รีเซต

อุตฯ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกพุ่ง 9 ล้านล้านบ. ดีพร้อมชวนส่งผลงานประกวดถึง 30 เม.ย.นี้

อุตฯ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกพุ่ง 9 ล้านล้านบ. ดีพร้อมชวนส่งผลงานประกวดถึง 30 เม.ย.นี้
มติชน
11 มีนาคม 2565 ( 10:41 )
59
อุตฯ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกพุ่ง 9 ล้านล้านบ. ดีพร้อมชวนส่งผลงานประกวดถึง 30 เม.ย.นี้

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า จากปัจจัยเสี่ยงโควิด-19 และความตึงเครียดที่เกิดทางซีกโลกตะวันตก เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทย ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ทั้งในแง่ของการปรับกระบวนการผลิต พัฒนาระบบการขนส่ง และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ หรือ แพกเกจจิ้ง โดยปัจจุบันการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จะต้องคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก โฟม และอื่น ๆ ที่ย่อยสลายได้ยาก ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน ภัยพิบัติและมลภาวะที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้ทุกคนเกิดความตระหนักที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การออกแบบหรือเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ทำให้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ตามเทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามูลค่าของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์โลกมีมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 33 ล้านล้านบาท และอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปี (2017-2023) ที่ร้อยละ 4.3 โดยมูลค่าของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ปี 2021 มีมูลค่าสูงถึง 9 ล้านล้านบาท และอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 6.2 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามเพื่อช่วงชิงมูลค่าตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้

 

ขณะที่การเติบโตของบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกในประเทศไทยมีมูลค่าอุตสาหกรรมรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้เร่งสนับสนุนผ่านนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้โดย นายสุริยะ จึงเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม (DIPDOM) เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ในกระบวนการผลิต การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตบรรจุภัณฑ์คุณภาพ ภายใต้ นโยบาย “DIPROM CARE: ดีพร้อม แคร์” ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ตอบโจทย์ความต้องการในทุกมิติและสอดรับกับบริบททั้งในชิงเศรษฐกิจและสังคมยุค New Normal หรือเศรษฐกิจวิถีใหม่ ผ่านการปฏิรูปกลไก (Reformation) การดำเนินงานในภาพรวมของทุกโครงการ กิจรรม และการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคให้มีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจวิถีใหม่ ตลอดจนเพิ่มบทบาทของศูนย์ภาคฯ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างครบวงจร

 

ขณะเดียวกัน ดีพร้อมยังให้การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานผ่านศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center :Thai-IDC) ที่มีเครือข่ายนักออกแบบกว่า 1,700 ราย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันก้าวสู่ระดับสากล โดยมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศเป็นสะพานเชื่อมผู้ประกอบการให้เข้าถึงการส่งเสริมพัฒนาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า เทรนด์การพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกในปัจจุบัน คือ ซุปเปอร์แพคเกจจิ้ง (Supper Packaging) คือ บรรจุภัณฑ์ที่ยังคงคุณค่าตามหน้าที่เดิม ได้แก่ การเพิ่มความคงทนให้กับสินค้า ความสะดวกในการขนส่ง สามารถสื่อสารอัตลักษณ์ของสินค้าเพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภค และหน้าที่ใหม่ของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสามารถใช้ซ้ำ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือต้องสามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในแง่ของตัววัสดุเองและกระบวนการผลิต และเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และความตื่นตัวของภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ดีพร้อม จึงได้จัดกิจกรรมการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย (ThaiStar Packaging Awards 2021) เวทีส่งออกนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยเพื่อเข้าแข่งขันในระดับโลก ภายใต้หัวข้อ“วิถีใหม่ที่ยั่งยืน” (Sustainability for Next Normal) ซึ่งเป็นออกเป็น 3 ประเภทการแข่งขัน คือ ประเภทนักเรียนนักศึกษา ประเภทผู้ประกอบการที่มีสินค้าจัดจำหน่าย และประเภทประชาชนทั่วไป โดยส่งผลงานบรรจุภัณฑ์เข้าร่วมการประกวดตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 ได้ที่ https://thaistar.propakasia.com/register/index

 

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 49 ปีที่ผ่านมาการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทยเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาวงการบรรจุภัณฑ์ไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล ก่อเกิดการพัฒนาแบบบรรจุภัณฑ์ จำนวนมากกว่า 7,500 รูปแบบที่สามารถต่อยอดสู่การจำหน่ายได้จริง เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐานสินค้าไทย และยกระดับขีดความสามารถต่อการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ซึ่งในช่วง 12 ปีที่ผ่านมามีผลงานจากนักออกแบบของไทยที่ได้รับรางวัลเป็นที่ประจักษ์ในสายตาประชาคมโลกมากว่า 50 รางวัล ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง