หมอเลี๊ยบ ลั่น หยุดยาแรง แก้โควิด แจงเหตุผล ทำไมต้องเลิกปิดเมือง!
วันนี้ (22 เม.ย.) น.พ.สุรพงษ์ สืบวงค์ลี (หรือ หมอเลี๊ยบ) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นกรณีมีกระแสข่าวว่ารัฐบาล จะทำการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรการเคอร์ฟิว โดยหมอเลี๊ยบ ระบุว่า
ปิดเมือง คือ "ยาแรง"..ถึงเวลาหยุดให้ยา : 1 พฤษภาคม ได้เวลาเปิดเมือง และว่าด้วยปฏิญญาสำคัญของแพทย์ First, Do No Harm !
......................................................
1. ถึงวันนี้เรา "ปิดเมือง" มาครบ 1 เดือนพอดี 2. การ "ปิดเมือง" หรือ "กึ่งปิดเมือง" คือยาแรงที่ถูกใช้เพื่อจำกัดการระบาดของโควิด ผมเองเห็นด้วยกับการใช้ยาแรงในช่วงวิกฤต และเคยเสนอให้ "กึ่งปิดเมือง" หรือ "หรี่ไฟเมือง" เมื่อวันที่ 19 มีนาคม โดยเสนอให้ปิด 21 วันเพื่อครอบคลุมระยะเวลาฟักตัวของไวรัส (ประมาณ 14 วัน) 3. คำถามคือ ผ่านการ "ปิดเมือง" มา 31 วันแล้ว ถึงเวลาหยุดให้ยาแรงหรือยัง
4. ในทางการแพทย์ "ยาแรง" หรือ "ยาอันตราย" หรือ "การรักษาที่อันตราย" มีข้อบ่งชี้ในการใช้ และมีข้อกำหนดที่ต้องหยุดใช้ เราไม่ใช้ยาแรงโดยไม่ระมัดระวัง เพราะการใช้ยาแรงเกิดอาการข้างเคียงหรือแม้แต่เกิดโทษถึงแก่ชีวิตได้ แพทย์จึงใช้ยาปฎิชีวนะบางชนิดเมื่อจำเป็นอย่างยิ่งและรีบหยุดยาเมื่อครบกำหนด
แพทย์จึงให้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาเมื่อจำเป็นอย่างยิ่ง และหยุดการรักษาเมื่อครบคอร์ส แล้วรอผลลัพธ์ที่ตามมา เพราะยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาไม่เพียงทำลายเซลล์มะเร็ง แต่มีผลต่อเซลล์ปกติและทำให้ร่างกายอ่อนแอลงด้วย
5. ดังนั้น ปฏิญญาสำคัญของแพทย์ทุกคนที่ต้องยึดถือคือ "First, Do No Harm / เหนือสิ่งอื่นใด ห้ามทำให้เกิดอันตราย" เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจแพทย์ทุกคนว่า การรักษาที่ให้ ต้องไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย ยิ่งทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยมากกว่าโรคที่เป็นอยู่ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำเลย
6. การ "ปิดเมือง" คือ "ยาแรง" หรือ "ยาอันตราย" มีผลดีในการจำกัดการระบาดให้น้อยลง และ "ซื้อเวลา" ในการเพิ่มศักยภาพการควบคุมโรค และเตรียมทรัพยากรในการรักษาโรค แต่ก็มีข้อเสียคือ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทุกหย่อมหญ้า
ยิ่งคนหาเช้ากินค่ำ ยิ่งทุกข์มากเป็นทวีคูณ ยิ่งปิดเมืองนานเท่าใด ผลกระทบต่อคนจนและคนชั้นกลางจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น จนทำให้ระบบเศรษฐกิจพังทลาย เพราะเมื่อฐานรากอ่อนแอ ยอดปิรามิดก็จะถล่มลงมาด้วย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ เปรียบการ "ปิดเมือง" เหมือนการ "กลั้นหายใจ"
คนเรากลั้นหายใจได้นานไม่เท่ากัน คนที่พอมีทุนรอนสะสมย่อมกลั้นหายใจได้นานกว่าคนที่ขาดแคลน ดังนั้น จึงไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องที่คนกลั้นหายใจได้นานกว่าจะพร่ำบอกว่า "กลั้นหายใจกันต่อไปเถิด เพื่อความปลอดภัยของเราทุกคน" ในขณะที่คนกลั้นหายใจได้สั้นกว่ากำลังจะขาดใจตาย
7. จริงหรือ ที่บางคนบอกว่า วันที่ 1 พฤษภาคม เรายังไม่พร้อม "เปิดเมือง" ...(ทั้งๆที่เราสามารถสร้างมาตรการป้องกันโรคและควบคุมโรคภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดอย่างรัดกุมรอบคอบได้) ผมตอบได้เลยว่า "ไม่จริง" ไม่มีประเทศไหนรอเปิดเมืองในวันที่ผู้ป่วยใหม่เป็นศูนย์ เพราะเรารู้ว่า โควิดยังอาจอยู่กับเราและมีผู้ป่วยใหม่ประปรายไปอีกช่วงหนึ่ง (วันที่ 8 เมษายนซึ่งเปิดเมืองอู่ฮั่น จีนยังมีผู้ป่วยใหม่ในวันนั้น 63 คน)
ไม่มีประเทศไหนตัดสินใจเปิดเมืองเพราะเส้นกราฟหรือสูตรคณิตศาสตร์ชี้ว่า "เอาละ...เปิดเมืองได้แล้ว" เพราะไม่เคยมีเส้นกราฟหรือสูตรคณิตศาสตร์ใดๆที่แม่นยำเช่นนั้นจริง เนื่องจากปัจจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข ปัจจัยทางวัฒนธรรม การบริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องโควิดมีมากมายและซับซ้อนเกินกว่าสูตรคณิตศาสตร์ใดๆจะคำนวณได้
8. แต่การตัดสินใจ "เปิดเมือง" เกิดขึ้นได้ถ้าคลื่นของการระบาดกำลังเป็นขาลงใกล้แตะฐานแล้ว การตัดสินใจ "เปิดเมือง" เกิดขึ้นได้ถ้าความรับรู้ของประชาชนในการป้องกันโรคเป็นไปอย่างกว้างขวาง (ไม่ต้องถึง 100% ขอเพียง 80% ก็เพียงพอแล้ว ตามหลักการ "ภูมิคุ้มกันหมู่ / Herd Immunity) การตัดสินใจ "เปิดเมือง" เกิดขึ้นได้ถ้าความพร้อมในการควบคุมโรคและการรักษาโรคถึงจุดที่พร้อม "เต็มอัตราศึก" แล้ว
9. เราปิดเมืองมา 31 วัน วันนี้มีผู้ป่วยใหม่เพียง 15 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,826 ราย รักษาหายแล้ว 2,352 ราย เสียชีวิต 49 ราย คงเหลือผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 425 ราย อาการหนัก 61 ราย เรามี 9 จังหวัดที่ไม่เคยมีผู้ป่วยโควิดแม้แต่คนเดียว เรามี 36 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยใหม่มาแล้ว 14 วัน เราเห็นผู้คนใส่หน้ากากอนามัยและเฟซชีลด์กันเกิน 90% เราเห็นแอลกอฮอล์เจลล้างมือทั่วทุกหนแห่ง
เรามีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) 1,040,000 คนทั่วประเทศที่เฝ้าระวังผู้ติดเชื้อและค้นหาผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เพื่อกักกันตัว 14 วัน เราตรวจ RT-PCR หาเชื้อไวรัสมาแล้ว 142,589 ตัวอย่าง (ตัวเลข ณ วันที่ 17 เมษายน) และมีขีดความสามารถตรวจได้วันละ 20,000 ตัวอย่าง แต่ทุกวันนี้มีผู้เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อเพียง 3,000 - 4,000 ตัวอย่าง (ทั้งๆที่เกณฑ์ตรวจเชื้อเปิดกว้างมากแล้ว) ดังนั้นจึงมีขีดความสามารถคงเหลืออีก 16,000 ตัวอย่างต่อวัน
วันนี้เรามีเตียงที่รองรับผู้ป่วยโควิดทั้งประเทศ 15,095 เตียง เป็น เตียง ICU 4,681 เตียง, ห้องแยก Isolation Room 3,748 เตียง, ห้องผู้ป่วยรวม Cohort Ward 4,533 เตียง, Hospitel (กรุงเทพมหานคร) 522 เตียง และเตียงสนาม (ต่างจังหวัด) 1,611 เตียง และเรามีเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) รองรับผู้ป่วยโควิด 12,735 เครื่อง
จากข้อมูลข้างต้นนี้ เราพร้อม "เปิดเมือง" อย่างมีขั้นตอนและปลอดภัยตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขหรือยัง ผมตอบได้เลยว่า "ยิ่งกว่าพร้อม"
10. ถ้าเช่นนั้น..รออะไรอยู่ รอการพิจารณาจาก ศบค. ครับ กระทรวงสาธารณสุขส่งข้อเสนอ "เปิดเมือง" ตามแนวทางที่มีขั้นตอน ปลอดภัย และรัดกุมถึง ศบค.แล้ว ถ้าจะ "เปิดเมือง" วันที่ 1 พฤษภาคม..วันนี้ (22 เมษายน) ศบค.ต้องประกาศให้เกิดความชัดเจน เพื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรีบเตรียมการ
11. ส่วนใครที่ "กลั้นหายใจ" ได้นานกว่าคนอื่นและยังเรียกร้องให้คนที่กำลังจะขาดใจ..กลั้นหายใจต่อไป ขอท่านกลับไปทบทวนปฏิญญาสำคัญของแพทย์ที่ว่า "First, Do No Harm / เหนือสิ่งอื่นใด ห้ามทำให้เกิดอันตราย"