รีเซต

โรฮิงยา300ชีวิตไร้ทางเลือก อยู่เกาะน้ำทะเลท่วม หรือค่ายลี้ภัยพบโควิด

โรฮิงยา300ชีวิตไร้ทางเลือก อยู่เกาะน้ำทะเลท่วม หรือค่ายลี้ภัยพบโควิด
ข่าวสด
17 พฤษภาคม 2563 ( 23:19 )
502

 

โรฮิงยา300ชีวิตไร้ทางเลือก - วันที่ 17 พ.ค. เอเอฟพี รายงานว่า นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติส่งหนังสือถึงนายเอ.เค.อับดุล โมเมน รมว.การต่างประเทศบังกลาเทศ เพื่อขอให้เคลื่อนย้ายชาวโรฮิงยาจำนวน 308 คน จากเกาะพาชานชาร์ในอ่าวเบงกอล ไปยังค่ายผู้ลี้ภัย เขตค็อกซ์ บาซาร์ เพื่อให้มีสถานะเป็นผู้อพยพที่จะได้รับความช่วยเหลือ

 

เกาะพาชานชาร์ / AFP PHOTO

 

ชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ ทางการบังกลาเทศช่วยชีวิตไว้จากการลอยเคว้งในทะเลอ่าวเบงกอลหลายสัปดาห์ เมื่อต้นเดือนพ.ค. แล้วส่งไปอยู่บนเกาะพาชานชาร์ เพื่อกักตัวป้องกันโรคโควิด-19 โดยไม่ระบุเวลา แต่ขณะนี้เลยสองสัปดาห์แล้ว

 

 

เจ้าหน้าที่บังกลาเทศใช้โทรโข่งประกาศให้ผู้อพยพที่ค่ายในค็อกซ์บาซาร์ เว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโควิด-19 ระบาด เมื่อ 15 พ.ค. (AP Photo/Suzauddin Rubel)

เกาะดังกล่าวมีปัญหาว่ามีพื้นที่ต่ำถูกน้ำทะเลท่วมโดยเฉพาะในฤดูมรสุม เดือนมิ.ย.-ก.ย. ทุกปี ทำให้ยูเอ็นขอให้บังกลาเทศพาไปเข้าค่ายผู้ลี้ภัยบนแผ่นดินใหญ่

 

โรฮิงยาได้รับความช่วยเหลือจากทะเล เมื่อ 2 พ.ค.2563 (AFP photo)

 

แต่ทางการบังกลาเทศกล่าวว่า จะไม่ส่งชาวโรฮิงยาไปค่าย เนื่องจากกลัวว่าอาจติดโรคโควิด-19 เสี่ยงแพร่โรคแก่ผู้อพยพคนอื่นๆ หลังจากบังกลาเทศพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกแล้วที่ค่ายอพยพเขตค็อกบาซาร์ ท่ามกลางความวิตกกังวล เนื่องจากเป็นค่ายที่มีผู้อพยพอาศัยอยู่หนาแน่น

 

 

หากนับรวมกันแต่ละค่ายในเมืองแห่งนี้ ก็เกือบจะ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่อพยพหนีความรุนแรงมาจากเมียนมา ที่กองทัพกวาดล้างกองกำลังอาระกันและทำให้ชาวบ้านหวาดผวาหนีตาย ตั้งแต่ปี 2560

 

 

"เราไม่ต้องการโรฮิงยาอีกแล้ว เราไม่มีสถานที่จะให้อยู่ได้อีก ถ้าประเทศไหนที่ไม่ชอบเกาะพาชานชาร์ ก็ช่วยพาโรฮิงยาไปอยู่ประเทศตัวเองด้วย ไม่ก็ส่งกลับไปประเทศเดิมของพวกเขา ให้พวกเขากลับไปเมียนมา" นายโมเมนกล่าว

 

รัฐมนตรีบังกลาเทศกล่าวด้วยว่า นานาประเทศควรกดดันให้พม่ารับชาวโรฮิงยากลับไปยังรัฐยะไข่ที่เป็นบ้านเกิดของคนเหล่านี้

 

++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : โควิด: ทั่วโลกตายเกิน3แสน ติดเชื้อ4.5ล้านคน ผุดที่ค่ายโรฮิงยาแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง