ครม.มีมติสั่งทุกกระทรวงลุยแผนโครงการร่วมมือลุ่มน้ำโขง เผยญี่ปุ่นสนับสนุน 2 พันล้าน
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 1 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลภายหลังผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับประเทศญี่ปุ่น ครม.เห็นชอบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นครั้งที่ 13 พร้อมมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามมติของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ สาระของการประชุมมีดังนี้
1.ประเทศญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มจำนวนเงินช่วยเหลือให้กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง จากเดิมให้ 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 1,680 ล้านบาท เงินตรงนี้จะให้ไปเพื่อขยายความร่วมมือทางด้านวิชาการแก่บุคลากรทางการแพทย์ และการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์อื่นๆในประเทศลุ่มน้ำโขง
2.อาเซียนมีข้อเริ่มการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอื่นๆในอนาคต การจัดตั้งคลังสำรองระดับภูมิภาคสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ และมาตรการดำเนินการที่มีมาตรฐานในสถานการณ์ฉุกเฉินในด้านสาธารณสุข
3.ในที่ประชุมประเทศไทยได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำโครงการ เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการรับมือกับโรคระบาดซึ่งทุกประเทศให้การสนับสนุนในเรื่องนี้
4.ประเทศสมาชิกมุ่งมั่นในการบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อกลุ่มผู้เปราะบาง ส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคเอกชนและภาคนวัตกรรม ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพตามหลักการของ จี20 ว่าด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ
5.ทางญี่ปุ่นได้มีข้อริเริ่ม ครูเซ็นวัน แม่โขงเอสดีจีอินนิกะทีบ (KUSANONE Mekong SDG initiative) โดยจะสมทบเงินให้อีก 1,000 ล้านเยนหรือประมาณ 300 ล้านบาทสำหรับการดำเนินงานปี 2020 เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมชนบทและหมู่บ้านทั่วภูมิภาคในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง
รัชดา กล่าวว่า โดยสรุปกรอบความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นวิธีส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยประเทศ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนามกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาภูมิภาคในครั้งนี้คือ ญี่ปุ่น เป้าหมายหลักส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคม เพื่อส่งเสริมการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน