักงานงบประมาณด้วยว่าจะอนุญาตให้ใช้เกณฑ์นับจำนวนผู้รับอมรมจากระบบออนไลน์หรือไม่ เพราะทั้งหมดมีผลต่อการเสนอโครงการ และงบประมาณในอนาคต”

“ณัฐพล” ระบุว่า สำหรับคอร์สที่ กสอ.อยู่ระหว่างอบรมผ่านระบบออนไลน์ มีจำนวน 6 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.ขายสินค้าออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก 2.ขายสินค้าออนไลน์ ผ่านไลน์ 3.กระตุ้นยอดขายด้วยกูเกิลแอดเวิร์ด 4.การขายสินค้าผ่านยูทูบ 5.ตอบลูกค้าทันใจ ปิดการขายด้วยแชทบอท และ 6.กระตุ้นยอดขายด้วยภาพถ่ายและวิดีโอซึ่งการตลาดออนไลน์ ตั้งเป้าหมายเพิ่มทักษะผู้ประกอบการแบบเร่งด่วน 3 เดือน อบรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคมนี้ และจะเว้น 1 สัปดาห์ เท่ากับจะเปิดการอบรมรูปแบบนี้เดือนละ 2 ครั้ง

ความสนใจจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังเวิร์ก ฟอร์ม โฮม ทำให้ กสอ.คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมอบรมออนไลน์ตลอดหลักสูตรมากกว่า 15,000 ราย เพราะครั้งแรกที่เปิดสอนสูงถึง 1,800 รายแล้ว และคาดว่าตลอดปีงบประมาณตั้งแต่ตุลาคม 2562-กันยายน 2563 จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมอบรมทั้งช่องทางปกติและออนไลน์รวม 20,000 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 600 ล้านบาท

“โครงการเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นหนึ่งในภารกิจหลักในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมของ กสอ. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนให้มีความรู้ความสามารถในการนำโซเชียลมีเดียในโลกออนไลน์มาใช้เป็นเครื่องมือประยุกต์ในการดำเนินธุรกิจและเป็นการปูพื้นฐานให้แก่ผู้ประกอบการก่อนยกระดับเพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศสู่การเพิ่มยอดขายอย่างยั่งยืนต่อไป” อธิบดี กสอ.เน้นย้ำ

นอกจากนี้กิจกรรมอบรม กสอ.ยังทำแคมเปญ Shop4U โดยได้รวบรวมข้อมูลรายชื่อและพิกัดตำแหน่งที่ตั้งร้านขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคทางเลือกที่จำเป็น เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าไปค้นหาได้ที่เว็บไซต์ www.dip.go.th เพื่อลดความแออัดจากการที่ต้องไปซื้อสินค้าจากห้างร้านใหญ่ๆ

อีกแผนงานสำคัญที่ กสอ.กำลังเดินหน้า เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้รอดในสถานการณ์ปัจจุบันและแข็งแกร่งเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย คือ การวิเคราะห์การปรับตัวของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางธุรกิจในอนาคต โดยมีการตั้งทีมเข้ามาสำรวจเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว

“ณัฐพล” ระบุว่า วิกฤตครั้งนี้คาดว่าจะทำให้รูปแบบธุรกิจของหลายธุรกิจเปลี่ยนไป ตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ง่ายๆ ที่เห็นตอนนี้สินค้ากลุ่มเครื่องมือแพทย์อย่างหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ อาจเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ต้องพกติดตัวนับจากนี้กลายเป็นสินค้าจำเป็น หรือผลจากการเวิร์ก ฟอร์ม โฮม ทำให้ธุรกิจอาหาร ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัว เน้นบริการส่ง ผู้ให้บริการส่งมีมูลค่าตลาดมากขึ้น ทุกธุรกิจต้องพึ่งพาดิจิทัล ต้องมีร้านออนไลน์

นอกจากนี้พฤติกรรมของประชาชนในฐานะผู้บริโภค หลังพ้นวิกฤตโควิดอาจคล้ายกับช่วงหลังสงครามโลก ที่ประชาชนจะมีพฤติกรรมการประหยัด การอยู่บ้าน ระมัดระวังการออกไปยังสถานที่ต่างๆ พฤติกรรมเช่นนี้จะส่งผลต่อทิศทางธุรกิจให้ต้องปรับตัว จะมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น เชื่อว่า 2-3 เดือนจากนี้จะเห็นผลการศึกษาที่ชัดเจน

“การวิเคราะห์ของ กสอ. เพื่อประเมินสถานการณ์ในอนาคต หรือ foresight จากนั้นนำมาจัดทำฐานข้อมูลให้เอสเอ็มอี ตลอดจนแผนส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยปรับตัว และเติบโต ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้” ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง