รีเซต

"หมอโอภาส" ชี้โควิด-19 มี 3 สายพันธุ์ที่น่าห่วงทั้งหลบวัคซีน-ติดเชื้อซ้ำ

"หมอโอภาส" ชี้โควิด-19 มี 3 สายพันธุ์ที่น่าห่วงทั้งหลบวัคซีน-ติดเชื้อซ้ำ
มติชน
22 มกราคม 2564 ( 14:23 )
105
"หมอโอภาส" ชี้โควิด-19 มี 3 สายพันธุ์ที่น่าห่วงทั้งหลบวัคซีน-ติดเชื้อซ้ำ

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 64 ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว @Opass Putcharoen เกี่ยวกับสายพันธุ์ โควิด-19 เรื่อง “Update เกี่ยวกับสายพันธุ์ของไวรัสโรคโควิด-19” โดยระบุว่า สายพันธุ์ของไวรัสที่น่าติดตามมี 3 สายพันธุ์ หลายประเทศในโลกเริ่มติดตามเฝ้าระวังการระบาดของสายพันธุ์ที่อาจจะมีการระบาดได้ง่ายขึ้น การติดเชื้อซ้ำได้และคุณสมบัติของบางสายพันธุ์ที่อาจจะหลบการป้องกันของวัคซีน

 

การกลายพันธุ์เป็นคุณสมบัติของไวรัสเอง ในภาวะปกติของไวรัสโรคโควิด-19 จะมีการกลายพันธุ์สองตำแหน่ง สารพันธุกรรมในหนึ่งเดือนซึ่งไม่น่าจะทำให้มีผลต่อโครงสร้างหรือคุณสมบัติไวรัสอย่างรวดเร็ว แต่ในบางครั้งเวลาที่อยู่ในมนุษย์บางคนหรือในสัตว์บางชนิด ไวรัสอาจมีการกลายพันธุ์ที่รวดเร็วและมีการเปลี่ยนคุณสมบัติที่หลบวัคซีน สายพันธุ์ที่พบในอังกฤษหรือ B.1.1.7 มีคุณสมบัติที่ติดต่อได้ง่ายขึ้น 50-70% คาดว่าสายพันธุ์นี้น่าจะเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในอเมริกาหลังจากเดือนมีนาคมปีนี้ สายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือ B.1.3.52 (20H/501Y.V2)มีคุณสมบัติคือแพร่กระจายได้ง่ายและอาจจะหลบหลีกแอนติบอดีที่สร้างจากวัคซีน สายพันธุ์ที่พบในบราซิลหรือ P.1 (20J/501Y.V3) มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งบนด้านนอก ทำให้อาจจะหลบการจับของแอนติบอดีจากวัคซีนได้คล้ายกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้แต่ยังมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมอีกหลายตำแหน่ง

 

มีคำถามเกี่ยวกับวัคซีนโควิดจะไม่ได้ผลหรือไม่ถ้าไวรัสกลายพันธุ์ คำตอบคือยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนเพราะข้อมูลที่ได้ มาจากการศึกษาทางโครงสร้างไวรัสที่กลายพันธุ์และการตอบสนองของแอนติบอดีในห้องทดลอง จึงยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันในคน แม้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนอาจจะไม่สมบูรณ์เต็มร้อย แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่ายังคงป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันโรคที่รุนแรงได้ และการออกแบบวัคซีนเองก็มีการใช้ข้อมูลของการกลายพันธุ์ของไวรัสมาประกอบด้วย วัคซีนรุ่นถัดไปก็ต้องมีการติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสอย่างต่อเนื่อง เพื่อพํฒนาวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

วิธีที่ป้องกันการเกิดการกลายพันธุ์ที่ดีคือพยายามไม่ให้มีการติดต่อในคนจากรุ่นไปรุ่นหลายๆทอด หรือจากคนไปสัตว์และเข้ามาที่คนอีกครั้ง จนอาจจะทำให้ไวรัสมีการกลายพันธุ์ ดังนั้นตัดวงจรของการระบาดโดยการใส่หน้ากาก การล้างมือ รักษาระยะห่างยังสำคัญที่สุด แม้ว่ามีวัคซีนใช้อยู่ก็ตาม สำหรับในประเทศไทย เท่าที่ตรวจสายพันธุ์ของไวรัสจากคนไข้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ B1.36.16 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเป็นหลักขณะนี้และเป็นไวรัสสายพนธุ์เดียวกับพม่า ห้องปฎิบัติการศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โรงพยาบาลจุฬาพบสายพันธุ์ B.1.1.7 ในคนไข้ที่เดินทางมาจากอังกฤษ 1 รายซึ่งไม่มีอาการ ตอนนี้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่เป็น ASQ ขณะนี้ข้อมูลของสายพันธุ์ B 1.1.7 น่าจะมีทั้งหมด 6 ราย ที่ดักไว้ได้ใน ASQ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง