รีเซต

"ควันไฟ" จากไฟไหม้เป็นอันตรายต่อชีวิต หากเผชิญเหตุต้องทำอย่างไร?

"ควันไฟ" จากไฟไหม้เป็นอันตรายต่อชีวิต หากเผชิญเหตุต้องทำอย่างไร?
TNN ช่อง16
6 สิงหาคม 2565 ( 12:42 )
143
"ควันไฟ" จากไฟไหม้เป็นอันตรายต่อชีวิต หากเผชิญเหตุต้องทำอย่างไร?

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากข่าวไฟไหม้ผับแห่งหนึ่งที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นเหตุเตือนใจให้ประชาชนที่ไปเที่ยวควรระวังและมีความรู้ในการป้องกันตัวให้เพียงพอ สิ่งหนึ่งที่ควรทำเวลาไปสถานที่ใดๆ คือต้องหาทางหนีไฟว่าอยู่บริเวณใด แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่ทำได้อีกเช่น 

ถ้าเกิดไฟไหม้ในอาคารปิด และเราอยู่ในห้องอย่าเปิดประตูเข้าไปเลย ลองเอามืออังดูก่อนว่าประตูร้อนหรือไม่ ซึ่งแสดงว่ามีไฟไหม้หลังประตูนั้น ถ้ารู้สึกร้อนหาทางออกอื่น ถ้าไม่มีทางออกให้ปิดรูรอบๆประตูและทางระบายอากาศที่มีอยู่ ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเปียกมาอุดช่องใต้ประตูเพื่อไม่ให้ควันไฟเข้า ถ้ารู้สึกหายใจลำบาก ให้ก้มตัวต่ำลง เพราะบริเวณด้านล่างจะมีออกซิเจนมากกว่า และอย่าตกใจ พยายามหายใจสั้นๆ เพราะจะเอาก๊าซพิษเข้าไปน้อยกว่า 

นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เปิดเผยว่า ควันจากไฟไหม้ ประกอบด้วยคาร์บอนมอนออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ และอนุภาค (PM หรือเขม่า)  ซึ่งประกอบด้วยสารเคมีต่างๆ ควันไฟมีสารเคมีหลายชนิด เช่น อัลดีไฮด์ ก๊าซที่มีคุณสมบัติเป็นกรด ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ โพลีซัยคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) เบนซีน โทลูอีน สไตรีน โลหะ และไดออกซิน ซึ่งเกิดจาก โฟม สี หรือวัสดุต่างๆ ที่ถูกเผาไหม้ 

ถ้าหายใจควันไฟเป็นจำนวนมาก จะต้องไม่ออกแรงมาก โดยเฉพาะในคนที่ไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เช่นคนที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคหัวใจหรือทางเดินหายใจจะทำให้หัวใจและปอดทำงานมากขึ้น  ส่วนใหญ่ประชาชนที่ติดอยู่ในสถานที่ซึ่งเกิดไฟไหม้จะมีความตื่นตระหนก และพยายามวิ่งหนี โดยเฉพาะถ้าไฟดับก็จะทำให้ยิ่งตื่นตระหนก ทำให้หายใจเร็วขึ้น ทำให้ยิ่งหายใจก๊าซพิษเข้าไปมากขึ้น 

การหายใจควันไฟในระยะแรกจะเกิดผลเฉียบพลัน โดยควันจะระคายเคืองตา จมูก คอ และกลิ่นจะทำให้คลื่นไส้ ปอดทำงานลดลงทำให้ออกซิเจนในร่างกายน้อยลง  มีสารสองชนิดในควันไฟที่มีผลต่อสุขภาพมากคือก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์และอนุภาคขนาดเล็กๆ เช่น PM2.5 หรือ อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งมองด้วยตาไม่เห็น เมื่อหายใจคาร์บอนมอนออกไซด์ร่างกายจะใช้ออกซิเจนไม่ได้ ทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจนได้แก่ปวดศีรษะ ลดความตื่นตัว และทำให้เกิดอาการของหลอดเลือดหัวใจเช่น เจ็บหน้าอก 

นอกจากนี้ อนุภาคยังเข้าไปยังทางเดินหายใจโดยตรง ทำให้เกิดไอ หายใจลำบาก และทำให้คนที่เป็นโรคมีอาการรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไปเที่ยวผับ บาร์ จะสูบบุหรี่ ทำให้สมรรถภาพปอดเลวลงอีก เมื่อหนีออกมาได้ อาการก็จะลดลงแต่จะยังคงอยู่อีก 2-3 วัน คนที่ติดอยู่ภายในและหายใจควันไฟมากๆ ก็จะทำให้ขาดออกซิเจน และอาจหมดสติ ถ้าช่วยออกมาไม่ได้ก็จะถึงแก่กรรมในสถานที่นั้น 

ข้อปฏิบัติของคนที่หนีออกมาจากผับได้คือต้องเฝ้าระวังตนเองว่ามีอาการการหายใจผิดปกติหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจควรมาตรวจร่างกาย 

นอกจากประชาชนแล้วยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากควันไฟอีก ได้แก่พนักงานดับเพลิงและหน่วยกู้ภัย ซึ่งต้องเข้าไปดับเพลิงบ่อยๆ ทำให้หายใจเข้าไปซ้ำๆกัน 

ทั้งนี้ควันไฟที่เห็นก็อันตราย แต่ส่วนที่อันตรายกว่าคือ อนุภาค (PM) ที่มองไม่เห็น การเข้าไปดับเพลิงแม้ในระยะสั้นบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดผลต่อสุขภาพระยะยาวได้ เช่นในพนักงานดับเพลิงอาจจะเกิดมะเร็ง โรคปอด และโรคของหัวใจและหลอดเลือด


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง