รีเซต

หวั่นข้อพิพาทแรงงานขอขึ้น 'งด.-โบนัส' ช่วงสิ้นปี บิ๊กแรงงาน วอนนายจ้าง-ลูกจ้าง เจรจาด้วยเหตุผล

หวั่นข้อพิพาทแรงงานขอขึ้น 'งด.-โบนัส' ช่วงสิ้นปี บิ๊กแรงงาน วอนนายจ้าง-ลูกจ้าง เจรจาด้วยเหตุผล
มติชน
4 ธันวาคม 2563 ( 18:19 )
37
หวั่นข้อพิพาทแรงงานขอขึ้น 'งด.-โบนัส' ช่วงสิ้นปี บิ๊กแรงงาน วอนนายจ้าง-ลูกจ้าง เจรจาด้วยเหตุผล

วันที่ 4 ธันวาคม 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการบริการโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทำให้ปริมาณยอดสั่งซื้อและการใช้บริการลดลง สถานประกอบกิจการส่วนใหญ่ร้อยละ 90 หรือมากกว่านั้นสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงปลายปีของทุกปีจะมีการเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน เงินโบนัสและสวัสดิการต่างๆ หากไม่เป็นที่พอใจต่อทั้งสองฝ่ายก็อาจก่อให้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานได้

 

จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจับตาเฝ้าระวังปัญหาข้อพิพาทแรงงานดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบกิจการประเภทผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบยานยนต์และเครื่องยนต์ สถานประกอบกิจการประเภทโรงแรมและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังต้อง เฝ้าระวังในเขตพื้นที่ ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี เนื่องจากพบว่ามีข้อเรียกร้องมากตามลำดับในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หากพบว่า มีสัญญาณที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทแรงงานให้เร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจ และช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติในพื้นที่โดยเร็วที่สุด

 

ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้อพิพาทแรงงาน ขอฝากเตือนนายจ้าง ลูกจ้างให้เจรจากันด้วยเหตุผล ยึดหลักแรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน นายจ้างควรชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผลประกอบกิจการที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างตรงไปตรงมาโดยยึดหลักสุจริตใจ และขอให้ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

 

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 1 ธันวาคม 2563 พบว่า มีการยื่นข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทแรงงาน และข้อขัดแย้ง ในเรื่องของเงินโบนัส การขึ้นเงินเดือนและสวัสดิการด้านต่างๆ ตามลำดับ โดยมีการยื่นข้อเรียกร้อง 192 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 134,964 คน ยุติแล้ว 35 แห่ง จังหวัดระยองยื่นข้อเรียกร้องมากที่สุดถึง 58 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 40,842 คน รองลงมาคือจังหวัดชลบุรี 53 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 27,303 คน มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น 20 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 9,722 คน ยุติแล้ว 10 แห่ง

 

และเมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานมากที่สุดคือจังหวัดระยอง รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และชลบุรี มีลูกจ้างเกี่ยวข้อง 2,825 คน 1,592 คน และ 1,715 คน ตามลำดับ สำหรับข้อขัดแย้งมีจำนวน 13 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 10,374 คน ยุติแล้ว 12 แห่ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปทุมธานี และสระบุรี ทั้งนี้ มีการจดทะเบียนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งหมด 45 แห่ง ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินจำนวน 2,481.35 ล้านบาท