Open Data “ข้อมูลเปิด” เปิดทางสู่การสร้างนวัตกรรม
ในช่วงหลัง เราอาจได้ยินคำว่า Open Data หรือข้อมูลเปิด โดยเฉพาะที่มาจากภาครัฐที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งที่จริงแล้ว Open Data ที่เป็นแนวคิดพื้นฐานนอกเหนือจากการส่งเสริมความโปร่งใส ตรวจสอบที่มาที่ไปได้แล้วนั้น Open Data ยังมีอะไรมากกว่าการเป็นข้อมูลที่ทำให้เรามองเห็นการทำงาน หรือการใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนของภาครัฐ Tech By True Digital ครั้งนี้จะพาไปทำความรู้จักการใช้ Open Data ในความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่อาจเป็นทรัพยากรอันสำคัญของการนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาให้กับชีวิตผู้คนได้เป็นอย่างดี
Open Data คืออะไร
Open Data หรือแปลตรงตัวว่า “ข้อมูลเปิด” คือ ข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเพื่อนำไปใช้ได้โดยอิสระ ตั้งแต่การนำไปใช้โดยตรง การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปเผยแพร่ได้โดยใครก็ตาม โดยเป็นข้อมูลในลักษณะ Open License ที่เปิดให้นำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่คิดมูลค่าและไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของข้อมูล โดยข้อมูลเปิดต้องอยู่ในรูปแบบ Machine-readable Data หรือรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถนำไปประมวลผลได้
ข้อมูลเปิดนั้นมีทั้งจากภาครัฐและเอกชน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นข้อมูลจากภาครัฐ ซึ่งมีปริมาณมากจากการที่รัฐจัดเก็บข้อมูลจากประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการประชาชนในด้านต่าง ๆ ข้อมูลจากภาครัฐจึงเป็นแหล่งที่มาสำคัญของข้อมูลเปิด โดยในประเทศไทย ข้อมูลเปิดจากภาครัฐเผยแพร่ตามกำหนด พรบ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล 2562) ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ และต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถนำไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ รวมทั้งกำหนดให้มีศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐด้วย
ตัวอย่างข้อมูลเปิดครอบคลุมตั้งแต่ข้อมูลการศึกษา เศรษฐกิจ การเงิน อุตสาหกรรม สาธารณสุข สถิติจากทางการ สังคมและสวัสดิการ และงบประมาณและการใช้จ่ายของภาครัฐ อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาส จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ประจำวัน ข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอย ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นต้น
ชุดข้อมูลเปิดทางด้านเศรษฐกิจจาก สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
ที่มา: https://www.facebook.com/DGAThailand/
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปและภาคเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเปิดจากภาครัฐได้ที่ เว็บไซต์ Open Government Data of Thailand ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ Open Government Data of Bangkok เว็บไซต์ข้อมูลเปิดของกรุงเทพมหานครฯ นอกจากนี้ ยังมี Open-D ที่พัฒนาโดย เนคเทค เป็นแพลตฟอร์มเพื่อรวบรวมข้อมูลเปิดจากทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งเหมาะสำหรับ Application Developer และ Data Scientist ในการเข้ามาค้นหาข้อมูลเปิดเพื่อนำไปพัฒนาโปรแกรมและงานวิจัยข้อมูล เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลเปิดในรูปแบบ Data API และ Data Visualization ที่ยืดหยุ่นในการใช้งานกว่าข้อมูลเปิดแบบทั่วไป
Open Government Data of Thailand แพลตฟอร์มศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ
ที่มา: https://data.go.th/
Open Data สู่การสร้างนวัตกรรม
ข้อมูลเปิด โดยเฉพาะข้อมูลที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บและถูกเผยแพร่ ไม่เพียงสร้างความโปร่งใส แต่ยังผลักดันการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนและการมีส่วนร่วมของสังคมได้อีกด้วย เพราะข้อมูลเปิดนั้นสามารถนำไปใช้ทำการวิจัยค้นคว้าเชิงข้อมูล เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางธุรกิจ และเป็นวัตถุดิบสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐตามนโยบายที่ประกาศไว้ต่อประชาชนอีกด้วย
ข้อมูลเปิดมีหมวดหมู่ที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้าถึงข้อมูลจะหยิบไปใช้ในรูปแบบใดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้คนและสังคม เราจึงได้เห็นการนำข้อมูลเปิดไปใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและนวัตกรรมจากทั่วโลก อาทิ
RailYatri
ผู้ให้บริการโซลูชันแบบครบวงจรของการเดินทางโดยรถไฟ Indial Railways จากประเทศอินเดีย แม้ว่าผู้ใช้บริการรถไฟอินเดียมีมากถึง 23.9 ล้านคนต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 80% ของการเดินทางของชาวอินเดีย แต่บ่อยครั้งที่การเดินทางด้วยรถไฟนั้นมักเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นตารางการเดินรถไฟ การจองรถไฟ หรือการล่าช้าของเที่ยวรถที่แม้ทางการรถไฟเองจะมีข้อมูลให้ผู้ใช้บริการ แต่ข้อมูลที่มีกลับไม่เพียงพอและอยู่อย่างกระจัดกระจาย
RailYatri นำข้อมูลเปิดที่ได้จากภาครัฐเกี่ยวกับตารางการเดินรถไฟสาธารณะและเส้นทางเดินรถไฟท้องถิ่น มาใช้เพื่อทำให้การเดินทางด้วยรถไฟง่ายขึ้น ด้วยการรวมศูนย์ข้อมูลบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ให้บริการข้อมูลแบบครบวงจรของการเดินทางด้วยรถไฟของอินเดีย ตั้งแต่ตารางการเดินรถ การจองตั๋ว จำนวนที่นั่งว่าง เช็คสถานะการเดินทาง เช็คสถานะเที่ยวรถไฟแบบเรียลไทม์ แจ้งเตือนเมื่อรถไฟเที่ยวที่จองมาถึง ทั้งยังให้ข้อมูลเชิงลึกด้วยการนำสถิติการเดินรถไฟที่ล่าช้ามาวิเคราะห์ เพื่อการประเมินความน่าจะเป็นที่รถไฟจะมาถึงตรงเวลา หรือกระทั่งการประเมินเวลาวิ่งของรถไฟระหว่างสองสถานีเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้โดยสารใช้ตัดสินใจให้ไม่พลาดเที่ยวรถไฟ
RailYatri ใช้ข้อมูลเปิดที่ได้จากภาครัฐ ทำให้การเดินทางด้วยรถไฟในอินเดียง่ายขึ้น ด้วยการเป็นที่ปรึกษาการเดินทางด้วยรถไฟเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถตัดสินใจด้วยข้อมูลในมือ
แอปพลิเคชัน RailYatri
ที่มา: http://www.railyatri.in/
Aidin
แพลตฟอร์มจากสหรัฐอเมริกา ที่เสนอทางเลือกการดูแลรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วยระยะพักฟื้นจากภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการศูนย์ดูแลรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล โดยถือกำเนิดจากการที่ผู้ป่วยระยะพักฟื้นที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการศูนย์ดูแลนั้น มักมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอต่อการเลือกผู้ให้บริการ โดยบางครั้งอาจเลือกจากการแนะนำของคนรู้จัก การเข้าไปเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตที่มักถูกจูงใจด้วยโฆษณา และในหลายครั้งที่ลงเอยด้วยการเลือกผู้ให้บริการใกล้บ้าน ซึ่งในท้ายที่สุดมักจะพบว่าคุณภาพการให้บริการไม่ตรงกับความคาดหวังและอาการเจ็บป่วยของตน
Aidin ใช้ข้อมูลเปิดหลายชุดจากกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา ได้แก่ ข้อมูลการเปรียบเทียบผู้ให้บริการดูแลรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล ข้อมูลการเปรียบเทียบการบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน ข้อมูลการเข้าถึงผู้ป่วยและการบูรณาการในโรงพยาบาล เพื่อสร้างชุดข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกผู้ให้บริการ
Aidin นำเสนอทางเลือกการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละราย โดยทำรายงานเสนอผู้ป่วยที่เปรียบเทียบผู้ให้บริการที่มีประวัติการให้บริการเหมาะสมและตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพและอาการเจ็บป่วยของโรคและเงื่อนไขการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยรายนั้น ๆ โดยเชื่อมต่อข้อมูลการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยเข้ากับข้อมูลผู้ให้บริการ รวมทั้งยังเชื่อมต่อผู้ให้บริการที่ถูกเลือกจากผู้ป่วยเข้ากับเครือข่ายของโรงพยาบาลที่ทำการรักษาเพื่อให้ได้ข้อมูลการรักษาและส่งต่อการรักษาครบถ้วน และเพื่อให้เจ้าหน้าที่บริการสังคมและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่รับผิดชอบผู้ป่วยรายนั้นได้ติดตามข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ ลดการตกหล่นของข้อมูลการรักษาและบริการที่ผู้ป่วยแต่ละรายพึงได้รับจากสวัสดิการของรัฐ
การนำเสนอทางเลือกที่เหมาะสมของ Aidin ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยได้มีข้อมูลทางเลือกที่เพียงพอ ได้รับการรักษาตามความเหมาะสมกับอาการเจ็บป่วย แต่ยังช่วยให้ผู้ให้บริการแต่ละรายในตลาดได้เพิ่มคุณภาพในการบริการผู้ป่วยให้มากขึ้น ตรงกับความคาดหวังของผู้ใช้บริการแทนการโฆษณาเกินจริงอีกด้วย
แพลตฟอร์มรวมข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลการรักษา การส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรักษาต่อเนื่อง ของ Aidin
ที่มา: https://www.myaidin.com/
M-Farm
แอปพลิเคชันที่ช่วยให้เกษตรกรในเคนยาได้รับข้อมูลราคาพืชผลแบบแม่นยำและเรียลไทม์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรขายพืชผลในราคายุติธรรม เกิดจากประสบการณ์จริงที่ว่าการขาดข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับราคาพืชผลมักส่งผลให้เกษตรกรในเคนยาขายพืชผลตามราคาที่พ่อค้าคนกลางและผู้ค้ารายใหญ่เสนอมา และมักถูกกดราคา M-Farm จึงแก้ปัญหาด้วยการส่งข้อมูลราคาพืชผลให้กับเกษตรกร ด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน โดยใช้การส่งข้อความผ่านมือถือให้กับเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงราคาตลาดสำหรับพืชผลของตนได้
M-Farm ซึ่งมียอดผู้ใช้งานประมาณ 3,000 รายบนเว็บไซต์และ 6,000 รายบนแอปพลิเคชัน อ้างอิงข้อมูลจากชุดข้อมูลเปิดจาก Famine Early Warning System (FEWSNet) หรือเครือข่ายเตือนภัยและวิเคราะห์วิกฤตความมั่นคงทางอาหารโลก ของหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) โดยเทียบชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยสภาพภูมิอากาศเพื่อการทำการเกษตร ทำให้ M-Farm สามารถวิเคราะห์ข้อมูลราคาพืชผลย้อนหลัง 10 ปี แนวโน้มความผันผวนของราคาพืชผล ราคาตลาด ณ ปัจจุบัน และประมาณการราคาพืชผลแบบขายส่งทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้เกษตรกรทั่วประเทศเข้าถึงข้อมูลได้ทันที ช่วยให้เกษตรได้ขายพืชผลในราคายุติธรรม ลดอิทธิพลของพ่อค้าคนกลางในการกำหนดราคาสินค้าในตลาดและช่วยเพิ่มยอดขายใหักับเกษตรกรได้เท่าตัว
บริการแจ้งราคาพืชผลเกษตรผ่าน SMS สำหรับเกษตรกรเคนยา จาก M-Farm
ที่มา: https://www.facebook.com/MFarmLtd/
ภาษีไปไหน?
เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน “ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ” หรือ “ภาษีไปไหน?” พัฒนาโดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ของไทย ที่หยิบเอาชุดข้อมูลเปิดรายได้การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลทั้งหมดจากกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง รวมถึงภาพรวมรายได้ในส่วนของท้องถิ่น จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มานำเสนอเป็นข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในรูปแบบ Data Visualization ที่แสดงภาพรวมสถิติงบประมาณต่าง ๆ ในรูปแบบ Dashboard และการจัดอันดับ Ranking ข้อมูลการใช้งบประมาณในรูปแบบแผนที่ประเทศไทย และแสดงรายละเอียดแต่ละจังหวัดเพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น
“ภาษีไปไหน?” ถือเป็นตัวอย่างของการนำข้อมูลเปิดไปใช้งานในการสื่อสารกับประชาชน ที่แม้อาจไม่ใช่นวัตกรรมที่แก้ปัญหาให้กับชีวิตโดยตรง แต่ถือเป็นการให้ความสำคัญกับการนำเสนอชุดข้อมูลเปิดจำนวนมากที่เข้าถึงได้ก็จริง แต่นำมาจัดการให้เป็นชุดข้อมูลแบบเข้าใจง่าย ให้ประชาชนไม่ต้องมัวสืบค้นข้อมูลเปิดจำนวนมหาศาล แสดงความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้อีกด้วย
ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ หรือ ภาษีไปไหน? จากสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
ที่มา:https://govspending.data.go.th/
แม้ว่า Open Data จะมีศักยภาพในการเป็นแหล่งที่มาของนวัตกรรม ดังที่ได้เห็นจากตัวอย่าง หากแต่การอยู่โดดเดี่ยวลำพังอาจไม่ช่วยให้นำไปสู่การสร้างสรรค์ได้ เพราะเพียงการเปิดเผยข้อมูลจำนวนมหาศาลจากภาครัฐ จำเป็นต้องมีศูนย์รวมข้อมูลที่เป็นระบบ อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล เชิญชวนให้ประชาชนรู้จักและเข้าถึงข้อมูลเปิดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และนอกจากนี้ การแชร์ข้อมูลเปิดจากภาคเอกชนเองก็จะยิ่งช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมจากข้อมูลเปิดอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สมกับที่เป็นข้อมูลเปิด ที่เปิดเผยความโปร่งใส เปิดทาง และเปิดโอกาสให้กับประโยชน์ที่ตามมาจากการนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้คน
----------------------
อ้างอิง:
http://open-d.openservice.in.th
https://opendataimpactmap.org/usecases