ชำนาญ เทียบพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ กับพรก.ฉุกเฉิน ความเหมือนหรือต่าง ในวิกฤตโควิด-19
ชำนาญ โพสต์เทียบ ความเหมือน-ต่างระหว่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ กับ พรก.ฉุกเฉิน ในวิกฤตโควิด
วันนี้ (3 เม.ย.) นายชำนาญ จันทร์เรือง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อเขียนเรื่อง “ความเหมือนและแตกต่างระหว่างพรบ.โรคติดต่อฯกับพรก.ฉุกเฉินฯ” โดยระบุว่า
“จากวิกฤตการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้นได้มีการใช้มาตรการที่อาศัยอำนาจทางกฎหมายหลายฉบับเข้ามาดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งในตอนแรกได้มีการใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ก่อนแล้วจึงตามด้วยการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นแตกต่างกันมาก ทั้งในสารบัญญัติและวิธีการปฏิบัติ จนสร้างความงุนงงและสงสัยเป็นอย่างมาก ว่าการที่หน่วยงานหรือจังหวัดต่างๆอาศัยอำนาจตามกฎหมายไหนกันแน่ เพราะบางอย่างก็ประกาศใช้ก่อนมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน บางจังหวัดก็ใช้คำว่า “ห้าม” บางจังหวัดก็ใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ” จึงเป็นข้อถกเถียงกันว่าอันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ และการอ้างอำนาจตามกฎหมาย(ซึ่งบางจังหวัดกันเหนียวเลยอ้างคู่กันไปเลย)นั้นอ้างถูกหรือไม่ เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ผมจึงขอนำมาเสนอ ดังนี้
1) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558
ประเทศไทยเราถือได้ว่ามีความก้าวหน้าและทันสมัยมากที่มีการประกาศใช้กฎหมายนี้ เพราะหลายๆประเทศยังไม่มีใช้เลย เช่น อินโดนีเซีย เป็นต้น พรบ.ฉบับนี้เกิดขึ้นจากการที่ไทยได้ให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR)ที่กำหนดเรื่องการป้องกันรักษาและควบคุมโรคระบาด ซึ่งการป้องกัน รักษาและควบคุมโรคระบาดนั้น ปรัชญา ที่มา และการดำเนินการ อีกทั้งความรู้ที่ใช้ จะเป็นเรื่องการสาธารณสุข การแพทย์ พยาบาล เภสัชศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ วิจัย ค้นคว้าเป็นส่วนใหญ่ จึงแตกต่างกับ พรก. ฉุกเฉิน อย่างสิ้นเชิง
โดยมาตรา 34 ของกฎหมายนี้ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อ สั่งให้คนที่เป็นโรคมากักตัว บังคับรักษา จนกว่าจะเป็นที่พอใจว่าจะไม่แพร่เชื้อต่อได้ อีกทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังให้เจ้าของบ้านหรือสถานที่ต่างๆ ทำความสะอาด จัดการสุขาภิบาลต่างๆ เพื่อป้องกันโรค และห้ามไม่ให้ทำการใดๆที่เป็นบ่อเกิดทำให้เกิดโรคได้ด้วย เช่น ออกจากที่ควบคุม หรือเข้าไปในพื้นที่ เช่น บ้าน โรงเรือน หรือยานพาหนะที่มีโรคติดต่อ
นอกจากนี้ ในมาตรา 35 ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ เช่น ตลาด สถานประกอบอาหาร โรงงาน โรงมหรสพ หรือห้ามจัดกิจกรรม สั่งห้ามการประกอบอาชีพที่ทำให้เกิดโรค และการกำกับโรคระบาดให้ครอบคลุมไปถึงการจัดการกับการเดินทางเข้าออกจากต่างประเทศด้วย โดยผู้ที่ไม่ปฏิบัตตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในมาตรา 34 และ 35 จะมีโทษจำคุก โทษปรับ หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ตั้งแต่ โดยโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
1.1 องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ
1.1.1 มาตรา 11 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ” ประกอบด้วย
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ
(2) ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการ
(3) กรรมการซึ่งมาจากผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนสภาการพยาบาล ผู้แทนสภาเทคนิคการแพทย์ และผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จํานวนแห่งละหนึ่งคน
(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ เป็นที่ประจักษ์ในด้านการสาธารณสุข การควบคุมโรค และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันควบคุม โรคติดต่อ จํานวนสี่คน โดยในจํานวนนี้ต้องแต่งตั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็น การแสวงหาผลกําไรและดําเนินกิจกรรมด้านการสาธารณสุข อย่างน้อยหนึ่งคน
ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นกรรมการและเลขานุการ
1.1.2 มาตรา 20 ให้มีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ประกอบด้วย
(1) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ
(2) ปลัดจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด หัวหน้าสํานักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด ผู้อํานวยการสํานักงานป้องกันควบคุมโรคที่รับผิดชอบในเขตจังหวัด และนายกองค์การ บริหารส่วนจังหวัด เป็นกรรมการ
(3) นายกเทศมนตรี จํานวนหนึ่งคน และนายกองค์การบริหารส่วนตําบล จํานวนหนึ่งคน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เป็นกรรมการ
(4) ผู้อํานวยการโรงพยาบาลศูนย์หรือผู้อํานวยการโรงพยาบาลทั่วไป จํานวนหนึ่งคน ผู้อํานวยการ โรงพยาบาลชุมชน จํานวนสองคน และสาธารณสุขอําเภอ จํานวนสองคน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เป็นกรรมการ
(5) ผู้ดําเนินการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล จํานวนหนึ่งคน ซึ่งผู้ว่า ราชการจังหวัดแต่งตั้ง เป็นกรรมการ ในกรณีที่จังหวัดใดมีโรงพยาบาลในสังกัดหน่วยงานของรัฐอื่นนอกจาก (4) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งผู้อํานวยการโรงพยาบาลในสงกัดหน่วยงานของรัฐนั้น จํานวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการด้วย
ในกรณีที่จังหวัดใดมีด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งประจําด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ จํานวนแห่งละหนึ่งคน และแต่งตั้งผู้รับผิดชอบช่องทางเข้าออกประจําด่าน จํานวนแห่งละหนึ่งคน เป็นกรรมการด้วย
ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ
2) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ความเป็นมาของกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี พ.ศ.2548 ภายหลักเหตุการณ์วางระเบิดเมืองยะลาเป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับทั้งตัวเมืองติดต่อเป็นเวลานาน จึงได้ตรา พรก. ฉุกเฉินฯ ขึ้นใช้บังคับต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน และเมื่อประกาศแล้ว อำนาจหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ให้โอนมาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วไป นายกฯ มีอำนาจออกข้อกำหนด ตาม มาตรา 9 โดยย่อดังนี้
(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด(Curfew)
(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ
(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย ทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือหรือสื่ออื่นใด ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเกิดความไม่สงบ
(4) ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะที่กำหนด
(5) ห้ามใช้อาคารหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรืออพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด
ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีความร้ายแรงพนักงานเจ้าหน้าที่ (เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจทหารฯลฯ ซึ่งต้องมีคำสั่งแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี)สามารถดำเนินการตามมาตรา 11และ 12 ได้ โดยย่อดังนี้
(1) จับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน
(2) ออกคำสั่งรียกบุคคลมาให้ข้อมูล
(3) ออกคำสั่งยึดสินค้าอุปโภค บริโภค หรือเคมีภัณฑ์
(4) ออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ทำลายอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง
(5) ตรวจสอบจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ ยับยั้งการสื่อสารใดๆ
(6) ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆหรือสั่งให้กระทำการใดๆตามความจำเป็น
(7) ห้ามผู้ใดเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
(8) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกๆไปนอกราชอาณาจักร์
(9) การซื้อขาย การใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าอุปโภค บริโภค หรือเวชภัณฑ์ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
(10) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้
ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกําหนด ประกาศ หรือคําสั่งตามพรก.ฯต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ(ม.19)
องค์ประกอบคณะกรรมการฯ
โดยทั่วไปแล้วในมาตรา 6 ได้กำหนดโครงสร้างของคณะทำงานตามกฎหมายที่มีชื่อว่า คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ไว้ดังนี้
ประธานกรรมการ คือ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
รองประธานกรรมการ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
กรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อํานวยการสํานัก ข่าวกรองแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติอธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการ
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
แต่ในกรณีการแก้ไขปัญหาโควิด19นี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผู้อำนาวยการศูย์เองโดยไม่ได้มอบหมายให้รองนายกฯทำหน้าที่แต่อย่างใด และนายประทีป กีรติเลขา รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง เป็นเลขานุการศูนย์ฯ
ซึ่งโครงสร้างศอฉ.จะยึดกรอบการทำงาน ด้านต่างๆ ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดCoViD-19 โดยมี 8 ศูนย์ประสานการปฏิบัติ 8 ด้าน ให้ ปลัดกระทรวง ในแต่ละด้าน เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ
(1) ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อ โควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุขดูแล
(2) ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทย พลเรือน ตำรวจ ทหาร ดูแล
(3) ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดูแล
(4) ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด -19 มีสำนักนายกรัฐมนตรีดูแล
(5) ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ มีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และ สตม.ดูแล
(6) ศูนย์กระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขดูแล
(7)ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า มีกระทรวงพาณิชย์ดูแล
(8) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนการปฏิบัติของทหาร-ตำรวจ มี ผบ. ทหารสูงสุด ในนาม กองบัญชาการกองทัพไทย ทบ.-ทร.-ทอ.และ ตำรวจ รับผิดชอบงาน
3)ความเหมือนกันระหว่าง พรบ.โรคติดต่อฯกับ พรก.ฉุกเฉินฯ โดยย่อคือ
3.1 การกักตัวหรือควบคุมตัวบุคคล
3.2 การเข้าออกตรวจค้นเคหสถาน
3.3 การสั่งห้ามใช้อาคารหรืออยู่ในสถานที่ใดๆที่กำหนด
3.4 การสั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะที่กำหนด
4)ความแตกต่างที่ที่พรก.ฉุกเฉินฯทำได้แต่พรบ.โรคติดต่อฯทำไม่ได้ โดยย่อคือ
4.1 การสั่งห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด(Curfew)
4.2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ
4.3 ตรวจสอบจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ ยับยั้งการสื่อสารใดๆ
4.4 การอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด
4.5 มีข้อยกเว้นการรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่(ม.17)
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คงจะพอสร้างความกระจ่างขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ในเรื่องของอำนาจนั้น เราชาวบ้านอาจจะไม่เท่าไหร่ไรนัก แต่เจ้าหน้าที่ต้องระวังให้มาก มิใช่ว่าเมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าฝ่ายปกครองตำรวจทหารแล้วจะเป็นพนักงานเจ้าหน้ที่กันทุกคนโดยอัตโนมัติ และเมื่อมีอำนาจแล้วก็อย่าใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ถ้าใช้อำนาจเกินแล้ว พรก.ฉุกเฉินฯก็ช่วยไม่ได้นะครับ