รีเซต

ยกระดับคุมเข้มโควิดในโรงงาน จี้ผู้ประกอบการทำแบบประเมินภายใน 15 มิ.ย.นี้ ก่อนสุ่มตรวจ

ยกระดับคุมเข้มโควิดในโรงงาน จี้ผู้ประกอบการทำแบบประเมินภายใน 15 มิ.ย.นี้ ก่อนสุ่มตรวจ
มติชน
6 มิถุนายน 2564 ( 14:13 )
43
ยกระดับคุมเข้มโควิดในโรงงาน จี้ผู้ประกอบการทำแบบประเมินภายใน 15 มิ.ย.นี้ ก่อนสุ่มตรวจ
 

วันนี้ (6 มิ.ย.64) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมอนามัย ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และกระทรวงมหาดไทย ดูแลเรื่องการป้องกันความเสี่ยงร่วม โดยสื่อสารให้สถานประกอบกิจการประเภทโรงงาน ปฏิบัติตามแนวทางทางการป้องกันโรค Good Factory practice (GFP) ด้วยการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus และเมื่อประเมินแล้วจะส่งข้อมูลกลับมาบนฐานข้อมูลออนไลน์ หากโรงงานไหนประเมินไม่ผ่านจะต้องมีการปรับปรุง

 

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีการประเมินแบบ On site โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดจะเข้าไปสุ่มประเมิน กำหนดให้ทุกจังหวัดต้องมีการประเมินโรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 10-20 และขอให้โรงงานขนาดใหญ่ประเมินตนเองให้เสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ แต่หากมีมาตรการใดที่ไม่ผ่าน ต้องปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่อที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานแรงงานจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ดำเนินการสุ่มตรวจ โดยกรมอนามัยจะทำหนังสือส่งถึงผู้ประกอบการให้ทำประเมินตามความเป็นจริง

 

 

อธิบดีกรมอนมัย กล่าวว่า สำหรับการยกระดับคุมเข้มการระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงาน กำหนด 4 มาตรการหลัก คือ

 

 

1.มาตรการด้านการป้องกันโรค มีการคัดกรองวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการ ลดความแออัด การเว้นระยะห่าง ติดตามข้อมูลของผู้ปฏิบัติงาน จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการ รวมถึงการให้ผู้ที่อยู่ในโรงงานปฏิบัติตามมาตรการ

 

 

2.มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การจัดการขยะมูลฝอย จัดให้มีการระบายอากาศที่เหมาะสม หอพักสำหรับผู้ปฏิบัติงานต้องสะอาด ไม่แออัด และหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม หากมีรถรับ-ส่ง ต้องมีการทำความสะอาด สำหรับการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในโรงอาหาร โดยกำหนดเส้นทางการเดิน จุดนั่ง เดิน ยืน หรือที่พักรอให้ชัดเจน แยกสำรับอาหาร แล้วไม่ใช้แก้วน้ำ จาน ชาม ร่วมกัน

 

 

3.มาตรการเสริมสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ ต้องมีกลไกการจัดการและแผน เมื่อเกิดเหตุกรณีพบพนักงานติดเชื้อต้องมีการซักซ้อมแผน หากมีแรงงานต่างด้าวต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ต้องเข้มเรื่องการคัดกรองผู้ปฏิบัติงานและผู้มาติดต่อ โดยใช้ระบบประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ก่อนเข้าปฏิบัติงาน เพื่อประเมินความเสี่ยงรายบุคคล กรณีมีรถรับ-ส่ง ให้พนักงานสวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่างวัดอุณหภูมิก่อนขึ้นรถ และเช็ดฆ่าเชื้อรถหลังใช้งาน ทำความสะอาดฆ่าเชื้อในพื้นที่ส่วนกลาง และจุดสัมผัสร่วมให้เปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติ เช่น ประตู ก๊อกน้ำ เป็นต้น

 

 

4.มาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อ ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สั่งการและคำแนะนำ หลังจากนั้นให้พิจารณาปิดพื้นที่หรือสถานที่และทำความสะอาดพื้นผิวทันที ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ส่งตรวจเชื้อและกักตนเองทันที ส่วนผู้เสี่ยงต่ำให้มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ถ้ามีผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 10 ให้ใช้บับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) เพื่อให้กระบวนการผลิตสามารถดำเนินการต่อไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง