รีเซต

สเปรดเดอร์สมุทรสาคร เจ็บวันนี้เพื่อชัยชนะในวันหน้า

สเปรดเดอร์สมุทรสาคร เจ็บวันนี้เพื่อชัยชนะในวันหน้า
มติชน
7 มกราคม 2564 ( 06:19 )
57
สเปรดเดอร์สมุทรสาคร เจ็บวันนี้เพื่อชัยชนะในวันหน้า

หากย้อนภาพกลับไปเมื่อช่วงสายวันที่ 17 ธ.ค.2563 หรือเมื่อปีที่แล้ว ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้แจ้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19

ในวันดังกล่าว เจอผู้ป่วยใหม่ 20 ราย ทั้งหมดเดินทางมาจากต่างประเทศเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ ครั้นพอตกเย็นในเวลา 17.30 น. “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร รายแรก เป็นหญิงอายุ 67 ปี อาชีพค้าขาย (เจ้าของแพปลา) ในตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร

 

ส่วนผู้ใกล้ชิดถูกกักกันตัวเฝ้าดูอาการมี 4 กลุ่ม รวม 18 คน ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ลูกชายคนที่ 2 (ชาย 31 ปี) กับ เพื่อนลูกชาย (หญิง 25 ปี) ผลไม่พบเชื้อ กักกันที่ รพ.สมุทรสาคร กลุ่มที่ 2 มารดาผู้ป่วยติดเตียง (หญิง 95 ปี) น้องชายผู้ป่วย (ชาย 57 ปี) น้องสะใภ้ (หญิง 57 ปี) พี่สาวคนโต (หญิง 73 ปี) แม่บ้าน (ไป-กลับ) (หญิง 56 ปี) ทั้งหมดอยู่ระหว่างรอผล กักกันที่บ้าน กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่สัมผัสกับผู้ป่วยในช่วงขายของ คือ ลูกชายคนที่ 1 (ชายอายุ 39 ปี) กักกันตัวที่โรงพยาบาล ลูกจ้างเมียนมาชาย 40 ปี กับลูกจ้างเมียนมาชายอายุ 48 ปี อยู่ระหว่างติดตามมาเก็บตัวอย่างและกักกัน ส่วนกลุ่มที่ 4 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 ราย เก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้วไม่พบเชื้อ

 

ขณะที่ตลาดกุ้งตัดสินใจปิดตัว 1 วัน ส่วนแพปลาอยู่ในโซนเดียวกันหยุด 3 วัน พร้อมทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ

ในเบื้องต้น ผู้ว่าฯสมุทรสาครแจ้งว่า ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าติดเชื้อมาจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาหรือไม่ ไม่รู้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อมาจากที่ใด ความยากในการสอบสวนโรคคือแรงงานต่างด้าวมีจำนวนมาก ประกอบกับสมุทรสาครไม่ใช่จังหวัดปิดห้ามคนเข้าออกนอกพื้นที่

 

ถัดมาอีก 1 วัน 18 ธ.ค. ผู้ว่าฯสมุทรสาครได้แจ้งกรณีหญิงแพกุ้งติดเชื้อ ได้มีการตรวจผู้ที่เสี่ยงสูงใกล้ตัวต่างติดเชื้ออีก 6 ราย ประกอบด้วย มารดา วัย 95 ปี พี่สาว อายุ 73 ปี น้องสะใภ้ อายุ 57 ปี, ลูกจ้างชายชาวเมียนมา อายุ 40 ปี พ่อค้าในตลาดกลางกุ้ง ที่มีการติดต่อซื้อขายกับผู้ติดเชื้อรายแรก อายุ 42 ปี และเสมียนหญิง อายุ 24 ปี

หลังมีกระแสข่าวพบผู้ติดเชื้อโควิดในแพกุ้งทำให้ “ตลาดทะเลไทย” ตลาดศูนย์กลางส่งออกสินค้าสัตว์น้ำรายใหญ่ของจังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบ ผู้คนเริ่มเดินน้อยลง แม้จะเป็นคนละตลาด ตั้งอยู่ห่างกัน

 

19 ธ.ค.2563 จ.สมุทรสาครรายงานยอดผู้ป่วยโควิด-19 พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรวม 13 ราย เพิ่มขึ้นใหม่อีก 6 ราย ประกอบด้วย รายที่ 8 ภรรยาของลูกจ้างชาวเมียนมา รายที่ 9 ผู้อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับตลาดกุ้ง รายที่ 10 อยู่ระหว่างการสอบสวน รายที่ 11 อยู่ในตลาดนัดใกล้กับตลาดกลางกุ้ง รายที่ 12 มาซื้อของที่ตลาดกุ้ง และรายที่ 13 ทำงานที่เดียวกับรายที่ 12 มาซื้อของที่ตลาดกุ้ง

 

ผู้ว่าฯวีระศักดิ์ยืนยันว่า ผู้ป่วยทั้งหมดเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง ก่อนที่ต่อมาในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 19 ธ.ค.2563 ได้ไลฟ์สดทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเพื่อแจ้งว่า มีการตรวจพบกลุ่มแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ติดเชื้อเพิ่ม 516 ราย จากจำนวน 1,192 ราย คิดเป็นร้อยละ 43 ยังพบผู้ที่ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลอีกจำนวนหนึ่งในหลายจังหวัด ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 548 ราย

 

โดยมากกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ

นับเป็นตัวเลขที่สร้างความตกตะลึงให้กับประชาชนทั่วไป

 

ผู้ว่าฯสมุทรสาครได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดพื้นที่ตลาดกลางกุ้งและหอพักศรีเมือง ห้ามเข้าออกอย่างเด็ดขาดนับตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2563-วันที่ 3 ม.ค. 2564 ปิดสถานศึกษาทุกแห่ง ศาสนสถาน พื้นที่ทำกิจกรรมและสถานที่มีผู้คนจำนวนมาก และขอความร่วมมืองดออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็นในช่วงเวลา 22.00-05.00 น., ห้ามคนต่างด้าวเข้า-ออก จ.สมุทรสาคร โดยเด็ดขาด ส่วนคนไทยยังคงเดินทางได้ตามปกติ

 

“สถานการณ์วันนี้เราอยู่ในขั้นวิกฤตหนักแล้ว หากไม่มีการยกระดับการป้องกันให้เข้มข้นขึ้น อาจจะทำให้เราสู้กับโควิดไม่ชนะ ถ้าอยากให้สมุทรสาครอยู่รอดไม่แพ้แน่นอน วันนี้ต้องยอมเจ็บบ้าง แต่เจ็บวันนี้เพื่อชัยชนะในวันหน้าก็ต้องยอมกันอีกครั้ง” ผู้ว่าฯสมุทรสาครกล่าว

 

 

การติดเชื้อโควิดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ยังคงลุกลามต่อเนื่อง เมื่อ 20 ธ.ค.2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 146 ราย รวมยอด 694 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวในตลาดกลางกุ้ง การแพร่เชื้อที่ไม่หยุดเช่นนี้ มีการพูดถึงในการตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรับมือกับสถานการณ์

 

ในส่วนของผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี พร้อมทีมงาน ยังคงทำงานอย่างหนักอย่างต่อเนื่องนำผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง ต.มหาชัย โดยยอดผู้ป่วยสะสมยังเขยิบขึ้นเป็นลำดับ ข้อมูลเวลา 19.00 น. วันที่ 22 ธ.ค.2563 มีผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 1,092 ราย คิดเป็น 22.89% โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยเพียง 55 คน คิดเป็น 5.04% และแรงงานต่างด้าว 1,037 คน

 

นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ประเมินความเสียหายเฉพาะในพื้นที่ประมาณ 16,000 ล้านบาท

ต่อมา 24 ธ.ค.2563 ผู้ว่าฯสมุทรสาครแจ้งผู้ติดเชื้อโควิด 1,273 คน แต่ถือว่าภาพรวมผู้ติดเชื้อเริ่มดีขึ้นลดลงเหลือ 18.75% พร้อมกับมีการปรับแผน

 

ทราบผลตรวจให้มีความรวดเร็ว เปลี่ยนจากตรวจหาเชื้อจากโพรงจมูก Swab มาเป็นวิธี Rapid Test หรือเจาะเลือดแทน ทราบผลภายใน 30 นาที ใครไม่พบเชื้อก็ไม่ต้องตรวจซ้ำอีก

ขณะที่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ได้ปรับพื้นที่ตลาดกลางกุ้งให้เป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยต่างด้าวที่อาศัยตามหอพักภายในบริเวณนั้นด้วย ควบคุมโรคไม่ให้ออกไปสู่ภายนอก นอกจากนั้น ยังใช้สนามกีฬากลางจังหวัดสมุทรสาคร เป็นที่ตั้ง “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” รองรับผู้ติดเชื้อได้ 400-500 คน ก่อนผุดขึ้นอีกรวม 7 แห่ง รองรับได้ 2,000-3,000 คน

 

ส่วนยอดผู้ติดเชื้อวันที่ 26 ธ.ค.2563 ผู้ป่วยรายใหม่ 87 คน เป็นคนไทย 64 คน ต่างด้าว 23 คน รวมมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,455 ราย ขณะที่ผู้ป่วยระบาดใหม่ของสมุทรสาคร 8 รายแรกที่ติดเชื้อต่างมีอาการดีขึ้นสามารถกลับบ้านได้

 

ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯสมุทรสาครโหมทำงานอย่างหนักลงพื้นที่ต่อเนื่องกลับตรวจพบติดเชื้อโควิด หลังเข้าตรวจเชื้อที่ รพ.สมุทรสาคร เมื่อช่วงเย็น 27 ธ.ค.2563 ต้องเข้ารักษาตัวและกักตัวรอผลตรวจซ้ำภายใน 14 วัน

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาสูงอีกครั้ง เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 3 ม.ค.2563 ผู้ติดเชื้อในสมุทรสาครพุ่งสูง 541 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 2,401 ราย เป็นยอดที่มาจากการค้นหาตรวจเชิงรุก

 

ย่างเข้า 4 ม.ค.2564 “ตลาดทะเลไทย” อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กลับมาเปิดตลาดค้าขายสินค้าสัตว์น้ำทะเลกันอีกครั้ง เริ่มจากแพปลาก่อน พร้อมกับกฎเหล็กที่เข้มข้น ผู้เข้ามาทำการซื้อขายปลาที่แพปลาตลาดทะเลไทยต้องผ่านการตรวจหาเชื้อและผลตรวจต้องแสดงว่า “ไม่พบเชื้อ”

 

 

“จุมพล ฆนวารี” ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า เราต้องร่วมกันควบคุมโควิด-19 ไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตลาดทะเลไทย เพื่อที่การทำมาค้าขายจะได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเศรษฐกิจจะได้ฟื้นตัวอีกครั้งต้องเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็ว

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในสมุทรสาครยังคงสูง แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณที่ดี เพราะการตรวจเชิงรุกก็เสมือนการไล่กำจัดเชื้อโควิดให้จบสิ้นในเร็ววัน แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของสมุทรสาครกำลังโผล่ขึ้นอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง