รีเซต

ผู้ว่าฯ อัศวิน เผย กทม.เปิดสายด่วนรับปรึกษาผู้ป่วย-ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

ผู้ว่าฯ อัศวิน เผย กทม.เปิดสายด่วนรับปรึกษาผู้ป่วย-ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
มติชน
7 กันยายน 2563 ( 13:34 )
74
ผู้ว่าฯ อัศวิน เผย กทม.เปิดสายด่วนรับปรึกษาผู้ป่วย-ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

วันนี้ (7 กันยายน 2563) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าผลการดำเนินงานควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำนักอนามัย กทม.เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563 เวลา 17.00 น. พบว่า ร้าน First cafe at Khao San road ที่มีผู้สัมผัสรวม 127 คน เสี่ยงสูง 2 คน โดยได้ทำการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค (PUI) ที่โรงพยาบาล (รพ.) วชิรพยาบาล จำนวน 1 คน ไม่พบเชื้อ และ PUI จำนวน 1 คน รพ.กลาง ไม่พบเชื้อ ได้กักตัวทั้ง 2 คน เพื่อติดตามเฝ้าระวังที่โรงพยาบาล (Isolate Quarantine)

 

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ส่วนผู้เสี่ยงต่ำ 125 คน ให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค และ Self Quarantine พร้อมประชาสัมพันธ์ให้คัดกรองโควิด-19 ผ่าน Website BKK Covid-19 นอกจากนี้ ยังจัดรถพระราชทานให้บริการเก็บสิ่งส่งตรวจของประชาชนที่มีความกังวลบริเวณถนนข้าวสาร จำนวน 112 คน พบว่าไม่มีผู้ติดเชื้อ โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อได้สั่งปิดสถานที่ดังกล่าวจนกว่าสำนักงานเขตจะอนุญาตให้เปิดบริการต่อไป

 

“อย่างไรก็ดี กทม.ได้ดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวมถึงให้ผู้มีความเสี่ยงกักตัวเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 14 วัน และจัดเจ้าหน้าที่ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณสถานประกอบการที่ผู้ติดเชื้อทำงาน และสถานที่พักอาศัยของผู้ติดเชื้อ เป็นต้น” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

 

 

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลดความกังวลปัญหาการแพร่ระบาด หรือกังวลว่าจะติดเชื้อ กทม.จึงได้ดำเนินการจัดทำแบบประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง ด้วยระบบคัดกรองความเสี่ยง BKK COVID-19 ผ่านเว็บไซต์ http://bkkcovid19.bangkok.go.th ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยระบบจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น การคัดกรองผ่านแบบประเมินประวัติเสี่ยง และการคัดกรองผ่านแบบประเมินอาการ ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่ออกแบบโดยทีมแพทย์ นักวิชาการ ร่วมกับ กทม. และเป็นแบบฟอร์มที่ใช้จริงในโรงพยาบาลเพื่อการสอบสวนโรคของกลุ่มเสี่ยง เมื่อประเมินผลแล้วระบบจะวิเคราะห์ว่าบุคคลนั้นอยู่ในกลุ่มใด จาก 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไม่พบประวัติเสี่ยง (สีเขียว) กลุ่มเฝ้าระวัง (สีเหลือง) กลุ่มเสี่ยง (สีส้ม) และกลุ่มเข้าเกณฑ์สงสัย (สีแดง) เพื่อดำเนินการต่อให้เหมาะสม

 

 

“หากระบบประเมินว่ามีความเสี่ยง เจ้าหน้าที่จะโทรไปสอบถามอาการ ให้ความรู้ และทำการยืนยันอาการ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ทำการประเมินแล้วพบว่าเป็นผู้ที่ต้องได้รับการตรวจ ระบบจะนัดผู้ที่ต้องได้รับการตรวจมาตรวจอาการด้วยวิธีการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง (SWAB) จมูกหรือปาก และส่งไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช หรือห้องแล็บของโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ที่ได้มาตรฐาน อาทิ รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.กลาง เป็นต้น โดยระบบจะจัดให้ประชาชนได้รับการตรวจ ณ สถานพยาบาลที่ใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกของประชาชน และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อ โดย กทม.จะเก็บข้อมูลทั้งหมดของผู้เข้าใช้ระบบ BKK COVID-19 เป็นความลับ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับบุคคลอื่น” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

 

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กทม.ได้เปิดสายด่วนเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีความกังวลต่อความเสี่ยงการติดเชื้อ สามารถแจ้งข้อมูลและขอคำปรึกษาแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1646 และ 1669 ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) หรือ สายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค หรือ 0 2245 4964, 0 2203 2393 และ 0 2203 2396 (ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) และ 09 4386 0051, 08 2001 6373 (ให้บริการเวลา 08.00–16.00 น.) สายด่วนกองควบคุมโรค สำนักอนามัย กทม. นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งข้อมูลและขอคำปรึกษาแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ใกล้บ้านได้อีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง