รีเซต

สปสช.พร้อมหนุนการจัดระบบรับมือโควิดระบาดภาคใต้

สปสช.พร้อมหนุนการจัดระบบรับมือโควิดระบาดภาคใต้
มติชน
25 ตุลาคม 2564 ( 13:22 )
33
สปสช.พร้อมหนุนการจัดระบบรับมือโควิดระบาดภาคใต้

สปสช.เตรียมรับมือ ‘โควิด-19’ แพร่ระบาดที่ภาคใต้ พร้อมสนับสนุนการจัดระบบดูแลผู้ติดเชื้อ เตรียมจัด ATK ดูแลผู้ป่วยฟอกไตในพื้นที่เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา จำนวน 2,300 ราย ตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อนฟอกไต ลดอุปสรรคเข้าถึงบริการ พร้อมแจ้งหลักเกณฑ์กองทุนบัตรทอง ปี 65 ส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 ข้ามเขต ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และเร่งโอนงบ ‘กปท.’ งวดแรก หนุนท้องถิ่นแก้ปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่

 

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้ ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สปสช.ได้มีการติดตามการเตรียมการรองรับสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19 ของพื้นที่ สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา เพื่อสนับสนุนการจัดระบบดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19

 

“ทั้งนี้ ประเด็นหนึ่งที่ได้หารือคือกรณีที่ สปสช.ได้รับการประสานจากเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต ขอให้ช่วยสนับสนุนชุดตรวจ แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen test kit) หรือ ATK ให้กับผู้ป่วยฟอกไตในพื้นที่เขต 11 และเขต 12 เนื่องจากก่อนได้รับบริการฟอกไต ผู้ป่วยต้องตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อน ซึ่งมีหลายหน่วยบริการเรียกเก็บค่าตรวจเชื้อโควิด-19 นี้ โดยขอ ATK จำนวน 10 ชุดต่อผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งเขต 11 มีผู้ป่วยฟอกไตจำนวน 1,500 ราย ส่วนเขต 12 มีจำนวน 800 ราย ซึ่ง สปสช. ได้รับเรื่องแล้วและจะมีการประสานโดยเร็ว” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้โทรมาที่สายด่วน สปสช.1330 เพื่อหาเตียง ให้ประสานกับ สปสช.เขต โดยเร็วเพื่อจัดการดูแลผู้ป่วย ที่ผ่านมามีผู้ป่วยจากเขต 12 สงขลาจำนวน 830 ราย และเขต 11 สุราษฎร์จำนวน 169 ราย ซึ่งทางสายด่วน สปสช. 1330 ได้ประสานไปยังหน่วยบริการในพื้นที่ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลแล้ว

 

ขณะเดียวกันในส่วนของการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 จากโรงพยาบาลชุมชนไปยังโรงพยาบาลศูนย์ รวมถึงกรณีการส่งผู้ป่วยข้ามเขตพื้นที่นั้น ตามประกาศหลักเกณฑ์บริการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2565 ระบุให้สามารถทำได้เลย โดยให้ถือเป็นกรณีโควิดฉุกเฉิน ไม่ต้องมีใบส่งตัว แต่เนื่องจากมีหน่วยบริการในพื้นที่บางแห่งไม่มั่นใจ ดังนั้นกรณีที่พบปัญหา สปสช.เขต สามารถทำหนังสือเพื่อแจ้งไปยังหน่วยบริการได้ เพื่อให้ผู้ป่วยโควิดได้รับการส่งตัวได้โดยไม่มีอุปสรรค

 

นพ.จักรกริช กล่าวว่า ส่วนของการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ที่สามารถใช้งบประมาณ กปท.ในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ได้ ในที่ประชุมได้ให้เร่งโอนงบประมาณ กปท. งวดแรกไปยังท้องถิ่นโดยเร็ว เพื่อสนับสนุน อปท. ให้มีงบสนับสนุนการจัดการและแก้ปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่ รวมถึงการทำระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชน (Home Isolation และ Community Isolation : HI/CI)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง