รีเซต

โลกกำลังเผชิญภาวะ ‘ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา’

โลกกำลังเผชิญภาวะ ‘ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา’
TNN World
20 กรกฎาคม 2564 ( 09:20 )
66
โลกกำลังเผชิญภาวะ ‘ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา’
Editor’s Pick: โลกกำลังเผชิญภาวะ ‘ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา’ ต้องปล่อยให้เกิดภัยพิบัติ คร่าชีวิตผู้คน ถึงตระหนักว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นของจริง กรณีอุทกภัยในเยอรมนี และอีกหลายชาติยุโรป เป็นตัวอย่างที่ดีของสำนวนนี้
 
 
 
ชาวเยอรมนีสังเวยน้ำท่วมกว่า 160 ศพ
 
 
ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันขนาดใหญ่ในเยอรมนีจนคร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 160 คน ขณะที่บรรดานักการเองเยอรมันยอมรับ เตรียมรับมือสภาพอากาศรุนแรงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงช้าไป
 
 
สำนักข่าว BBC รายงานว่า หลายเมืองของเยอรมนีเริ่มปฏิบัติการเก็บกวาดเมืองแล้ว หลังหลายชาติในยุโรปเผชิญน้ำท่วมใหญ่จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 160 คนในพื้นที่ทางตะวันตกของเยอรมนีและ 31 คนในเบลเยี่ยม
 
 
แคว้นนอร์ธ ไรน์-เวสต์ฟาเลีย, ไรน์แลนด์-พาลาทิเนท และซาร์แลนด์ คือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดของเยอรมนี ขณะที่ฝนยังคงตกลงมาอย่างหนักและพื้นที่เสียหายในช่วงเวลานี้เปลี่ยนไปอยู่ที่บางส่วนของออสเตรียและทางตอนใต้ของเยอรมนี
 
 
 
กล่าวโทษโลกร้อน ที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ
 
 
บรรดาผู้นำยุโรปโทษว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คือสาเหตุของน้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้กระทบแค่เยอรมนีและเบลเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงสวิสเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ด้วย
 
 
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โลกที่ร้อนขึ้นทำให้เกิดฝนตกหนักมากขึ้น และตอนนี้นับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเริ่มต้น โลกร้อนขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว
 
 
นางแมร์เคิลกล่าวขณะตรวจสอบความเสียหายที่เมืองชุลด์ซึ่งเสียหายหมดทั้งเมือง ว่า โลกจะต้องดำเนินการให้เร็วขึ้นในการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เธอระบุว่า รู้สึกตกใจมากชนิดที่ว่าไม่มีคำในภาษเยอรมันคำใดที่สามารถอธิบายความเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นนี้ได้
 
 
 
เยอรมนีจ่อออกกฎหมายเร่งแก้วิกฤตโลกร้อน
 
 
มาร์คุส โซเดอร์ มุขมนตรีของแคว้นบาวาเรียกกล่าวว่า เยอรมนีต้องเร่งต่อสู้กับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้แล้ว นี่คือสัญญาณเตือนก่อนที่จะสายเกินแก้ เขาจะผลักดันกฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีการเตรียมการไว้แล้วก่อนที่จะเกิดน้ำท่วม
 
 
สเวนจา ชูลซ์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของเยอรมนีกล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้เป็นผลของการผลัดวันประกันพรุ่ง และความลังเลที่จะต่อสู้กับสภาวะอากาศเปลี่ยนนแปลง โดยเธอให้ความมั่นว่า หากพรรค SDP ของเธอ ชนะการเลือกตั้งในเดือนกันยายนนี้ พรรคของเธอจะออกนโยบายที่แรงขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ จะขยายแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่นโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ตลอดจนจะจำกัดความเร็วในการขับขี่บนทางหลวงของเยอรมนีด้วย เพราะจะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงในทันทีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร
 
 
 
ระบบเตือนภัยที่ป้องกันชีวิตคนไม่ได้
 
 
ขณะเดียวกันความเสียหายที่เยอรมนี ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยของประเทศด้วยเช่นกัน
 
 
สำนักข่าว AFP รายงานอ้างคำกล่าวของ ฮันนาห์ โคลก ศาสตราจารย์ด้านอุทกวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง กล่าวว่า เราไม่ควรต้องมาเศร้าโศกกับยอดผู้เสียชีวิตขนาดนี้ในปี 2021 ซึ่งเกิดรอยร้าวในระบบการเตือนภัยระหว่างทาง ทำให้ข้อความในการอพยพหรือหาที่ปลอดภัยนั้นไปไม่ถึงประชาชน
 
 
ทั้งนี้ ภายใต้ระบบรัฐบาลกลางของเยอรมนี 16 รัฐนั้นเป็นผู้จัดทำระบบเตือนภัยน้ำท่วม และประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ป้องกันฝ่ายพลเรือน รวมถึงหน่วยดับเพลิง
 
 
ทางการท้องถิ่นหลายแห่งใช้วิธการประกาศผ่านไซเรน หรือลำโพง ตลอดจนผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ ในการเตือนประชาชนถึงภัยอันตรายหรือออกคำสั่งอพยพ นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนที่แจ้งข่าวเรื่องสภาพอากาศที่รุนแรงในบริเวณของตน
 
 
ด้านหนังสือพิมพ์บิลด์ของเยอรมนี ได้ประณามความล้มเหลวในการรีบดำเนินการแต่เนิ่น ๆ ของของรัฐไรน์แลนด์-พาลาทิเนทและนอร์ธ-ไรน์ เวลส์ฟาเลีย เพราะไม่มีเสียงไซเรนเตือนภัย และมีการออกคำเตือนน้อยมาก จนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในการปกป้องพลเรือน ซึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่สุดของรัฐต่างๆ
 
 
ขณะที่นายกสมาคมเมืองและเทศบาลของเยอรมนีได้ออกมาเรียกร้องให้มีการยกเครื่องระบบการเตือนภัยเนิ่น ๆ เพราะประชาชนเข้าใจว่าฝนแค่ตกหนัก และไม่มีการสื่อสารชัดเจนว่าจะเกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่เช่นนี้
 
 
รัฐมนตรีกระทรวงวิจัยแห่งเยอรมนีกล่าวว่า เยอรมนีต้องเตรียมตัวกับภัยธรรมชาติให้ดีกว่านี้ เพราะจะเกิดบ่อยขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง บทเรียนของโศกนาฏกรรมที่เกิดในเยอรมนีตะวันตกนั้น ทำให้เราต้องพัฒนาการวิจัยเรื่องสภาพอากาศที่รุนแรงในช่วงเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง