รีเซต

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง เตรียมรับมือมวลน้ำก้อนใหญ่ อัดรบ.จัดการน้ำล้มเหลว

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง เตรียมรับมือมวลน้ำก้อนใหญ่ อัดรบ.จัดการน้ำล้มเหลว
มติชน
7 ตุลาคม 2564 ( 15:38 )
41
เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง เตรียมรับมือมวลน้ำก้อนใหญ่ อัดรบ.จัดการน้ำล้มเหลว

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง ต.โพนเมือง อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ประมาณ 50 คน ประกอบไปด้วย ตัวแทน อ.โพธ์ชัย อ.เชียงขวัญ อ.ทุ่งเขาหลวง อ.เสลภูมิ อ.อาสามารถ จ.ร้อยเอ็ด และ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ่มครองสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายอื่น ๆ ได้ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อเตรียมรับมือมวลน้ำที่กำลังไหลมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังวิจารณ์รัฐบาลที่ไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี เนื่องจากพายุมาลูกเดียวส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำชี

 

 

นายสิริศักดิ์ สะดวก อายุ 42 ปี ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้หลังจากติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนบนและตอนกลาง ตอนนี้มวลน้ำชีที่ไหลมาจากจังหวัดชัยภูมินั้น ได้ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและกำลังไหลเข้าพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งต่อไปก็จะเป็นพื้นที่ขอบเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ และจะไหลมาถึงขอบเขตพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจากการประชุมหารือกันที่ประชุมเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ติงรัฐบริหารจัดการน้ำพลาด เพราะเขื่อนในแม่น้ำชีไม่เตรียมพร่องน้ำออกก่อน เพื่อเตรียมรองรับมวลน้ำที่เกิดจากพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้เขื่อนบางเขื่อนพึ่งแขวนบานก็มี จึงทำให้น้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนที่อยู่ตอนกลางและตอนล่างในแม่น้ำชีมีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน

 

 

“หมายถึงว่าตอนนี้แม่น้ำชีมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่บางพื้นที่ปริ่มตลิ่ง บางพื้นที่เกือบถึงตลิ่ง บางพื้นที่ตลิ่งต่ำก็ล้นเข้าพื้นที่เกษตรของชาวบ้านแล้ว ดังนั้นตนมองว่าเมื่อแม่น้ำชีตอนกลาง และแม่น้ำชีตอนล่างมีน้ำต้นทุนมาก ถ้าน้ำที่กำลังไหลมาสมทบอาจจะก่อให้เกิดปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน การประชุมของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างวันนี้จึงเป็นการวิเคราะห์ทิศทางการไหลของน้ำและการเตรียมรับมือน้ำท่วมของภาคประชาชนที่มีพื้นที่ชุมชนใกล้กับแม่น้ำชี ตลอดจนการเฝ้าระวังน้ำท่วมโดยการประสานงานกันเป็นระยะเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”

 

 

ด้านนายจันทรา จันทาทอง อายุ 46 ปี กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า วันนี้หลังจากได้ร่วมกันฟังการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมทำให้เข้าใจสถานการณ์น้ำมากขึ้น และเป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม เพื่อลดความเสี่ยง ของชาวบ้านที่มีชุมชนใกล้แม่น้ำชี ในขณะที่วันนี้ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างยังมีข้อสรุปในการเปิดโรงครัว เตรียมรับบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง หรือเป็นวัตถุดิบที่จะมาประกอบอาหาร เพื่อนำไปช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ โดยจะเริ่มรับบริจาคตั้งแต่วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคมนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง